เอกสารเปิดโปงเรื่องการสอดแนมล่าสุดระบุว่า หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ และอังกฤษ มีการแอบเข้าไปเก็บข้อมูลในเกมออนไลน์เวิร์ลด์ ออฟ วอร์คราฟ และเซคันด์ ไลฟ์ รวมถึงระบบเครือข่าย Xbox Live โดยทางด้านกลุ่มบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ 8 แห่งรวมตัวกันเขียนจม.เปิดผนึกถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้มีการปฏิรูปกฏหมายการสอดแนม
11 ธ.ค. 2556 สำนักข่าวต่างประเทศเดอะ การ์เดียน, นิวยอร์กไทม์ และโปรพับลิกา ร่วมกันรายงานข่าวเรื่องกรณีการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) โดยมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านทางเอกสารลับว่า NSA ได้พยายามสอดแนมแม้กระทั่งข้อมูลของคนเล่นเกมออนไลน์อย่าง เวิร์ลด์ ออฟ วอร์คราฟ และเซคันด์ ไลฟ์ ซึ่งมีผุ้เล่นหลายล้านคนจากทั่วโลก
เอกสารที่ถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ระบุว่าหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ และหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของอังกฤษ (GCHQ) ไม่เพียงแค่สอดแนมข้อมูลอินเตอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่มีการจ้างคนเข้าไปเก็บข้อมูลในเกมออนไลน์ รวมถึงมีการเข้าไปสอดส่องระบบเครือข่ายเอ็กซ์บ็อกไลฟ์ (Xbox Live ระบบเครือข่ายของผู้ใช้เครื่องเล่นวีดิโอเกม Xbox ของไมโครซอฟท์) ที่มีผู้ใช้มากกว่า 48 ล้านคน เนื่องจากเกรงว่าอาจจะมี 'ผู้ก่อการร้าย'แฝงตัวอยู่ในหมู่ผู้เล่น และใช้เกมออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสาร
ในเอกสารปี 2551 ของ NSA ระบุว่าควรมีการตรวจตราในหมู่ชุมชนคนเล่นเกมด้วย เนื่องจากเกมออนไลน์เป็น "แหล่งเครือข่ายที่มีการสื่อสารจำนวนมาก"และผู้ทำงานด้านข่าวกรองสามารถแฝงตัวเข้าไปได้ง่าย ซึ่งถ้าหากสามารถแฝงตัวเข้าไปได้แล้วจะสามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นช่องทางที่พวกเขาจะสามารถโจมตีด้วยการ "แฮ็ค"เพื่อสำรวจเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้ใช้ รวมถึงให้ได้มาซึ่งรูปโปรไฟล์, ที่อยู่ทางกายภาพ และข้อมูลการสื่อสารต่างๆ
อย่างไรก็ตามเอกสารของพวกเขาก็ไม่ได้ระบุว่าสามารถสืบหาแผนการของผู้ก่อการร้ายได้จริงหรือไม่ หรือมีข้อบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารเช่นที่หน่วยงานข่าวกรองคาดการณ์
ในแง่นี้ ปีเตอร์ ดับเบิ้ลยู ซิงเกอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกไซเบอร์บอกว่า เกมเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยบริษัทที่ต้องการหาเงิน จึงมีการคอยดูแตัวตนของผู้เล่นและสิ่งที่ผู้เล่นกระทำอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีกลุ่มก่อการร้ายใช้ช่องทางนี้ เพราะกลุ่มก่อการร้ายย่อมต้องการสื่อสารกับแบบลับๆ ด้วยวิธีการที่ง่ายกว่า
ปฏิบัติการดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวของเหล่าเกมเมอร์ โดยไม่มีข้อมูลว่าหน่วยงานเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลอย่างไร และเก็บข้อมูลไปมากน้อยแค่ไหน
โฆษกของบริษัท บริซซาร์ด เอนเตอร์เทนเมนต์ ผู้สร้างเกมเวิร์ลด์ ออฟ วอร์คราฟ กล่าวว่า ทั้ง NSA และ GCHQ ไม่ได้มีการขออนุญาตในการเก็บข้อมูลภายในเกมแต่อย่างใด และพวกเขาก็ไม่ทราบเรื่องการสอดแนมในเกมมาก่อน ทางด้านบริษัทไมโครซอฟท์ผู้ผลิต Xbox ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ ต่อการเปิดโปงในเรื่องนี้
