29 พ.ย. 2556 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่ากลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพ ร่วมกันแถลงถึงสถานการณ์การเมือง ว่า สถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันที่มีประชาชนออกมาชุมนุมนับล้านคนอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องตั้งแต่การคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยผลักดันให้นิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอรัปชั่น และมีผลต่อเนื่องกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของส.ว.ว่า ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา ส.ส.และส.ว. 312 คนได้กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ ทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นบุคคลในรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว แสดงให้เห็น ว่า รัฐบาลและบุคคลในพรรคเพื่อไทยจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 3 อาจเข้าข่ายการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง และเป็นการเพิ่มเติมความรุนแรงของวิกฤตศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลให้มากยิ่งขึ้น
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทางกลุ่ม 40 ส.ว.มีความห่วงใยต่อสถานการณ์เป็นอย่างยิ่ง จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี 5 ข้อ คือ 1.นายก ฯ ต้องตระหนักว่าประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และประชาชนมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยกระทำการต่อต้านด้วยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐต้องให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม ตราบใดที่ยังอยู่ในขอบข่ายรัฐธรรมนูญ 2. นายกฯต้องตระหนักและยอมรับความเป็นจริงว่าปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมามีรากฐานของสาเหตุมาจากพฤติการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ รวมไปถึงพฤติการณ์การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของบุคคลในตระกูลชินวัตร นำไปสู่การเมืองระบบตัวแทนที่นายกฯต้องฟังคำสั่งจากบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ปัญหาดังกล่าวได้สะสมต่อเนื่องจนนำไปสู่ปรากฏการณ์การไม่ยอมรับ “ ระบอบทักษิณ ”
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า 3. การที่นายกฯ ในฐานะส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กลับดึงดันนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ขอพระราชทานกลับคืน ตลอดจนการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ เป็นเหตุให้สังคมตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาลต่อไป นายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลจึงควรต้องแสดงความรับผิดชอบและสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรมทางการเมืองด้วยการลาออก หรือการยุบสภา 4.นายกฯในฐานะกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ต้องไม่ใช้ดีเอสไอมาสนับสนุนกระบวนการข่มขู่ คุกคามตุลาการ เช่น กรณีที่ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา ฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ และหากดีเอสไอมีการดำเนินการนายกฯจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และ 5. นายกฯและบุคคลในตระกูลชินวัตรต้องเสียสละ เพื่อประโยชน์และความสงบสุขของประเทศชาติ แม้ว่า อาจจะรู้สึกเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม เพื่อให้ชาติผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ด้วยการให้สัญญาประชาคม ว่า จะไม่เกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าโดยตรง หรือผ่านตัวแทน ทั้งนี้กลุ่ม 40 ส.ว.จะตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะส่งเรื่องไปยังศาลและองค์กรอิสระให้ตรวจสอบและวินิจฉัยเพื่อให้ระบบการปกครองอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม และเป็นที่พึ่งของประชาชนต่อไป
นายคำนูณ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังไม่ได้ทูลขอพระราชทานร่างพ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญคืนในขณะนี้ สะท้อนว่ายังคงมีการกระทำที่ไม่ยอมรับอำนาจศาล เชื่อว่าจะทำให้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ โดยในอดีตที่ผ่านมาหากร่างกฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกัน ตามประเพณีปฏิบัติที่มีมานาน นายกฯจะไม่รีรอขอพระราชทานคืนร่างกฎหมายที่มีความผิดพลาด ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการก็จะทำให้กระบวนการการตรากฎหมายในรัฐธรรมนูญยังคงเดินต่อไป กล่าวคือ ถ้าสถาบันพระกษัตริย์ไม่ได้คืนกฎหมายภายใน 90 วันรัฐสภาก็สามารถหยิบยกมาพิจารณา และยืนยันเสียงจำนวน 2 ใน 3 ได้ ก็จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ศาลวินิจฉัย ว่า มีปัญหายังคงมีอยู่ต่อไป และในขณะนี้ที่ปล่อยให้เรื่องอยู่ในกระบวนการภายในของสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงการแช่แข็งร่างกฎหมายที่มีปัญหาเท่านั้น
“การที่นายกฯ ประกาศว่าพร้อมที่จะเปิดเวทีเจรจานั้น ผมคิดว่า ยังไม่เหมาะสม เพราะนายกฯ ถือเป็นต้นเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตามในอดีตจะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้ามาช่วยคลีคลายสถานการณ์การเมือง แต่ขณะนี้มองว่า ผู้ใหญ่ซึ่งมี นายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธาน 3 ศาล และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อฝ่ายการเมืองไม่ได้รับความไว้วางใจ จึงเห็นว่าประธาน 3 ศาลและประธานองค์กรอิสระฯควรจะเป็นคนกลางเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน” นายคำนูณ กล่าว
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์