เสวนาข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย นักวิชาการ TDRI เสนอทางออก ตั้ง ส.ส.ร. ตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แก้ รธน.โดยยึดโยง ปชช. ‘เกษม’ แนะสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เร่งด่วน ชี้มาตรฐานทางศีลธรรมของคนดี ไม่ใช่คุณธรรมทางการเมือง
ระหว่างเส้นทางสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ขณะที่ กปปส.ยังยืนยันนำเสนอการเลือกตั้งสภาประชาชนและขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 โดยดูเหมือนจะไม่ต้องการให้การเลือกตั้งมาถึงในเร็ววัน แม้จะเริ่มมีประกายความหวังจากการเปิดโต๊ะเจรจา แต่ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยจะไปสิ้นสุดที่จุดไหน และไม่มีใครรับประกันได้ว่าความรุนแรงที่หวั่นวิตกจะไม่เกิดขึ้น
12 ธ.ค.2556 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติวิธี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ‘ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย’ ที่ห้องจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
‘วิโรจน์’ ชี้ปัญหาใหญ่ คือความรู้สึกถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนของทุกฝ่าย
วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวแสดงความเห็นว่าประเด็นที่เรามีการต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายขณะนี้ หลายอย่างไม่ใช่ประเด็นจริงๆ แต่เป็นม่านควันที่เพิ่งถูกสร้าง เช่น การพูดถึงนายกคนกลาง สภาประชาชน จากที่ได้พูดคุยกับคนในฝั่งประชาธิปัตย์บางคนเมื่อราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาบอกว่าเพิ่งได้ยินข้อเสนอเหล่านี้จากคุณสุเทพในที่ชุมนุมพร้อมๆ กับคนทั่วไป ไม่ได้มีการคุยกันในประชาธิปัตย์มาก่อน แสดงให้เห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้ถูกใส่มาเพราะสถานการณ์ ไม่ได้มีมาแต่เดิม
ยกตัวอย่าง การเสนอเรื่องนายกคนกลาง มีการให้เหตุผลว่าไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้รักษาการได้ แต่พูดกันจริงๆ เรามีอีกกว่า 50 วันเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง นายกรักษาการขณะนี้ถูกมัดมือมัดเท้า เรามี กกต.มาดูแลการเลือกตั้ง และประเด็นเรื่องการโกงการเลือกตั้งมีความสำคัญน้อยลงมาก เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคจับตาการเลือกตั้งได้ดี เหมือนกลายเป็นเรื่องตลกว่า 3 เดือนก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะจบเร็วขณะนี้ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้กลับบอกว่าปล่อยให้รักษาการอีกไม่ได้แล้ว และหากถามต่อไป เข้าใจว่าหลายท่านได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า สาเหตุจริงๆ ที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลนี้รักษาการก็เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบที่มากกว่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังไปสู่การเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยไม่เลือกตั้งในเร็วๆ นี้
วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การที่แต่ละฝ่ายงัดวิธีการนอกระบบออกมาใช้เป็นอาการไม่ใช่ตัวโรคจริง และมีความเชื่อของฝ่ายที่จะล้มรัฐบาลว่าหากเกิดความรุนแรงรัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงมีแนวความคิดบางแนวที่อำมหิตพอจะใช้ชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องสังเวย เพื่อชัยชนะในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีการต่อสู้เรื่องเทคนิค ข้อกฎหมาย โดยผ่านตุลาการ หรือ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตรงนี้อาจมีผลให้เกิดชัยชนะได้จริง แต่จะไม่ทำให้ปัญหาจบเพราะในที่สุดจะมีคนจำนวนมากไม่ยินยอมพร้อมใจ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ 2 นครา ไม่ใช่แค่เมืองต่อสู้กับชนบท ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นมานานแล้ว
วิโรจน์ กล่าวต่อมาถึงมวลมหาประชาชนที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลขณะนี้ ซึ่งมีการรายงานจำนวนจากนักข่าวต่างประเทศอยู่ที่ราว 1-1.5 แสนคน หรือข้อมูลในกลุ่มผู้ชุมนุมที่บอกว่ามีราว 5 ล้านคน ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขประวัติศาสตร์การชุมนุมที่มากมาย แต่มวลมหาประชาชนไม่ได้มีอยู่กลุ่มเดียว ยกตัวอย่างมวลมหาประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่มาคลิกไลค์เพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยในเฟซบุ๊ก ใช้เวลา 2 วัน มีผู้คลิกไลค์ 1.7 แสนไลค์ ตามจำนวนไอดี ซึ่งเป็นมวลมหาประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้
ดังนั้น ไม่ว่าใครอยู่ฝ่ายไหน เชื่ออะไร ทางออกหรือข้อเสนอที่จะนำไปใช้ต้องเป็นสิ่งที่อย่างน้อยตัวละครหลักทั้ง 2 ฝ่ายพอรับได้ ไม่ใช่ความพยายามเอาชนะทางเทคนิคหรือกระทั่งการรัฐประหาร
“ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมามันคือความรู้สึกถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน อนาคตที่เราควบคุมไม่ได้ แล้วที่น่าสนใจคือว่าทั้ง 2 ฝ่ายหลักๆ มีความรู้สึกที่คล้ายกันด้วย” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ ยกตัวอย่างการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายระแวงว่าผลจะออกมาในแบบที่ตัวเองไม่ต้องการ แม้ในช่วงหลังแพทเทิร์นจะออกมาในรูปแบบที่ทำนายได้ ในส่วนฝ่ายเหลือง หลากสี หรือฝ่ายคุณธรรม ก็หวาดระแวงว่าเมื่อไหร่รัฐบาลหรือสภาจะอ้างเสียงข้างมากลากไปสุดซอยหรือลากไปลงคลอง จะคอร์รัปชั่น ผลาญเงินภาษี หรือสร้างระบบที่กินรวบทางธุรกิจ ส่วนฝ่ายแดงหรือฝ่ายที่บอกว่าเคารพหลักการประชาธิปไตยก็รู้สึกไม่แน่นอน เพราะไม่รู้เมื่อไหร่ทหารจะรัฐประหาร แทรกแซง หรือกดดัน ส่วนตุลาการหรือองค์กรอิสระจะเล่นงานฝ่ายตนเองโดยใช้ 2 มาตรฐานหรือไม่ รวมไปถึงคดี 112 ด้วย ทุกฝ่ายมีความกังวล ไม่รู้ว่าระบบจะเป็นอย่างไร
เสนอทางออก ตั้ง ส.ส.ร. ตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แก้ รธน.โดยยึดโยง ปชช.
วิโรจน์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันนี้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ และโดยส่วนตัวไม่มีคิดว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นยาวิเศษจะแก้ปัญหา แต่ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายมีปัญหา หากไม่แก้ตรงนี้ปัญหาจะกลับมา โดยประเด็นที่ถกกัน คือ 1.ระบอบการเมืองที่ทำจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนในความเป็นจริงมากกว่าตามตัวอักษร
2.ใครมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไทยมีปัญหาเรื่องที่มาและความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 50 คน ที่คนจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับและมาด้วยคำขวัญรับก่อนแก้ทีหลัง และใครมีอำนาจตัดสินว่าผิดรัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่ปรากฏคือ ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตัวเอง ขณะนี่คนบางกลุ่มบอกว่าเป็นระดับที่ยอมรับได้ แต่คำถามคือแค่ไหนเป็นการขยายอำนาจที่ยอมรับได้และใครเป็นผู้ตัดสิน อีกทั้งปัญหาของบทบาทตุลาการภิวัฒน์ซึ่งไปทางอนุรักษ์นิยม ทำให้หลายคนไม่ไว้ใจ
ต่อคำถามว่าจะทำอย่างไร วิโรจน์ กล่าวว่า โดยหลักการมี 3 ข้อ คือ 1.ทำให้ที่มารัฐธรรมนูญสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย 2.ทำให้เสียงข้างมากรับฟังและสนใจเสียงข้างน้อย และ 3.ทำให้เสียงข้างน้อยไม่กลายเป็นเสียงที่ชี้ขาดแทนเสียงข้างมาก
วิโรจน์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ 20-30 ปีที่ผ่านมา คนไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางขึ้นไปจำนวนมากไม่ไว้ใจนักการเมือง เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญจึงอยากได้ ส.ส.ร.(สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาโดยวิธีการอื่นที่ปลอดจากการเมือง และ ส.ส.ร.40 ก็พยายามทำเช่นนั้น ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถดันรัฐธรรมนูญ 40 ผ่านออกมาได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากขณะนั้นอยู่ในภาวะวิกฤติที่ผลักดันพรรคการเมืองให้โหวตรับรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันคนที่ร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นศูนย์เสียการยอมรับในความเป็นกลางไปแล้ว จึงกลับไปทำวิธีแบบเดิมได้ยาก
ดังนั้นข้อเสนอ คือ 1.ให้พรรคการเมืองเสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญในช่วงหาเสียง 2.ในรัฐสภาเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยตั้ง ส.ส.ร.ตามสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ให้ ส.ส.ร.ยึดโยงกับเสียงที่ประชาชนเป็นคนเลือกมา ให้พรรคการเมืองเป็นคนเสนอตั้ง ส.ส.ร.ในโคตาของแต่ละพรรคเข้ามาเพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถและพูดได้ว่ายึดโยงกับการเลือกตั้งของประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อการที่พรรคใดพรรคหนึ่งได้รับเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากมีพรรคที่ได้คะแนนเกินครึ่ง พรรคนั้นจะได้โคตาตั้ง ส.ส.ร.ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการทำให้เสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อย ทำได้โดยเพิ่มน้ำหนักเสียงข้างน้อยใน ส.ส.ร.ด้วยการระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน ส.ส.ร.ได้ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ร.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ส่วนการทำประชามติใช้กระบวนการปกติคือเสียงข้างมาก
ส่วนประเด็นที่ว่าใครจะมีสิทธิ์แก้รัฐธรรมนูญ สิ่งที่ต้องผลักดันคือหากจะให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่เป็นแบบพวกมากลากไป เสนอให้รัฐธรรมนูญแก้ได้เมื่อสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ให้เสียงข้างน้อยเห็นด้วย หากตั้งไว้เช่นนี้สภาจะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการแก้รัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่มีสิทธิ์แก้ คงต้องคิดหนักขึ้น
ข้อสุดท้าย ตามข้อเสนอของอาจารย์อัมมาร (อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI) ที่ว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียงข้างน้อยชี้ขาดเสียงข้างมากได้ มีข้อเสนอคือในการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส.ร.ใช้เวลาแก้ไม่เกิน 2 ปี หากครบ 2 ปี ส.ส.ร.ยังไม่ยอมผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้เลือกรัฐธรรมนูญเก่าฉบับหนึ่งที่ไม่มีผู้เล่นหลักฝั่งไหนชอบมาใช้ โดยนำมาปรับปรุงในหัวข้อเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญแก้ได้ง่ายหรือแก้ไม่ได้เลย
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 50 อยู่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจระบุว่าวิธีการนี้เป็นการได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งไม่ได้หมายถึงขัดกับระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้สามารถถกเถียงได้ว่า ส.ส.ร.ไม่ได้เป็นร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีอำนาจในการปกครอง รวมทั้งกระบวนการนี้ผูกโยงกับผู้มีสิทธิออกเสียงตั้งแต่แรก และเป็นวาระสำคัญในการหาเสียงตั้งแต่แรกก็จะทำให้สภาอยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรองกับศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าในปัจจุบัน
วิโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้ คือทำให้สังคมเห็นว่ามีคนจำนวนมากพร้อมที่จะยึดหลัก ไม่ใช่เห็นแต่ทางที่เสนอโดยผู้รู้ ถ้าปล่อยให้มีแต่ความเห็นฝ่ายเดียวจะทำให้สังคมรูสึกว่าคนเขาคิดกันแบบนี้ กรณี สปป.ที่มีคนแสดงตัวสนับสนุนจำนวนมากและรวดเร็วสะท้อนถึงความคับข้องใจต่อข้อเสนอของผู้รู้ การที่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นถือเป็นการเตือนให้คนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ที่ต้องการเอาชนะด้วยเทคนิค เป็นการคานอำนาจ
‘สมชัย’ แจงข้อเสนอเลือกตั้งพร้อมทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญในคราวเดียว
สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวเสริมว่า ความขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายที่ออกมาชุมนุมเห็นว่าอำนาจต่อรองในสังคมของเขาหายไป เริ่มจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เขารู้สึกว่าอำนาจการต่อรองในสังคมไม่เคยมี การมีส่วนร่วมการเมืองยิ่งไม่มี เป็นความรู้สึกที่อัดอั้นมานานเมื่อมีคนให้โอกาสแต่ถูกแย่งชิงเอาไปด้วยการรัฐประหารจึงมีการปะทุขึ้น ส่วนคนอีกฝั่งที่ชุมนุมขณะนี้เขาก็รู้สึกว่าอำนาจต่อรองหายไปเช่นกัน โดยชนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไปอำนาจมีมาอยู่แล้วในสังคมแต่รู้สึกว่ามันกำลังจะหายไป ขณะที่คนชั้นกลางบางส่วนก็รู้สึกว่าอำนาจที่จะควบคุมตรวจสอบรัฐบาลหายไป ผ่านระบอบที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก หรือระบอบทักษิณ
ดังนั้น หากจะตอบโจทย์สังคม ข้อเสนอจึงเป็นการคืนอำนาจต่อรองให้ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่คืนในรูปแบบไหน เราใช้โจทย์เรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญไทยถูกร่างใหม่หลายครั้งและหลายคนไม่ศรัทธากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเริ่มมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญมากขึ้น จากที่เคยไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างไร จนวันนี้คนทั่วไปเริ่มรู้ จากกระบวนการดึงอำนาจต่อรองคืนมา โดยดูว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเอื้อหรือรับรองอำนาจต่อรองของเขาหรือไม่ อีกทั้ง เชื่อว่ารัฐธรรมนูญเริ่มตอบโจทย์ได้มากขึ้น และเป็นกระบวนการที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอำนาจต่อรองในนั้น
สำหรับข้อเสนอที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน ส.ส.ร.ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เนื่องจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาซึ่งสุดท้ายต้องถอนคืนมานั้น ผ่านด้วยเสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสำหรับกฎหมายใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้บังคับกับคน 60 ล้านคน ควรเป็นเสียงข้างมากจริงๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อกฎมายออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างในสหรัฐการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 4 ใน 5 ส่วนการเสนอแก้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ทั้งนี้หากเสียง 51 เปอร์เซ็นต์บอกผ่าน ขณะที่ 49 เปอร์เซ็นต์ไม่เอาด้วย คนตรงนี้เป็นจำนวนไม่น้อยและพร้อมที่จะออกสู่ท้องถนนได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงต้องเป็นเสียงข้างมากจริงๆ
ยกตัวอย่าง ข้อเสนอ 6 ข้อ ที่คุณสุเทพยกขึ้นมาและจะเอาไปใส่ในสภาประชาชน อาจมีบางข้อดี ถูกใจคนส่วนใหญ่ เช่น เลือกตั้งผู้ว่า หรือประเด็นปฏิรูปต่างๆ เรื่องเหล่านี้สามารถนำเข้าสู่การเมืองในระบบ เอาไปถกใน ส.ส.ร.ได้ โดยเป็นการถกเถียงวงกว้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยทั่วไป และมีผู้รู้ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญมาช่วยปรับแต่งเพื่อไม่ให้รกรุงรังจนเกินไป อาจทำออกมาในรูปกฎหมายลูกที่ระบุเจตนารมณ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ฝากผู้รู้ว่ากฎหมายลูกที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการออกกฎหมายจริง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติ เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาทั้งรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีการออกกฎหมายลูกในหลายฉบับ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำให้คนไม่พอใจออกมาเดินบนถนน เช่น ในรัฐธรรมนูญ 50 ให้ออกกฎหมายการเงินการคลังใน 2 ปี แต่ถึงขณะนี้กฎหมายยังไม่ออก โดยกฎหมายข้อนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันประชานิยม
สมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในข้อเสนอที่ให้พรรคการเมืองทำสัตยาบรรณจะหาเสียงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ต้องการแน่ใจว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งถูกเลือกเพราะคนต้องการให้เป็นตัวแทนในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยแยกกับการเลือกพรรคการเมืองที่ต้องการให้มาบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์ จึงเสนอว่าในการลงคะแนนเลือกตั้งในจากระบบเดิมที่กาครั้งแรกเลือก ส.ส. กาครั้งที่ 2 เลือกพรรค เพิ่มกาครั้งที่ 3 เลือกพรรคที่ต้องการให้เป็นตัวแทนแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคนสามารถเลือกพรรคต่างกันมาทำหน้าที่ได้
