14 ธ.ค.2556 สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ระบุการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ควรเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและเคารพกติกาที่มีอยู่ โดยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 จากนั้นจึงค่อยปฏิรูปประเทศและแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทเรียนจากอดีตแล้วว่า การปฏิรูปอย่างเร่งรีบไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้ ย้ำจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือและการรับฟังและระดมความคิดความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม จึงจะไปสู่การปฏิรูปประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สร้างการยอมรับและความเป็นธรรมในสังคมไทยได้
รายละเอียดมีดังนี้
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จากสถานการณ์การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชน ภายใต้การนำของ กปปส. ที่ยาวนากว่า 30 วัน มีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อดำเนินการปฏิรูปการเมือง ในขณะที่รัฐบาลเองไม่ตอบรับแนวคิดดังกล่าว จึงนำมาสู่การตัดใจยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นกับหาข้อยุติมิได้นั้น
สมัชชาคนจน เห็นว่า แก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องเป็นไปตามครรลองของหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเคารพในกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเป็นต้นทางในการแก้ไขวิกฤตขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานและยังคงไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้
ในส่วนการปฏิรูปประเทศไทยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเทศไทยเคยมีบทเรียนที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศอย่างเร่งรีบ กระทั่งนำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังปรากฏในปัจจุบันนี้ได้ และเป็นสาเหตุอันสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตทางการเมืองในครั้งสังคมใหม่ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรดำเนินการภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เสร็จสิ้นไปแล้ว เนื่องการปฏิรูปประเทศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความร่วมไม้ร่วมมือและการรับฟังและระดมความคิดความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม จึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่ควรใช้กำหนดกรอบระยะเวลามาเป็นข้อจำกัดในการปฏิรูปประเทศไทย
เมื่อคนในสังคมได้ระดมความคิดความเห็นและรับฟังซึ่งกันและกัน กระทั่งตกผนึกทางความคิดความเห็นร่วมกัน จึงจะสามารถนำไปสู่การปฏิรูปประเทศและการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สร้างการยอมรับและความเป็นธรรมในสังคมไทยได้
สมานฉันท์
สมัชชาคนจน
14 ธันวาคม 2556