ผู้เชี่ยวชาญ ด้านภาษาท่าทางหลายคนกล่าวตรงกันว่า ชายที่ทำหน้าที่ล่ามภาษามือในพิธีรำลึกเนลสัน แมนเดลา ไม่สามารถสื่อสารอะไรออกมาได้อย่างมีความหมาย ทางด้านชายคนดังกล่าวแก้ตัวว่าเขากำลังอยู่ระหว่างรักษาโรคจิตเภทและเกิดอาการตอนอยู่ในงานพิธีพอดีจึงทำงานผิดพลาด
12 ธ.ค. 2556 ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาท่าทาง กล่าวว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ในสื่อสารเป็นภาษามือในงานรำลึกเนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษผู้ต่อต้านการเหยียดสีผิวของแอฟริกาใต้ ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อสารภาษามือได้จริง โดยบอกว่าสิ่งที่เขาสื่อออกมาไม่มีความหมายใดๆ
คารา โลนนิ่ง ผู้อำนวยการด้านการเรียนรู้และพัฒนาการทางภาษาแห่งเมืองเคปทาวน์ กล่าวว่า ผู้สื่อสารภาษามือในพิธีการรำลึกการเสียชีวิตของแมนเดลาแค่ทำมือไปมาโดยไม่ได้สื่อสารอะไรที่มีความหมายออกมาเลย ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาคนอื่นๆ คือบรูโน ดรูเชน จากสมาพันธ์คนหูหนวกแห่งประเทศแอฟริกาใต้ และอิงกริด พาร์กิน อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนสอนคนหูหนวกเซนต์วินเซนท์แห่งโจฮันเนสเบิร์กก็กล่าวไปในทางเดียวกัน
ดรูเชนเปิดเผยว่ามีคนหูหนวกคนหนึ่งอัดวิดีโอพิธีการนี้เอาไว้แล้วส่งมาให้ทางสมาพันธ์คนหูหนวกชม พร้อมทั้งเขียนร้องเรียนในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
ข้อกล่าวหานี้นำมาซึ่งคำถามว่า ชายผู้นี้สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในงานพิธีที่มีผู้นำจากหลายประเทศ รวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งควรมีการรักษาความปลอดภัยสูงได้อย่างไร และด้วยเหตุใด เนื่องจากในขณะที่ผู้นำจากหลายประเทศยืนอยู่บนเวทีเพื่อแสดงการคารวะต่อแมนเดลา ชายผู้นี้ยืนอยู่ห่างออกไปเพียงเมตรเดียว
พาร์กิน กล่าวอีกว่า ชายผู้นี้ไม่ได้แสดงสีหน้าใดๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกของคำปราศรัย ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับล่ามภาษามือ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่าเขาไม่สามารถสื่อได้แม้กระทั่งคำว่า "ขอบคุณ"หรือชื่อของ "แมนเดลา"
คอลลินส์ ชาเบน รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้กล่าวว่า ทางรัฐบาลกำลังมีการสืบสวนในเรื่องนี้และจะมีการรายงานผลให้สาธารณชนทราบ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาท่าทางกล่าวว่าชายผู้ที่ทำหน้าที่นี้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นล่ามภาษามือของประเทศแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ หรือภาษาอื่นๆ ที่มีการแปลเป็นภาษามือได้
นิโคล ดู ทัว ล่ามภาษามือที่ดูการแพร่ภาพออกอากาศพิธีรำลึกกล่าวว่า ชายคนดังกล่าวเป็นความอับอายของแอฟริกาใต้
ในเวลาต่อมา ล่ามแปลภาษามือคนดังกล่าวก็ออกมากล่าวถึงสาเหตุที่เขาสร้างความผิดพลาดในงานพิธีของแมนเดลา โดยอ้างว่าตนเองมีอาการประสาทหลอนได้ยินเสียงอื่น และกำลังเข้ารับการรักษาโรคจิตเภท (schizophrenia)
ล่ามที่ชื่อทัมซันคา จันเจีย ผู้ทำหน้าที่แปลคำพูดของผู้นำโลกหลายคนในงานพิธีเป็นภาษามือกล่าวให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เซาธ์แอฟริกาสตาร์ว่า ในขณะร่วมพิธีนั้นเขารู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในสถานการณ์ที่อันตราย เขาพยายามควบคุมตัวเองไม่แสดงออกให้โลกเห็น และเขารู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก
จันเจียให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ 702 ทอล์กว่าเขามีความสุขมากที่ได้ทำหน้าที่ล่ามภาษามือในงานใหญ่อย่างพิธีรำลึกแมนเดลา และก่อนหน้านี้เขาเคยทำหน้าที่ในงานใหญ่อย่างพิธีศพของอัลเบอร์ติน่า ซิซูลู (นักกิจกรรมต้านการเหยียดสีผิวของแอฟริกาใต้) และการประชุมสุดยอดผู้นำห้าประเทศ BRICS แต่เขาก็ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ป่วยกำลังเข้ารับการรักษาโรคจิตเภทอยู่
โรคจิตเภทเป็นอาการทางจิตที่ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาการหลงผิด หวาดระแวง ประสาทหลอน เรียบเรียงความคิดออกมาไม่ได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการงานและชีวิตประจำวัน โดยโรคนี้อาจมีสาเหตุทั้งจากด้านพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง หรือด้านจิตใจ
จันเจียอ้างว่าเขาทำงานให้กับบริษัทที่ชื่อ "เอสเอ อินเตอร์เพรเตอร์"และถูกจ้างโดยพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน (ANC) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล แต่โฆษกพรรค ANC ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ปฏิเสธว่าเขาไม่รู้จักจันเจีย และจันเจียไม่ได้ทำงานให้พรรค โดยได้โยนความรับผิดชอบไปให้คณะรัฐบาลปัจจุบันของแอฟริกาใต้
ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว โจช เอิร์นเนส กล่าวว่าพวกเขาไม่เห็นว่ามีข้อควรกังวลใดๆ กับการที่มีล่ามปลอมแอบขึ้นเวที และบอกว่ามันเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่สำคัญจริงๆ คือตัวพิธีการ และการสืบทอดเจตนารมณ์ของเนลสัน แมนเดลา
เรียบเรียงจาก
Interpreter at Mandela memorial called a fake, Aljazeera, 12-12-2013
http://www.aljazeera.com/news/africa/2013/12/interpreter-at-mandela-memorial-called-fake-20131211231733698886.html
Mandela memorial interpreter says he has schizophrenia, The Guardian, 12-12-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/dec/12/mandela-memorial-interpreter-schizophrenia-sign-language
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Schizophrenia