นอกจากนั้นในแง่กฎหมาย จากที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องลงประชามติก่อน ตรงนี้อาจมีช่องไม่ขอทำประชามติ กับการกาเลือกพรรคต่างๆ ให้นับเป็นจำนวนรวมว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติ หากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ถือว่าผ่านประชามติ ตรงนี้เป็นการใช้กระบวนการเลือกตั้งที่ตอบโจทย์หลายๆ โจทย์พร้อมกัน โดยรวมการประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญไปด้วย ไม่ต้องยื่นเงื่อนเวลาออกไป
‘เกษม’ แนะสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เร่งด่วน
เกษม เพ็ญพินันท์ กล่าวว่าในระยะสั้น กระแสสังคมต้องตอบรับว่าเราพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องคัดเลือกคน สิ่งเหล่านี้จะกดดันอำนาจความต้องการนอกระบบ ในระยะสั้นสิ่งสำคัญคือทำให้การเลือกตั้งเกิดมาให้ได้ ทำให้รู้ว่าเราพร้อมที่จะอยู่ในระบอบนี้
เกษม กล่าวนำเสนอใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เราอยู่ช่วงวิถีประชาธิปไตยที่มีความพยายามเสนอระบบอื่นขึ้นมาปกครองประเทศโดยยังไม่มีความชัดเจนว่าคืออะไร สำหรับคนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าเรายังอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบอบนี้ ถือเป็นรูปธรรมเร่งด่วนที่สุดเพื่อทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยมีคุณค่า มีความสำคัญอย่างไร โดยการทำความเข้าใจตรงนี้แตกเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้
ข้อแรกการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปในสังคมไทย และสถาบันการเมืองและสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งที่ผลิตองค์ความรู้กลับไม่ได้เผยแพร่องค์ความรู้อย่างต่อเนื่องต่อสังคม แม้แต่หลักสูตรพื้นฐานการศึกษาก็ไม่ได้ทำให้คนเข้าใจหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การเผยแพร่ความรู้ตรงนี้เป็นสิ่งแรกที่ควรทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น พรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้มาด้วยกัน ในส่วนพรรคการเมืองซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของปัญหาการเมืองขณะนี้ ปัญหาของพรรคการเมืองโยงกับ 2 เรื่องที่สำคัญคือ คอรัปชั่นและตัวแทนพรรคการเมืองหลุดลอยจากฐานประชาชน ไม่ว่าเอกสิทธิ์ ส.ส.ในการแสดงความคิดเห็น การลงมติต่างๆ หรือมติพรรค ปัญหาตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่เราจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นสบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนได้จริง
เกษม เสนอว่า ในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้งซึ่งแต่ละพรรคยังไม่มีตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองควรให้สมาชิกพรรคทำในสิ่งที่เรียกว่าไพรมารี่โหวต เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในส่วนปาร์ตี้ลิสต์หรือ ส.ส.เขต ก่อนการลงสมัคร ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ส.ส.ยึดโยงกับฐานเสียงมวลชนผู้สนับสนุนในพรรค ก่อนที่จะเปิดให้ทุกคนเลือก ตรงนี้จะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้คนมั่นใจคุณภาพของนักการเมืองที่จะได้รับเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่บริหารประเทศ หรือเป็น ส.ส.ที่ทำงานในกระบวนการตรวจสอบ ร่างกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ
นอกจากนั้น ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองแต่ละพรรคควรเสนอนโยบายว่าจะมีการทำอะไร ประกาศจุดยืนทางการเมืองในแต่ละเรื่องที่สำคัญของพรรค เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อที่จะเลือกพรรค อย่างน้อยที่สุดหากเราเลือกใครเป็นตัวแทนของเรา เรามอบอำนาจบางอย่างให้เขาทำหน้าที่แทนเราตามเจตจำนงของเรา เราควรเคารพสิทธิ์ตรงส่วนนี้ที่เรามอบให้เขา และเขาเองควรเคารพสิทธิ์เรา ตรงนี้ควรเป็นการทำสัญญาประชาคมโดยตรงระหว่างพรรคการเมือง ตัวแทนพรรค และประชาชนที่เลือกพรรคนั้น
