22 พ.ย. 2556 จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Chaturon Chaisang’ (ดู ช่วง 1และ 2) เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลงมติ 6 ต่อ 3 ว่าเนื้อหาการแก้ไขขัดรัฐธรรมนูญ และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่ากระบวนการแก้ไขเช่น เอกสารประกอบการพิจารณา ระยะเวลาการแปรญัตติ การลงคะแนนแทนกัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยกคำร้องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดย จาตุรนต์ เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ทั้งรับคำร้อง พิจารณากระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผลของคำวินิจฉัยเท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว และปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากับปิดทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางรัฐสภา ปิดทางที่จะทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งคำวินิฉัยนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
ดูเหมือนจะมีคนที่ดีใจอยู่บ้างที่ศาลไม่ได้สั่งยุบพรรคการเมือง แต่ก็คงจะดีใจอยู่ได้เดี๋ยวเดียว พอทำความเข้าใจถึงความหมายของคำวินิจฉัยและวิเคราะห์ผลที่จะตามมาแล้ว คนที่พอมีความเข้าใจหลักประชาธิปไตยก็คงเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยนี้เลวร้ายเพียงใดและจะส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติได้มากเพียงใด
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ไปทั้งๆที่ไม่มีอำนาจ คือไม่มีอำนาจรับคำร้องมาพิจารณาตั้งแต่ต้นเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 68 แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลฯก็ตีความว่ามีอำนาจรับคำร้อง
ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลฯมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ศาลฯก็วินิจฉัยเอาเองว่ามีอำนาจ
คำร้องนี้ไม่มีมูลที่จะรับคำร้อง แต่ศาลฯก็รับคำร้อง
ศาลไม่มีอำนาจที่จะพิจารณากระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ตรวจสอบ อำนาจในการวินิจฉัยข้อบังคับเป็นของรัฐสภา ศาลฯไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยการใช้ข้อบังคับแต่ศาลก็ไปวินิจฉัย
ข้อบังคับของรัฐสภานั้นถ้าเห็นต่างกันเขาก็ให้ที่ประชุมวินิจฉัย จะงดเว้นการใช้ข้อบังคับเสียก็ได้ด้วย ศาลฯมาดูตรงกลางทางแล้วก็บอกว่าไม่ทำตามข้อบังคับ ต่อไปถ้าสภาวินิจฉัยการใช้ข้อบังคับไปทางใดทางหนึ่งแล้วศาลฯไม่เห็นด้วยก็สามารถวินิจฉัยได้ตามใจชอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ
การวินิจฉัยในประเด็นกระบวนการนี้เลยเถิดไปถึงขั้นถือว่าเป็นการกระทำให้ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย เป็นการวินิจฉัยว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่กระทำผิดร้ายแรงโดยที่ศาลฯไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดๆรองรับเลยแม้แต่น้อย
คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญว่าขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความเสียหายให้แกประเทศชาติและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ศาลฯอ้างหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมาตัดสินว่าร่างแก้ไขของรัฐสภาขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเนื่องจากเปลี่ยนองค์ประกอบที่มาของวุฒิสภาไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่ากับวินิจฉัยว่าองค์ประกอบและที่มาของวุฒิสภาจะต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่คือต้องมาจากการสรรหา แต่งตั้งด้วยเสมอและจะแก้ไขในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอันขาด
ศาลฯตัดสินว่าการแก้ให้แตกต่างจากปัจจุบันเท่ากับเป็นการกระทำให้ได้อำนาจการปกครองฯที่เป็นความผิดร้ายแรง
ทั้งหมดนี้ศาลไม่ได้อาศัยบทบัญญัติใดๆในรัฐธรรมนูญ แต่ใช้ความเห็นของเสียงส่วนใหญ่คือคน 5 คน
ใครๆย่อมมีความเห็นต่างกันได้ว่าที่มาของสว.ควรเป็นอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ความเห็นของตนมาตัดสินว่าที่มาของสว.จะต้องเป็นอย่างไรไม่ได้ ศาลฯไม่มีอำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจใช้ความเห็นมาตัดสินหรือบัญญัติรัฐธรรมนูญคือรัฐสภา
ที่เลวร้ายมากคือการวินิจฉัยของศาลฯมีผลเท่ากับเป็นการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้วว่าใครจะแก้รัฐธรรมนูญในสาระสำคัญให้ต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้อีกแล้ว ตราบใดที่ตุลาการคณะนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่
คำวินิฉัยนี้ขัดต่อหลักปรระชาธิปไตยที่ศาลฯอ้างเป็นวรรคเป็นเวรตรงที่ได้ตัดอำนาจของรัฐสภาที่มาจากประชาชนไม่ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไปทั้งๆที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาจากการรัฐประหารและมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่เต็มไปหมด
คำวินิฉัยนี้ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรงคือปฏิเสธหลักการที่กฎหมายต้องมีที่มาจากประชาชน และการใช้อำนาจของผู้ใดหรือองค์กรใดจะทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ศาลฯกลับใช้อำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจและยังวินิฉัยว่าสมาชิกรัฐสภากระทำผิดร้ายแรงทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลฯในเรื่องนี้ไว้เลย
ส่วนที่ว่าคำวินิจฉัยนี้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตยก็คือเมื่อศาลได้ปิดทางแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เท่ากับปิดทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางรัฐสภา ปิดทางที่จะทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย
การที่บ้านเมืองมีกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยึดหลักนิติธรรมย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง ไม่สงบสุข แต่ที่จะเลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อกติกาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเหล่านั้นไม่มีใครแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ด้วย
หายนะอยู่เบื้องหน้าแล้ว ประเทศไทย