ทางด้าน NSA ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน ขระที่ GCHQ กล่าวว่าพวกเขาปฏิบัติการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดและอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นโดยมีการตรวจสอบจากคณะกรรมธิการด้านข่าวกรองของรัฐและกรรมการด้านความมั่นคง
ธุรกิจไอทียักษ์ใหญ่เรียกร้องสหรัฐฯ เปลี่ยน กม.การสอดแนม
บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ได้แก่, แอปเปิ้ล, กูเกิ้ล. ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ก,ยาฮู, ลิงค์อิน และเอโอแอล ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงก็หมายการสอดแนมและให้มีการสั่งห้ามการเก็บกรองข้อมูลจำนวนมากเพื่อทำให้ประชาชนกลับมามี "ความไว้วางใจต่ออินเตอร์เน็ต"อีกครั้ง
โดยบริษัทไอทีเหล่านี้อ้างว่าการเปิดโปงเรื่องการสอดแนมทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในอินเตอร์เน็ตน้อยลง และกล่าวหาว่าองค์กรสอดแนมเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจของพวกเขา
เดิมทีบริษัทเหล่านี้รู้สึกกังขาต่อการเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนวเดน แต่หลังจากมีหลักฐานในเรื่องนี้ปรากฏออกมาผ่านสื่อต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นประสิทธิภาพการสอดแนมของชาติตะวันตก ทำให้บริษัทเหล่านี้เกรงว่าพวกเขาจะสูญเสียรายได้ด้านการค้ารวมแล้วจากทุกบริษัทราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์
กลุ่มบริษัทไอทียังเห็นด้วยกับกลุ่มเรียกร้องปฏิรูปกฏหมายในสภาคองเกรส ในเรื่องที่ว่า NSA ไม่ควรได้รับอนุญาตให้เก็บข้อมูลจำนวนมากจากบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เข้าข่ายผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายเพื่อเป็นการสังเกตวิถีปฏิบัติหรือเก็บไว้ใช้ในอนาคต พวกเขาบอกอีกว่าการยื่นคำร้องขอให้บริษัทเหล่านี้เผยแพร่ข้อมูลของบุคคลควรถูกจำกัดภายใต้กฏหมายใหม่ที่มีการจำกัดอยู่ภายใต้กรณีเฉพาะ โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และความเชื่อมั่นในอินเตอร์เน็ต
เรื่องนี้ทำให้บริษัทไอทีมีความเห็นตรงกันข้ามกับไดแอนน์ เฟียนสไตน์ ประธานกรรมการข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐฯ ผู้สนับสนุนกฏหมายอีกฉบับหนึ่งที่ส่งเสริมให้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีสิทธิในการเก็บข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเดอะ การ์เดียนระบุว่าพลังในการล็อบบี้ของกลุ่มบริษัทไอทีอาจส่งอิทธิพลถึงกระบวนการปฏิรูปกฏหมายในสภาซึ่งถกเลื่อนพิจารณาออกไปหลังเกิดเหตุถาวะชะงักงันด้านงบประมาณในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา แต่กำลังจะกลับมาเป้นประเด็นหลักในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้
เรียบเรียงจาก
World of Spycraft: NSA and CIA Spied in Online Games, ProPublica, 09-12-2013
Xbox Live among game services targeted by US and UK spy agencies, The Guardian, 09-12-2013
Twitter, Facebook and more demand sweeping changes to US surveillance, The Guardian, 09-12-2013