ส่วนการเลือกตั้ง เกษม กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความน่าสนใจตรงที่จะมีกลไกการตรวจสอบที่เข้มข้น ไม่ว่า กกต. องค์กรกลาง หรือใครก็ตามที่คนสนใจเป็นอาสาสมัครมาร่วมจับตาการเลือกตัง การที่คนหันมาสนใจเรื่องธรรมาภิบาลจะเป็นการยกระดับการเลือกตั้ง ดังนั้นมายาคติต่างๆ เช่น การใช้เงิน จำนวนการซื้อเสียงเลือกตั้งจะเคลียร์คัดมากขึ้น และมายาคติบางอย่างจะหมดไป เช่นกรณีที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง
เกษม กล่าวต่อมาถึงรัฐธรรมนูญว่า เป็นอีกหนึ่งใจกลางของปัญหา ซึ่งด้านหนึ่งคือกฎหมายสูงสุด แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญสำคัญกว่ากฎหมายสูงสุด เพราะเป็นหลักการพื้นฐานในการออกแบบลักษณะของรัฐ สถาบันการเมือง และรูปแบบการปกครอง ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคนที่มาอยู่ร่วมกัน ตัวรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่การตอบโจทย์ในเชิงเทคนิค หากมี ส.ส.ร.ขึ้นมา สัดส่วนของ ส.ส.ร.40 และ 50 ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่จะเข้ามาร่วมในส่วนนี้ นักกฎหมายอาจช่วยเหลือเรื่องเทคนิคในการร่างกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญที่ดีคือควรเปิดกว้างมากที่สุด ยึดโยงหลักการ ส่วนรายละเอียดอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้อีก 2 สิ่งที่ต้องออกแบบคือ องค์กรอิสระซึ่งเป็นอิสระจากประชาชนและปัญหาที่เกิดขึ้นคือกลไกอิสระนี้มีปัญหาไม่ได้ยึดโยงกับหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่กลับมีอำนาจเหนือกว่าในการทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตรงนี้ต้องกลับมาออกแบบองค์กรอิสระใหม่ให้เป็นเพียงองค์กรประกอบ ไม่มีบทบาทมาตัดสินเช่นกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ขยายอำนาจของตัวเองมาซ้อนทับอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ของการไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยและรัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
โยงไปถึงเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองและพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งมีวัฒนธรรมทางการเมืองจำนวนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นพร้อมองคาพยพของระบบการเมือง แต่มี่ผ่านมาถูกตัดตอนตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาได้ สามารถบ่มเพาะเป็นจารีตที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน เช่น ตัวอย่างสภาผัวเมีย ในบางสังคมมีวัฒนธรรมการเมืองที่คนในเครือญาติไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่ได้เขียนไว้รัฐธรรมนูญเพราะเคารพโดยมารยาทต่อกัน ทำให้เป็นเรื่องวัฒนธรรมเพื่อแก้ปัญหาการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่เป็นปัญหาต่อระบบการเมืองเอง
ชี้คุณธรรมทางการเมือง ไม่ใช่มาตรฐานทางศีลธรรมของคนดี
เกษม นำเสนอประเด็นที่ 2 เรื่องศีลธรรมซึ่งเป็นหนึ่งใน Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ทางการเมืองว่า ทุกวันนี้ประชาธิปไตยกำลังปะทะกับวาทะกรรรมคนดี สิ่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นข้อผิดพลาดของสังคมไทยคือการโยนเรื่องของคนดีเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการเมือง เราต้องเข้าใจว่าความดีหรือคนดีเป็นลักษณะของคุณค่าอันหนึ่งในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล แต่ไม่ใช่ชุดคุณธรรมของสังคมการเมือง
ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้คือ ถ้าเราเอาคุณธรรมความดีซึ่งเป็นทัศนคติหนึ่งเข้าไปในพื้นที่ทางการเมือง เป็นการโยนทัศนคติทางการเมืองอันหนึ่งเข้าไปทางกลางทัศนคติหรือคุณค่าอื่นๆ ที่มีอยู่ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดหรือความเข้าเรื่องคนดี ความดีด้านหนึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่แต่ละฝ่ายใช้ในการอ้างอิงทัศนะบางอย่างเพื่อเป็นมาตรฐานในการตัดสิน
ในขณะที่เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้าง ชุดคุณค่าที่สำคัญคือเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือคุณค่าพื้นฐานที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคมการเมืองที่เคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคต่อกัน พร้อมกับการให้ความยุติธรรมหรือสร้างความเป็นธรรมในสังคม ตรงนี้ออกแบบผ่านกลไกประชาธิปไตย
“การเลือกตั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่าแต่ละคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง ซึ่งพยายามยืนยันในพื้นฐานในแง่ทุกคนเท่ากัน แต่การเลือกตั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละคนเห็นว่า ตนเองมีสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาคต่อกันด้วย” เกษมกล่าวถึงหลักการพื้นฐาน ประกอบกับการเลือกตั้งซึ่งอีกด้านหนึ่งคือการเกิดชอยส์ มีทางเลือก มีข้อเสนอต่างๆ ที่สามารถวิวาทะหรือสามารถโน้มน้าวให้แต่ละฝ่ายสนับสนุน ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่แต่ละคนสามารถ exercise ชุดของคุณธรรม
อย่างไรก็ตาม ชุดคุณธรรมนี้ไม่ใช่เรื่องการมีมาตรฐานทางศีลธรรมที่สูงกว่า แต่คือการที่เรารู้ว่าจะปฏิบัติตนเป็นสมาชิกของสังคมอย่างไร บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคต่อกัน ภายใต้กติกาที่มีอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะพูดในนามสัญญาประชาคม ประชามติ หรือกฎหมาย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และความเข้าใจผิดที่โยงเรื่องคุณธรรมความดีเข้ามาอยู่ในพื้นที่การเมือง มันได้สร้างปัญหาให้กับการเมือง ระบบสังคมการเมือง และตัวคุณธรรมศีลธรรมเอง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องมาตรวจสอบ
“ไม่ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ทุกคนบอกเอาคนดีมา คนดีแล้วไง มาตรฐานคืออะไร คุณก็ตอบไม่ได้ แค่ฉันรู้ตัวว่าดีแล้วกัน ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบในสังคมการเมือง ไม่ใช่ลักษณะที่เราต้องการในสังคมการเมือง และภายใต้สิ่งเหล่านี้ในสังคมการเมืองได้ออกแบบการตรวจสอบแล้ว ผ่านในแง่ของการทำงาน การปฏิบัติตน มันมีกลไกที่ทำงานควบคู่ไปในระบอบประชาธิปไตย” เกษมกล่าว
เกษม กล่าวต่อมาในประเด็นที่ 3 ทุนนิยมสามานย์ว่า เป็นอีกหนึ่งข้อโจมตีที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องเข้าใจว่าในความเป็นจริงปัจจุบันประชาธิปไตยกับทุนนิยมอยู่ด้วยกัน แต่มันทำงานต่างกันและเราไม่สามารถเอา 2 เรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกันได้ ซึ่งทุกวันนี้มีการเอามาผูกโยงกัน สิ่งที่น่าสนใจคือมีความพยายามจัดการประชาธิปไตยแต่กลับไม่จัดการทุนนิยม
ทั้งนี้ เรื่องที่สำคัญสำหรับทุนนิยมไทยที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันคือ 1.กฎหมายการผูกขาด ซึ่งมีความสำคัญในการไม่ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งใช้ความได้เปรียบในพื้นที่เศรษฐกิจไปขยายขอบเขตพื้นที่สังคม วัฒนธรรม แลการเมือง แต่กฎหมายดังกล่าวไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะช่วยแก้ปัญหาโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โครงสร้างภาษี กรรมสิทธิ์ที่ดิน มรดก ฯลฯ ซึ่งเป็นฉนวนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผูกอยู่กับระบบทุนนิยม หากมีการแก้ไขจะลดความร้อนแรงต่อประเด็นทางการเมือง
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทุนที่เข้ามาอยู่ในการเมืองต้องทำมี 2 เรื่อง คือ 1.ความโปร่งใสของที่มาของทุนที่สนับสนุนพรรคการเมือง รวมถึงบัญชีการใช้จ่ายจริงของพรรคการเมืองว่ามีค่าใช้จ่ายและการสนับสนุนเท่าไร รายงานต่อสาธารณะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตรงนี้จะช่วยลดการคุกคามของทุนนิยมต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพรรคการเมืองใช้เงินมหาศาลในการเลือกตั้ง และยังคงต้องให้เงินในการดำเนินกิจกรรมของพรรค
“อย่ารังเกียจทุน แต่ทำอย่างไรให้ทุนโปร่งใส ทำอย่างไรให้ทุนได้รับการตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับการเมืองได้รับการตรวจสอบได้ เราจะแก้ปัญหาได้” เกษมกล่าว
หมายเหตุ: ติดตามคลิปบันทึกการเสวนา ‘ข้อเสนอทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย’ เร็วๆ นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai