28 พ.ย. 2556 - มูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่ายออกแถลงการณ์ต่อกรณีสถานการณ์ทางการเมือง ฉบับที่ 2 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
นับจากแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่มูลนิธิฯ เสนอข้อกังวลจากการต่อต้าน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาแข่งในเดือนตุลาคม สถานการณ์ทางการเมืองทวีความร้อนแรง จนนำมาสู่การบุกยึดสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัด และการตั้งเวทีชุมนุมใหญ่ของทั้งเครือข่ายต้านระบอบทักษิณ และการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ท่าทีของแกนนำ ผู้ชุมนุม และทุกภาคส่วนของสังคม ล้วนแต่เป็นการเพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง มีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง กลียุค และภาวการณ์รัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ในที่สุด เพราะความห่วงใยในบ้านเมืองและความยึดมั่นในระบอบการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย มูลนิธิฯและเครือข่าย จึงขอเสนอจุดยืนต่อสถานการณ์และข้อเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่าย โดยเฉพาะแกนนำในการชุมนุม ให้หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดปลุกระดม ยั่วยุ หรือชี้นำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มบุคคลต่างความคิด หลีกเลี่ยงการเคลื่อนมวลชนเข้าสู่การปะทะเผชิญหน้ากัน ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองตามหลักสิทธิพลเมือง แต่ต้องยึดมั่นในการเคารพความคิดเห็นต่าง เพราะความคิดเห็นที่หลากหลายคือธรรมชาติของประชาธิปไตย และการยอมรับความเห็นต่างยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกระบวนการประชาธิปไตย
2. มูลนิธิฯและเครือข่าย เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางของตนเอง หากแต่การมีส่วนร่วมนั้นจะต้องอิงอยู่กับหลักการของประชาธิปไตยโดยเฉพาะหลักการพื้นฐานที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน ข้อเสนอของแกนนำที่นำเสนอหนทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอ “รัฐบาลประชาชน” “ศาลประชาชน” หรือ “สภาประชาชน” แกนนำต้องออกมาอธิบายถึงการได้มาซึ่งข้อเสนอดังกล่าวอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด หรือกล่อมเกลาประชาชนให้กระด้างกระเดื่องต่อประชาธิปไตย ทั้งนี้ข้อเสนอในการก้าวข้ามทางตันของประเทศควรยึดมั่น ในหลักการสากลว่าด้วยกระบวนการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และรัฐธรรมนูญ
3. ขอให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสติและวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากสื่อสารมวลชนและการปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมเพื่อป้องกันไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การปลุกปั่นอันนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนต่อประชาชนด้วยกันเอง
4. ขอเรียกร้องให้ กองทัพ องค์กรอิสระ หน่วยงานราชการ สถาบันตุลาการและสถาบันหลักของประเทศ ยึดมั่นในระบอบการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนหรือใช้อำนาจ ผ่านการรัฐประหาร, หรือการเรียกร้องเสนอผู้นำโดยยก “มาตรา 7”มาใช้ ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยเผชิญกับการแก้ไขปัญหาโดยการใช้รัฐประหารมากถึง15 ครั้งซึ่งเกินพอแล้ว ซ้ำร้ายบาดแผลจากการรัฐประหาร 2549 เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าการเข้ามาแทรกแซงและแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทยด้วยวิธีการนอกระบบ เพื่อสนองผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นไม่ใช่ทางออก หากเป็นการนำประเทศถอยหลังและทำลายการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หากกลุ่มบุคคล องค์กรหรือสถาบัน กำลังมีความคิดที่จะเรียกร้องหรือตระเตรียมการเพื่อที่จะให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง มูลนิธิฯและเครือข่าย ขอเรียกร้องให้ท่านยุติและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด
5. ทั้งนี้ มูลนิธิฯและเครือข่าย ต้องขอแสดงความชื่นชมต่อความพยายามของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการใช้กำลังหรือความรุนแรงเข้าปะทะและสลายการชุมนุม รัฐบาลและทุกฝ่ายร่วมทั้งผู้ชุมนุมต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ความรุนแรงนั้นไม่ใช่ทางออกหรือการยุติปัญหา หากเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์การเมือง ณ ขณะนี้ให้ร้อนแรงขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ
6. หากรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีที่จะยุติ ซ้ำร้ายมีสถานการณ์นำไปสู่การยึดอำนาจจากนอกระบบ ก็ขอให้รัฐบาลแสดงความเป็นผู้นำโดยการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน และใช้เสียงประชามติผ่านการเลือกตั้ง โดยโปร่งใส และยุติธรรมตามหลักการจัดการเลือกตั้งสากล เพื่อการยอมรับของประชาชนทุกฝ่ายรวมทั้งการแสดงออกถึงความเป็นอารยะแก่สายตานานาประเทศ ซึ่งเป็นทางออกของประเทศให้ธำรงไว้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
วิกฤตของประเทศครั้งนี้จะนำพาความสูญเสียอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากทุกภาคส่วนยังคงเมินเฉยต่อการแก้ไขปัญหาและดึงดันต่อสู้ให้ได้มาซึ่งชัยชนะท่ามกลางความรุนแรง มูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน
ด้วยความยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
มูลนิธิศักยภาพชุมชน
29 พฤศจิกายน 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai