Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ประมวลกิจกรรมทั่วไทย จุดเทียนเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง

$
0
0

ภาพและข่าวกิจกรรมจุดเทียนหลายพื้นที่ เชียงใหม่-พิษณุโลก-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุบลราชธานี-นครศรีธรรมราช เรียกร้องการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองแบบสันติวิธี ปฎิเสธความรุนแรง สนับสนุนการใช้สิทธิเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและคัดค้านรัฐประหาร

เชียงใหม่

10 ม.ค. 2557 - ที่ข่วงประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ศิลปินและนักกิจกรรมซึ่งเป็นสมาชิกเพจ "หมู่เฮาคนครัวท้องกิ่ว หิวจนแสบไส้ไปหมดแล้ว"หรือ 2dine4eleciton ได้จัดกิจกรรม “กินข้าวรอเลือกตั้ง” โดยมีการปูเสื่อบริเวณลานประตูท่าแพเป็นรูปกากบาท และเชิญชวนผู้ร่วมกิจกรรมล้อมวงกินอาหารพื้นเมืองบนเสื่อ โดยมีผู้เข้าร่วมกินอาหารราว 100 คน เพื่อรอการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 (ชมภาพและอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

000

พิษณุโลก

กิจกรรมจุดเทียนที่หน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2557 (ที่มา: คุณ "ช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ"เอื้อเฟื้อภาพ)

10 ม.ค. 2557 - เมื่อเวลา ประมาณ 18.00 น. ที่หน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก กลุ่มไทยอดทน คนพิษณุโลก  ประมาณ 200 คน ร่วมกันจุดเทียน ชูป้ายสนับสนุนให้เกิด การเลือกตั้ง ด้วยยืนยันว่า สิทธิในการโหวต เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย เราไม่ยอมให้ใครมาชี้หน้าว่าเราโง่และเลว เพื่อให้บุคคล คณหนึ่ง คณะใด มา ปล้นเอาสิทธิอำนาจของเรา ปวงชนชาวไทยไป อนาคตของชาติ เป็นของทุกคน

ไชยวัฒน์ มะกรูดอินทร์ นิสิต ปี 2 ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.นเรศวร ให้ความเห็นในประเด็นจุดเทียน ประชาธิปไตยว่า "การจุดเทียนก็เป็นอีกการกระทำหนึ่งที่แสดงออกได้ตามหลักการของประชาธิปไตยที่ทุกคนทำได้ เหมือนเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายที่สื่อออกมา และการไปจุดเทียนนั้นก็เป็นสันติวิธีที่ตรงข้ามกับการใช้รูปแบบรัฐประหารที่เน้นการใช้กำลังบีบบังคับซึ้งสุดท้ายก็ไม่ได้ผลอะไร เหมือนการเป่าเทียนที่กำลังลุกไหม้ให้แสงกว่างดับลงแล้วก็ต้องเริ่มจุดกันใหม่ แต่เลือกตั้งนั้นต่างกัน ตรงที่ให้ประชาชนได้เรียนรู้ประชาธิปไตย ของตนเอง โดยตนเอง แล้วก็เข้าใจด้ววยตนเอง ก็ไม่ต่างกับการที่เราจุดเทียน แม้เทียนจะมอดไหม้ไปทั้งเล่ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เหลืออะไรเลย ในทางกลับกันเทียนนั้นกลับส่องทางสว่างให้ประชาชนได้เข้าใจ และเลือกทางเดินของตัวเองได้อย่างถูกต้องในที่สุด"

เขากล่าวด้วยว่า "ทุกวันนี้ประชาชนคนไทยให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมาก และการเลือกผู้แทนของคนไทยแต่ละครั้งนั้นก็ผ่านการกลั่นกลองมามากพอสมควรโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้เข้ารับการเลือกตั้ง และการรัฐประหารนั้นถือเป็นการตัดสิทธิประชาชน ถือว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิกัน การกระทำดังกล่าวทำให้ประชาธิปไตยเราเริ่มต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างจากการรีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ ที่จะทำให้เสียเวลาเสียประโยชน์ทีคนไทยควรจะได้ ประเทศไทยควรหมดสมัยของการรัฐประหารได้แล้ว เพราะวันนี้คนไทยกล้าออกมาแสดงความเห็น และการจุดเทียนเพื่อแสดงสัญลักษณ์นั้นก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะจะได้ทำให้คนในประเทศนี้ได้รับรู้ว่า แสงเทียนแต่ละเล่มนั้นก็แฝงไปด้วยความต้องการและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ตนเองต้องการเป็นเจ้าของ"

ที่ผ่านมา ไชยวัฒน์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง โดยให้เหตุผลว่า การนิรโทษกรรมนั้นเป็นเรื่องของการใช้กฏหมายเอื้อผลประโยชน์ที่ยังคลุมเครือต่อหลายฝ่าย ฉะนั้นแล้วถ้าจะนิรโทษจริงๆ ก็ต้องไปเขียนกฏหมายที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะกฏหมายต้องตีความตามอักษร และต้องเข้าใจตรงกัน

การนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่เลวร้ายก็จริงในเรื่องการเอื้อประโยชน์ ต่อกลุ่มบุคคล แต่การตกไปของ พรบ.ดังกล่าวก็ไม่ใช่เครื่องมือที่จะนำมาเป็นเหตุในการโจมตีรัฐบาล ของกลุ่ม กปปส.

สำหรับการต่อต้าน พรบ. ถือเป็นทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นสำหรับประชาธิปไตยแบบร่วมมือ ของกลุ่มคนที่มีความรู้กับผู้ที่อาจะไม่มีความรู้ทางกฏหมายแต่มีพลังในการต่อต้าน

นิสิตสาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยนเรศวรไม่ประสงค์ออกนามอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า"นิรโทษกรรม มันเป็นการลบล้างความผิดทุกอย่าง และมันเหมือนการอภัยโทษให้แก่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งหนูคิดว่าถ้ามี พรบ ฉบับนี้ออกมาคนเราทุกคนที่ทำความผิดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็พ้นผิดได้ทุกคนล่ะสิ ซึ่งหนูไม่เห็นด้วยอย่างแรง

แต่ถ้าจะล้มระบบการเลือกตั้งมันจะเป็นประขาธิปไตยได้อย่างไร การที่มีประชาธิปไตยก็สามารถเป็นประจักษ์พยานได้ว่าทุกคนมีสิทธิเท่ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง "

เกษมสันต์ มีทิพย์ นักธุรกิจรายย่อยในจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า "การร่วมจุดเทียนรณรงค์ให้แก้ไขปัญหาด้วยการเลือกตั้งที่มาจากประชาชนบนพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่ากันโดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะกับกระแสรัฐประหารที่ร้อนแรงการจุดเทียนคือสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการแสวงหาวิถีทางสันติที่ดีที่สุด"

"การเลือกตั้งคือทางออกที่ดีที่สุดบนเส้นทางสันติ สถานการณ์โลกปัจจุบันที่เป็นอารยะและประชาชนชาวไทยได้รับรู้ สัมผัสถึงความสำคัญของตัวเองผ่านทางผู้แทนของพวกเขามา 82 ปี เหมือนกับการเลือกตั้งนั้นเป็นอากาศ บางครั้งประโยชน์ทางตรงที่ได้รับจากการเลือกผู้แทนแทบหาไม่เจอ แต่สำคัญขาดไม่ได้ เป็นประโยชน์โดยส่วนรวมที่นำมาให้แก่คนในพื้นที่ ฉะนั้นสถานการณ์ใดๆที่จะทำไม่ให้เกิดการเลือกตั้งหรือบริบทของการเลือกตั้งเปลี่ยนไปโดยการจำกัดสิทธิพลเมืองด้วยข้ออ้างที่ว่า ไม่ว่ากี่ปีกี่ชาติ คนไทยก็ยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง เป็นการแบ่งชนชั่นทางการเมืองซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คนเราเกิดมาบนพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน สภาพครอบครัวแตกต่างกัน ฐานะที่ไม่เท่ากัน สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน โอกาสที่ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้และมอบความเท่าเทียมให้แก่เพื่อนมนุษย์ร่วมประเทศของเราคือสิทธิทางการเมือง สิทธิเพื่อนมนุษย์ร่วมประเทศเราทุกคนสามารถที่จะกำหนดอนาคตของพวกเขาได้ มีสิทธิ์ที่จะเลือกตามความปราถนาของเขาได้"

"รัฐประหาร ถ้าการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ดีด้วยจำนวนการรัฐประการที่มากติดอันดับโลก ประเทศไทยคงเจริญก้าวหน้าติดอันดับโลกด้วยจำนวนการรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นมาไปแล้ว ถ้ามีการรัฐประหารให้มีผลสำเร็จด้วยวิธีการใดๆจากองค์กรใดก็แล้วแต่ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบกหรือองค์กรอิสระ คงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นบนแผนดิแห่งนี้"

วุฒิกรณ์ ชูวัฒนานุรักษ์อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร ตอบคำถามว่า เหตุใดจึงต้องจุดเทียนและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งว่า "ขณะนี้ หลายฝ่ายต่างพยายามเสนอทางออกและแสดงพลังกันในหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ การจุดเทียน อันแสดงให้เห็นถึงพลังเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง ตลอดจนการแสดงออกทางการเมืองที่เกินขอบเขต ไร้ทิศทาง และหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ รวมทั้งเรียกร้องให้สังคมไทยตั้งสติและหันมาแสดงออกทางการเมืองโดยสันติวิธีและอยู่ภายใต้วิถีประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ซึ่งรวมถึงการเคารพเสียงโหวตของทุกคนโดยไม่มีเสียงโหวตใดที่มีคุณภาพ มีคุณค่า หรือสำคัญมากกว่ากัน"

"ภายใต้หลักการข้างต้น นอกเหนือจากการลงประชามติแล้ว การเลือกตั้งจึงถือเป็นอีกกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนซึ่งเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถแสดงพลังและสิทธิของตนได้อย่างเท่าเทียมกันภายใต้หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ที่สำคัญ การเลือกตั้งมิได้เป็นเพียงกลไกเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนและรัฐบาลอย่างที่เราเข้าใจกันเท่านั้น หากแต่การเลือกตั้งยังหมายถึงกลไกที่เราสามารถแสดงพลังคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อีกด้วย กล่าวคือ หากพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือถูกตั้งคำถามจากสังคมในประเด็นต่าง ๆ เช่น การทุจริต จริยธรรม  หากเราไม่ชอบ ไม่พอใจ หรือต่อต้าน เราก็ทำได้โดยไม่เลือกหรือกาในช่องที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน ซึ่งหากในเขตเลือกตั้งนั้นมีผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่หากมีคนไม่เลือก ทำบัตรเสียหรือกาในช่องที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่าหรือเท่า ๆ กับคะแนนที่ผู้สมัครได้รับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะแสดงให้เห็นนัยยะคัดค้านที่สะท้อนกลับไปยังผู้สมัครและพรรคการเมืองเหล่านั้นได้อย่างเป็นดี ที่สำคัญ หากรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาไม่มีความชอบธรรมหรือดำเนินนโยบายใดที่สร้างข้อกังขาของสังคมอีก เราก็สามารถใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตนเองหรือทบทวนการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ได้ นี่คือวิถีประชาธิปไตย ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องทำคือช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลให้ทุจริตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มิใช่เรียกร้องรัฐบาลที่ดีหรือไม่โกงกินซึ่งไม่มีอยู่จริง"

"แม้การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. นี้ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์เพื่อแก้วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น แต่มันจะเป็นการแสดงให้เห็นพลังของเราไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม แน่นอนที่สุดว่าประเทศไทยต้องการปฏิรูปมากมายหลายด้าน แต่การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดจากผู้แทนหรือองค์กรที่มีสิทธิอำนาจ มีความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชนโดยทั่วไป มิใช่เกิดจากคนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่สถาปนาขึ้นมาโดยปฏิเสธคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสิทธิของคนส่วนใหญ่ในสังคมไป"

000

นครราชสีมา

กิจกรรมจุดเทียนที่ประตูเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา (ที่มาของภาพ: เพจไทยเท่ากัน Photographers)

ขณะเดียวกันเมื่อคืนวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประตูเมืองนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการจัดกิจกรรมจุดเทียน แสดงจุดยืนให้มีการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน โดยมีการเผยแพร่ภาพในเพจไทยเท่ากัน Photographers

000

ขอนแก่น

กิจกรรม "จุดเทียนเขียนสันติภาพ"ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2557 (ที่มาของภาพ: เพจดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน)

ส่วนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2557 เพจดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชนได้มีการเผยแพร่ภาพการจัดกิจกรรม "จุดเทียนเขียนสันติภาพ"เรียกร้องการเลือกตั้ง และยุติการชุมนุมที่มีเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง ในกิจกรรมนอกจากการจุดเทียนแล้วยังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยมีผู้เขียนข้อความสนับสนุนการเลือกตั้ง รวมทั้งข้อความ "Respect My Vote"และข้อความสนับสนุนหลักการ 1 คน 1 เสียงจำนวนมาก

000

อุบลราชธานี

จุดเทียนเรียกร้องสันติภาพ ต้านรัฐประหารที่อุบลราชธานี

 

คนอุบลจุดเทียนสันติภาพต่อต้านรัฐประหาร

เมื่อเวลา 18.30 น. วานนี้ (10 มกราคม 2557) กลุ่มนักศึกษาแสงแห่งเสรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยในนาม "Ubon Call for Peace"ได้จัดกิจกรรมจุดเทียน เขียนสันติภาพ ปกป้องประชาธิปไตยแล้วไปเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ลานเทียนทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 

ในกิจกรรมดังกล่าวมีประชาชนผู้สนใจใส่เสื้อสีขาวเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 500 คน บางส่วนเขียนข้อความที่แสดงเจตจำนงทางการเมือง เช่น “Respect My Vote – เคารพเสียงข่อยแหน่” “เฮาสิไปเลือกตั้ง” “เฮาต้องการเลือกตั้ง”“ฉันต้องการรถไฟความเร็วสูง ไม่ใช่ถนน” “2 กุมภา ไปเลือกตั้ง” “คนอุบลขอเลือกตั้ง” “ชาวอุบลมาเอิ้นหาสันติเด้อจ้า” “stop Violence” “1 man 1 vote”

ก่อนจะมีการจุดเทียนสันติภาพเพื่อต่อต้านการสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองนั้น ได้มีตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวความในใจถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่า การมารวมตัวกันในครั้งนี้นั้นเนื่องจากเห็นว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกำลังถูกผลักให้เข้าสู่สถานการณ์จนมุมซึ่งจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและสุ่มเสี่ยงต่อการล้มระบอบประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นหลักที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้กล่าวถึงคือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์นั้นไม่ได้วัดกันที่การศึกษาหรือใบปริญญา แต่คือการเคารพในเสียงในสิทธิของความเป็นคนเท่าเทียมกัน และต้องการให้ประเทศยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย และการออกจากวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบันก็คือ ต้องเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

จากนั้น กลุ่มคนที่ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันเปล่งเสียง “เลือกตั้ง เลือกตั้ง เลือกตั้ง” และ “ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จากนั้นก็แยกย้ายกันในเวลา 20.00 น. โดยนัดหมายรวมตัวกันอีกครั้งในเวลาเดิม ที่เดิมของวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2557

000

นครศรีธรรมราช

ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2557 เวลา 19.00 น. นักศึกษา อาจารย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 30 คน ร่วมจัดกิจกรรม “จุดเทียนเขียนสันติภาพ” ณ อาคารวิชาการ 8 ภายในมหาวิทยาลัย สะท้อนเสียงส่วนหนึ่งของความคิดที่หลากหลายในสังคม เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติการสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง เคารพในความเท่าเทียมกัน และคัดค้านการรัฐประหาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles