ศาลปกครองนัดพิจารณาคดี โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เลขา สบอช.แจงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ด้านตุลาการผู้แถลงคดีเสนอยกฟ้องนายก-กยน.-กนอช.ไม่เพิกถอนแผนบริหารจัดการน้ำ เหตุไม่อยู่ในอำนาจพิจารณา ส่วน กบอ.ให้จัดรับฟังความคิดเห็น ปชช.
9 ม.ค.2557 เวลา 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุด นั่งพิจารณาคดีเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่คู่กรณีทั้งคู่อุทธรณ์ต่อศาล โดยการพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสิน
คดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1103/2556 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดีคือสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 และนางรตยา จันทรเทียร ที่ 2 กับพวกรวม 45 คน กับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ตามลำดับ เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากการดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณด้านหน้าอาคารศาลปกครองมีกลุ่มประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำเดินทางมาชูป้ายให้กำลังใจศาลปกครองและประณามการดำเนินโครงการของรัฐบาลกันอย่างคับคั่ง ทำให้ศาลต้องจัดห้องชั้นล่างเพื่อถ่ายทอดกระบวนการพิจารณาคดี
ผู้ฟ้องคดี-ผู้ถูกฟ้อง แถลงด้วยวาจา
ในการพิจารณาคดี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แถลงด้วยวาจาในฐานะตัวแทนผู้ฟ้องคดี 45 คนว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ส่งผลผลกระทบอย่างมหาศาล และยังมีประเด็นปัญหาที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งนอกจากการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องยังมีหน่วยงานทางวิชาการ หน่วยงานอิสระไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวเพราะแผนงานต่างๆ ทั้ง 10 แผนงานนั้นกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากการดำเนินงานใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องรับผิดชอบด้วย
นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณยังได้ส่งเอกสารที่เตรียมมาให้ศาลพิจารณา ซึ่งศาลระบุรับไว้เพื่อพิจารณาประกอบ ไม่ถือเป็นพยายานหลักฐาน
ต่อมานายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) แถลงด้วยวาจาในฐานะตัวแทนผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 4 ชี้แจงใน 3 ประเด็นคือ 1.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 2.การศึกษารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และ 3.การดำเนินโครงการแบบดีไซน์ บิวด์ (Design build)
นายสุพจน์ ชี้แจงว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ถูกนำไปใช้รับฟังความคิดเห็นระบุการดำเนินโครงการต่างๆ ไว้คร่าวๆ และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนี้เป็นครั้งแรก ก่อนจะมีการลงนามก่อสร้าง ซึ่งเวลา 1 วันของการรับฟังความคิดเห็นคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่เป็นกระบวนการเอาข้อมูลไปให้ประชาชน หลังจากจบการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 77 จังหวัดแล้วจะมีการสรุปผลว่าประชาชนมีความห่วงกังวล และมีความต้องการอะไร สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้แค่ไหน หากประชาชนไม่พอใจทางเลือกที่หนึ่งที่รัฐบาลวางไว้ ก็มีทางเลือกอื่นๆ
ส่วนการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง นายสุพจน์ กล่าวว่า ได้มีการคำนวณตามหลักสถิติ เป็นไปตามหลักวิชาการตามรูปแบบของการทำโพลล์ โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ
นายสุพจน์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินโครงการแบบดีไซน์ บิวด์ (Design build) เป็นข้อดี เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินโครงการให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน และสภาพแวดล้อม หลังได้ศึกษาผลกระทบแล้ว และยืนยันว่าจะไม่เกิดกรณีเสียค่าโง่ เนื่องจากมีการดำเนินการแบบ garantee maximum price (GMP) จำกัดวงเงินการก่อสร้างในแต่ละโครงการไว้ ซึ่งเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงการรัฐบาลจะจ่ายจริงตามที่ได้ดำเนินการไป
ตุลาการผู้แถลงคดีแนะยกฟ้องนายก - ไม่รับคำขอเพิกถอนโครงการ
ด้านนายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการผู้แถลงคดี แถลงความเห็นส่วนตัวแก่องค์คณะตุลาการ โดยสรุปว่า เห็นควรให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาดังนี้ 1.ไม่รับคำร้องขอให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.ยกฟ้องนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กยน. ที่ 2 และ กนอช.ที่ 3
3.ให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือ กบอ. นำแผนปฏิบัติการและดำเนินการจัดการน้ำและอุทกภัยในโมดุล A1-A6 และ B1-B4 ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
ตุลาการผู้แถลงคดี ให้ความเห็นว่า แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำเป็นนโยบายบริหารประเทศ หรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี หรือการกระทำทางรัฐบาล ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะใช้แก้ไขปัญหาของประเทศ และใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และความสัมพันธ์ขององค์กรในกระบวนการตรา พ.ร.ก.เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา รวมทั้งความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ก.ดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น กรณีนี้แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำจึงไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญ 2550
ส่วนการทำประชามตินั้น นายกรัฐมนตรีจะให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ในเรื่องใด ศาลปกครองไม่มีอำนาจไปควบคุมเพื่อบังคับนายกฯ ให้ดำเนินการจัดทำประชามติในเรื่องใดๆ ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นนโยบายบริหารประเทศที่นายกฯ ต้องปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเท่านั้น สำหรับกรณีตามมาตรา 165 วรรคหนึ่ง (2) ในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องที่เป็นมูลเหตุแห่งคดี
ดังนั้นคำขอในประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญ
สำหรับประเด็นที่ให้พิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องได้กระทำการเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 หรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่านายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กยน. ที่ 2 และ กนอช.ที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนแม่บท ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการ
แต่เห็นว่า กบอ.ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 1 และแม้ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาและคำสั่งในดดีแล้ว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากบอ.มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนไปบ้างแล้ว แต่ยังไมได้ดำเนินการในอีกหลายพื้นที่จึงถือไม่ได้ว่า กบอ.ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแล้ว
อย่างไรก็ตามในส่วนของการต้องรับฟังรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มาตรา 67 เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นตอนที่ดำเนินการ และผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดขั้นตอนในการที่จะดำเนินการไว้แล้ว จึงยังไม่ถือว่าละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ยังให้ความเห็นต่อ ข้ออ้างที่ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 คนไม่ถือเป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย หรือาจจะเดือดร้อนเสียหายตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ว่า เป็นการใช้ชั้นเชิงต่อสู้คดีโดยนำเทคนิคทางกฎหมายมากล่าวอ้างโดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพียงผลในทางชนะคดี และเพื่อสกัดกั้นการเข้าสู่กระบวนการยุติทางปกครองของประชาชน
หากศาลถือตามคำอ้างดังกล่าวก็จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายคดี เห็นได้ชัดว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ตระหนักต่อการใช้สิทธิทางศาลของประชาชน เพื่อให้มีการตรวจสอบในเนื้อหาของคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นความรับผิดคดีชอบตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงเป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายคุกคามต่อการใช้สิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องจึงไม่มีเหตุผลที่จะนำมารับฟัง และเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางปกครองไม่สมควรยอมรับวิธีการต่อสู้คดีอันขัดต่อหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว
ตุลาการผู้แถลงคดี ยังแสดงความเห็นด้วยว่า คำพิพากษาและคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จะเป็นการวางหลังกฎหมาย เพื่อแยกการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือการดำเนินกิจการทางกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลปกครอง ออกจากการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นนโยบายบริหารประเทศ หรือนโยบายโดยทั่วไปของคณะรัฐมนตรี หรือการกระทำการของรัฐบาลซึ่งเป็นอำนาจแก่นแท้ของฝ่ายบริหารที่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา การบริหารราชการแผ่นดินด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิทางศาลในกระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและประโยชน์ส่วนรวมได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายบริหารประเทศ หรือนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี หรือการกระทำของรัฐบาลที่เป็นอำนาจแก่นแท้ของฝ่ายบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ หรือการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศให้ทันต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกในอนาคต
ทั้งนี้ หลังการนั่งพิจารณาครั้งแรกนี้ ศาลยังไม่มีการแจ้งกำหนดวันรับฟังคำพิพากษา
ฟังเสียงกองหนุน เดินหน้าสู้ต่อ
นายศรีสุวรรณ กล่าวภายหลังการพิจารณาคดีว่า สิ่งที่ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงเป็นไปตามความคาดหมาย คือสั่งให้ กบอ.นำโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โมดูลที่ 1-6 และบี 1-5 ไปทำประชาพิจารณ์ ตามระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ.2548 ส่วนคำพิพากษาจะตรงตามความคิดเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีหรือไม่นั่นคาดว่าจะได้รู้ในเร็วๆ นี้ และเมื่อมีคำพิพากษาออกมา จะสร้างบรรทัดฐานของกฎหมาย ให้การปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง
พร้อมกล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลต้องกลับไปดูแลข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งโครงการก่อนที่จะไปลงนามทำสัญญาใดๆ และศาลเห็นว่าการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการหลังที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว
ส่วนที่ตุลาการผู้แถลงคดีวินิจฉัยว่าแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นอำนาจของรัฐบาลที่สามารถกำหนดขึ้นมาได้จึงไม่รับประเด็นนี้มาพิจารณาตามคำขอที่ให้เพิกถอนนั้นไม่เป็นปัญหา เพราะถึงอย่างไรโครงการในแผนฯ ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามเจตนารมณ์ที่มีของผู้ฟ้องคดีแต่แรก
ด้านนายประเชิญ คนเทศที่ปรึกษาชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม กล่าวว่าเท่าที่ฟังตุลาการผู้แถลงคดีรู้สึกเหมือนเป็นการยื้อเวลา ศาลไม่มีอำนาจหยุดยับยั้งโครงการฯ และชาวบ้านคนต้องเหนื่อยกันอีกแล้ว
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจดการน้ำอย่างบูรณาการกล่าวว่า สิ่งที่เป็นบทเรียนจากคดีนี้คือไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลต่อไป และจะมาเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านซึ่งไม่ให้ข้อมูลแต่แรกคงไม่ได้แล้ว จะต้องดำเนินการใหม่ใช่แค่ดำเนินการต่อให้ครบทั้งประเทศ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือศึกษาผลกระทบโครงการให้แล้วเสร็จก่อน หากมองไม่เห็นหัวประชาชนไม่ว่าโครงการใหญ่หรือเล็กก็จะถูกต่อต้าน และนอกจากคดีนี้แล้วยังมีชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ที่ดำเนินการฟ้องร้องคดีได้อีก เป็นรายย่อยแต่ละกรณีที่ส่งผลกระทบ
“วันนี้ประชาชนเกิดการตื่นตัวมากขึ้น หากโครงการไหนมาอยู่ในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านนี้ ประชาชนมีวิธีการไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐโดยใช้สิทธิที่พวกเขามีอยู่อย่างการไม่ให้เข้าพื้นที่ ดังนั้นวิธีการคือต้องยกเลิกโครงการโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านไปเลย ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม” นายหาญณรงค์กล่าว
ส่วนนายกมล เปลี่ยมสมบูรณ์ ประธานสภาเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวกับประชาชนที่มารวมตัวกันว่า ขอให้ทุกเครือข่ายไม่หยุดยั้งในการให้ข้อมูลกับชาวบ้าน และให้ดำเนินการจัดเวทีเล็กๆ ในพื้นที่ต่อไป เพราะที่ผ่านมารัฐไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชน และการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าร่วม ดังนั้นจึงต้องสะท้อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ชอบธรรม ทุกจังหวัดยังต้องประสานความร่วมมือกัน ให้ความรู้ทั้งทางตรงทางอ้อมต่อไปเรื่อยๆ ไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ตกอยู่ในการครอบงำของรัฐ
“เราไม่มีอำนาจมีแต่ความร่วมมือที่จะทำให้การทำงานเดินหน้าได้” ประธานสภาเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีนกล่าว
ภูมิหลังคดี คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ชะลอโครงการฯ-กลับไปรับฟังเสียงประชาชน
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 คน ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการดำเนินการต่อมาตามแผนแม่บทดังกล่าว กระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ
ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือทักท้วงไปยังผู้ถูกฟ้องคดีฯ แล้วหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ทบทวนการดำเนินการหรือการใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2556 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 57 วรรคสองและมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (Module) เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 อุทธรณ์คำพิพากษาสรุปความได้ว่า การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย การรวบรวมอำนาจจัดการของ กบอ.การกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ไม่ผ่านงบประมาณของแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างไม่นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 มาใช้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล ดังนั้น แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 อุทธรณ์คำพิพากษาสรุปความได้ว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเป็นเพียงกรอบแนวความคิดโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างเพิ่มมากขึ้น ยังไม่มีข้อยุติว่าจะดำเนินการตามแผนอย่างไร จึงยังไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อประชาชน รวมทั้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้มีแผนการที่จะดำเนินการศึกษา ประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จึงมิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อมีข้อยุติเกี่ยวกับโครงการที่จะดำเนินการแล้ว ก็จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai