ในเว็บไซต์ Waging Non-violence นักข่าวอังกฤษเขียนรายงานเรื่องต้นตอความขัดแย้งของการเมืองไทยในปัจจุบัน ว่าเป็นแค่การพยายามรักษาอำนาจของชนชั้นนำเก่าส่วนเล็กๆ ที่หลอกสร้างความเกลียดชังให้กับประชาชนต่างความคิดกัน ล่อลวงให้เกิดรัฐประหารเพื่อรักษาอำนาจตนและทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้
8 ม.ค. 2557 มาร์ก เฟนน์ นักข่าวชาวอังกฤษผู้เขียนข่าวให้กับสำนักข่าว เช่น ไทม์ออฟลอนดอน และดิ อินดิเพนเดนท์ เขียนรายงานลงในเว็บไซต์ Waging Non-violence กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งทางการเมืองในไทย ซึ่งมีความกังวลว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหรือไม่
เฟนน์กล่าวในบทความว่าสภาพปัจจุบันราวกับมีการเตรียมเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มีกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอำนาจหนุนหลังอยู่กับฝ่ายรัฐบาลที่แม้จะมีข้อเสียแต่ก็มาจากการเลือกตั้งและได้รับการสนับสนุนจากมวลชนโดยเฉพาะในแถบชนบท โดยแม้ว่าความขัดแย้งจะอยู่ในระดับชนชั้นนำสองกลุ่ม แต่ก็มีความขัดแย้งในระดับเรื่องของชนชั้น, เชื้อชาติ และระดับภูมิภาคด้วย
เฟนน์ได้เล่าถึงการที่ประชาชนหลายหมื่นหรืออาจถึงหนึ่งแสนคนมาประท้วงบนท้องถนนของกรุงเทพฯ เพื่อขับไลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยบอกว่าพวกเขาเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยน้อยลง ขณะเดียวกันก็พูดถึงอดีตนายกฯ ทักษิณว่าถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารในปี 2549 และกำลังหลบหนีการดำเนินคดีข้อหาใช้อำนาจมิชอบอยู่
นักข่าวชาวอังกฤษกล่าวว่าผู้ประท้วงได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ "ไม่มีประสิทธิภาพ"และ "ทำตัวไม่ตรงกับชื่อ"ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตต์การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าจะแพ้อีกครั้ง ทำให้พวกเขาหันหลังให้กับประชาธิปไตย
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ช่วยศาตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่าฝ่ายค้านของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในการเลือกตั้งจึงใช้วิธีก่อม็อบเพื่อยุยงให้เกิดความรุนแรงอันนำมาซึ่งการโค่นล้มรัฐบาล
เฟนน์กล่าวอีกว่ากลุ่มคนที่ไม่พอใจเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้มักจะบอกว่าประเทศนี้ไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย และกลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนก็คิดว่าคนที่ลงคะแนนเสียงให้รัฐบาลปัจจุบันเป็นคนโง่ ถูกหลอก หรือขายเสียง ซึ่งเฟนน์คิดว่าโวหารที่แฝงด้วยความเกลียดชังเหล่านี้นำมาซึ่งการถกเถียงกันในสังคมไทยเรื่องการเลือกตั้งที่ทุกคนต่างมีสิทธิเลือกตั้งหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันไม่ว่าจะมาจากฐานะสังคมแบบใด
นักข่าวชาวอังกฤษยังได้กล่าวถึงกรณีที่สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำการชุมนุมถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่า และพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากบทบาทในการสลายการชุมนุมปี 2553 แต่ในตอนนี้เขามีบทบาทกลับกันโดยเรียกร้องให้มีการล้มล้างรัฐบาลและระงับการเลือกตั้งชั่วคราว รวมถึงให้มีการแต่งตั้งสภา "คนดี"ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนมองว่าเป้าหมายของเขาไม่ต่างอะไรกับเผด็จการฟาสซิสต์
เฟนน์กล่าวในรายงานอีกว่าสุเทพเป็นนักปลุกระดมที่มีเบื้องหลังน่าสงสัย ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ผู้สนับสนุนเขาก็ยกให้เขาเป็นวีรบุรุษ เขาไม่สนใจหมายจับฐานก่อกบฏโดยยังคงปราศรัยต่อต้าน "ระบอบทักษิณ"บนเวทีต่อไป สุเทพยังสัญญาว่าจะยับยั้งไม่ให้มีการเลือกตั้งจนกว่าจะมีการ "ปฏิรูป"สำเร็จ แม้ว่าข้อเสนอของเขายังดูคลุมเครือก็ตาม
เฟนน์กล่าวถึงกรณีการปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2556 ซึ่งผู้ชุมนุมพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการลงทะเบียนผู้สมัครเลือกตั้งว่า จากเหตุดังกล่าวทำให้มีคนถูกยิงเสียชีวิตสามคน เป็นตำรวจหนึ่งคนและผู้ประท้วงสองคน แต่ยังไม่ใครระบุตัวมือปืนได้โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็กล่าวเป็นนัยว่ามี "มือที่สาม"หรือกลุ่มผู้ยั่วยุมีส่วนเกี่ยวข้อง
ในรายงานของเฟนน์ยังได้สรุปต้นตอความขัดแย้งจากการพยายามผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งอาจเปิดทางให้ทักษิณที่มีทั้งคนรักมากและเกลียดมากกลับเข้าประเทศ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์เคยบอกว่าทักษิณเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง เขายังถูกกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและการเล่นพรรคเล่นพวกแต่ก็มีคนชื่นชอบเขาในแง่ผู้นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนจนในชนบท
เฟนน์บอกว่าทักษิณใช้โอกาสจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในชนบทที่มีการศึกษาดีขึ้น (better-educated rural voters) ทำให้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี 2544 รัฐบาลใช้นโยบายที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า "ประชานิยม"ในการเรียกเสียงสนับสนุน แต่ทักษิณก็มีท่าทีโผงผางและไม่เกรงใจอำนาจที่มีอยู่ดั้งเดิมในสังคมไทย ทำให้เขาเป็นศัตรูกับชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เช่นผู้เกี่ยวข้องกับวัง ธุรกิจใหญ่ และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง
มาร์ก เฟนน์ ยังได้ชี้ให้เห็นสาเหตุของความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจากการมองว่าทักษิณเป็นภัยต่อระบอบกษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการสืบสันตติวงศ์ของชนชั้นนำส่วนหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์จากการอยู่ใกล้ชิดกับวัง ความกลัวที่ยึดติดมายาวนานและอคติต่อคนชนบทที่พวกเขาคิดว่า "ไม่มีการศึกษา"ทำให้เกิดการใช้โวหารก้าวร้าวรุนแรงบนเวทีการชุมนุม แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตนักข่าวรอยเตอร์สกล่าวว่าคนเหล่านี้เริ่มคลั่งไคล้อย่างอันตราย ความกลัวทำให้พวกเขามีแต่ความเกลียดชังและเสียสติ
เฟนน์ ระบุในรายงานว่าประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้นักข่าวจำใจต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่ข่าวเดอะเนชั่น กล่าวในรายงานว่ากฎหมายฉบับนี้ทำให้บทวิเคราะห์ของพวกเขาถูกจำกัดและลดทอน
เฟนน์กล่าวว่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยต่างก็ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้ายสีฝ่ายตรงข้าม มีการปิดเว็บไซต์จำนวนมากที่ถูกกล่าวหาว่ามีการวิจารณ์ระบอบกษัตริย์ และเมื่อเดือนที่แล้วก็มีชายคนหนึ่งถูกจับหลายข้อหารวมถึงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เฟนน์บอกว่าเบื้องหลังความกลัวและความเกลียดชังนี้ควรมองให้ออกว่าความวุ่นวายในปัจจุบันบนท้องถนนของกรุงเทพฯ มาจากฝ่ายที่ขัดแย้งพยายามช่วงชิงอำนาจกัน
รายงานของเฟนน์ยังได้กล่าวถึงแผนการ "ปิดกรุงเทพฯ"ของสุเทพในวันที่ 13 ม.ค. ที่จะถึงนี้โดยบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการตัดสินอนาคตของประเทศไทย สุเทพยังได้สั่งให้โทรทัศน์ช่องต่างๆ เผยแพร่คำประกาศของแกนนำการชุมนุมและขู่ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการและบ้านของรัฐมนตรี
"แกนนำการชุมนุมดูเหมือนจะคาดหวังให้เกิดความรุนแรงและความไม่มั่นคงมากขึ้น โดยเชื่อว่าการกระทำนี้อาจกลายเป็นข้ออ้างให้กองทัพทำการรัฐประหาร"เฟนน์กล่าวในบทความ
เฟนน์กล่าวอีกว่าแม้ยิ่งลักษณ์จะใช้เวลาช่วงสองปีที่ผ่านมาในการเอาอกเอาใจฝ่ายกองทัพ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากกองทัพไป อย่างไรก็ตามแม้กองทัพจะเป็นผู้มีอิทธิพลในประเทศที่มีการรัฐประหารหรือการพยายามทำรัฐประหารรวม 18 ครั้ง แต่ก็ยังคงมีฝ่ายต่างๆ ในกองทัพเช่นคนที่ถูกเรียกว่าเป็น "ทหารแตงโม"ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเสื้อแดง นักวิเคราะห์บางคนมองว่าผู้นำกองทัพระดับสูงบางคนอาจจะอยู่ข้างรัฐบาลด้วยซ้ำหากมีการพยายามทำรัฐประหาร
เฟนน์ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือการที่ กกต. จะลาออกก่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ. หรือศาลจะใช้วิธีการสั่งปลดรัฐบาลซึ่งจะนับเป็นการรัฐประหารโดยตุลาการ หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศก็กำลังตัดสินใจฟ้องพรรคเพื่อไทยที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มาจากการรับรองของทหาร ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประท้วงบางส่วนพยายามปิดกั้นการลงทะเบียนสมัครเลือกตั้ง จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เฟนน์กล่าวชื่นชมรัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลว่าจนถึงตอนนี้พวกเขาควบคุมตัวเองได้ดีทีเดียว ถึงขั้นยอมให้ผู้ประท้วงบางส่วนเข้ายึดอาคารที่ทำการสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่ในกลุ่มคนเสื้อแดงก็เริ่มรู้สึกโกรธแค้นมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขายังจำเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมในปี 2553 ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ทหารเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในปัจจุบัน
จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำเสื้อแดงและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวในรายงานว่าคนเสื้อแดงรู้สึกโกรธมาก แต่ก็ไม่คิดจะแบ่งแยกการประเทศตามภูมิภาคตามที่มีคนตั้งข้อสังเกตกัน จรัลเน้นย้ำอีกว่าเขาหวังว่าจะมีทางออกแบบสันติและเสื้อแดงในหลายจังหวัดก็เดินขบวนพร้อมคำขวัญ "สนับสนุนการเลือกตั้ง ไม่เอาสงครามกลางเมือง"แต่ถ้ามีการรัฐประหารกลุ่มเสื้อแดงจะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องรัฐบาล
ทางด้าน แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล บอกว่าการชุมนุมนี้เป็นการต่อสู้อย่างหมดหวังของกลุ่มอำนาจเก่าที่กลัวสูญเสียอำนาจและสิทธิพิเศษ แต่เขาก็มองว่ากลุ่มอำนาจเก่าเหล่านี้กำลังจะแพ้ถึงได้สู้แบบจนตรอกทำให้พวกนี้อันตราย ขณะเดียวกันประเทศไทยก็กำลังเติบโตและความขัดแย้งนี้เป็นบาดแผลเจ็บปวดจากการเติบโตที่มาจากการผุดขึ้นของประชาธิปไตย
เรียบเรียงจาก
Thailand on the Brink, Mark Fenn, Waging Nonviolence, 06-01-2014
http://wagingnonviolence.org/feature/thailand-brink