นักวิชาการวิเคราะห์รูปแบบการชุมนุมสากล ชี้รัฐส่วนใหญ่ใช้กำลังคุมชุมนุมน้อยลง ใช้เจรจา-ควบคุมแบบแนบเนียน มองตำรวจไทยปรับตัว ส่วนม็อบ 24 พ.ย.ยังไร้ทิศทาง
22 พ.ย.2556 ตอนหนึ่งในการเสวนาสาธารณะ เรื่อง การแสดงออกทางการเมือง การแทรกแซงโดยรัฐ และการยุติการไม่รับผิด ในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษาและศูนย์ศึกษานโยบาย ที่อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงงานที่กำลังศึกษาอยู่เกี่ยวกับท่าทีของรัฐต่อการชุมนุม โดยดูรูปแบบการชุมนุม การโต้ตอบของรัฐกับรูปแบบเหล่านั้น และผลต่อความขัดแย้งอย่างไร โดยเริ่มเล่าว่า การประท้วงไม่ได้เกิดจากผู้คนที่ไม่มี agenda แต่เกิดจากการจัดตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการประท้วง โดยช่วงอย่างน้อย 5-6 ปีที่ผ่านมา เห็นรูปแบบของการประท้วงใหญ่ๆ 2 แบบ คือ
1. การเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย หรือจากอำนาจนิยมมาเป็นมีการเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น เช่น เหตุการณ์ที่เกิดในปรากฏการณ์อาหรับสปริง กัมพูชา บังคลาเทศ เนปาล
2. การเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มี 2 กลุ่มใหญ่คือ
1) ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ มีลักษณะองค์กรข้ามพรมแดน เช่น กลุ่มประท้วงการประชุมเวทีเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง G8
2) กลุ่ม Occupy ต่างๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตอบกลับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นหลัก กลุ่มเหล่านี้เติบโตขึ้นต่อสู้กับการควบคุมของธนาคารและรัฐบาล ทำงานในลักษณะเครือข่าย มีการจัดตั้งน้อยกว่าแบบแรก
ส่วนวิธีการรับมือของเจ้าหน้าที่รัฐ มี 3 แบบคือแบบแรก คือการใช้กำลังหรือการปราบปราม มักใช้กันในรัฐบาลอำนาจนิยม หรือเผด็จการ คล้ายกับสิ่งที่เกิดในไทยปี 53 รูปแบบนี้ประเทศแถบยุโรป สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เลิกใช้ไปหมดแล้ว
แบบที่สอง คือ การเจรจา โดยประเทศที่มีประชาธิปไตยลงหลักปักฐานแล้วอย่างยุโรป สหรัฐฯ หันมาใช้การรับมือแบบนี้หลังทศวรรษ 1990 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นใช้วิธีปราบปรามผู้ชุมนุมในการประท้วงต่างๆ อาทิ การต่อต้านสงครามเวียดนาม วิธีแบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจะให้ความสำคัญกับสิทธิของพลเมืองบนท้องถนน และไม่ใช้อาวุธ โดยจะมีการแจ้งรายละเอียด วัน เวลา สถานที่ กิจกรรม ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน จากนั้น ตำรวจจะเปิดทางให้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม การชุมนุมถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ
แบบที่สาม คือ control and command เป็นความพยายามประนีประนอมระหว่างการให้สิทธิพลเมืองแสดงความเห็นผ่านการประท้วงกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ระเบียบของรัฐไว้ จึงควบคุมผู้ชุมนุมแบบแนบเนียน ประกอบด้วยการคุมพื้นที่ ให้เข้าได้เฉพาะบางพื้นที่ แบบเดียวกับที่เกิดในไทยตอนนี้ การปราบปรามจะทำได้เมื่อผู้ชุมนุมละเมิด นอกจากนี้ยังมีการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ผ่านการดักฟังโทรศัพท์และสอดส่องโซเชียลมีเดีย เพื่อทำให้การชุมนุมไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ขัดขวางไม่ให้แกนนำหรือผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ได้
นอกจากนี้ การควบคุมแบบแนบเนียน ยังทำได้ด้วยการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้ชุมนุม เช่น ช่วงหลังมีการห้ามใส่หน้ากาก โดยอ้างว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่าง Black Bloc ที่ปกปิดใบหน้า ใช้ความรุนแรงทำลายข้าวของ หลายประเทศห้ามการใช้เสียง โดยใช้กฎหมายระดับเทศบาลที่ควบคุมระดับเสียงในการดำเนินคดี ขณะเดียวกัน มีการใช้อาวุธชนิดที่แม้ไม่ทำให้ตาย แต่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตในภายหลังได้ รวมถึงมีการลดการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในประเทศตะวันตก มีการใช้กองกำลังแบบบริษัทเข้ามา ซึ่งทำให้รัฐบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบในการสลายการชุมนุมได้
โดยสรุป เสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองบนท้องถนนนั้น มองว่าทำได้ เพราะเป็นมาตรวัดบรรยากาศประชาธิปไตยของสังคม เป็นลู่ทางทางการเมืองนอกจากในสภา แต่ปัจจุบันเห็นการระดมคนออกมาบนท้องถนนโดยขาดทิศทาง เช่น วันที่ 24 พ.ย. ซึ่งมีการระดมคนออกมาบนท้องถนนล้านคน แต่ถามว่ามาทำอะไร จะเห็นว่าไม่มีทั้งแผนว่าจะทำอะไรและถ้าเกิดสถานการณ์จะทำอย่างไร
ทั้งนี้ เสนอว่า ควรพยายามหาทางเลือกในการประท้วงที่ลดความตึงเครียดทางการเมืองบนท้องถนนลง เช่น ใช้อารมณ์ขัน หรือประท้วงในลักษณะงานรื่นเริง ที่ไม่ได้มองอีกฝ่ายเป็นศัตรู ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเมืองบนท้องถนนเป็นวิธีที่เชยมาก
กรณีการจัดการชุมนุมของตำรวจไทย มองว่า ตำรวจปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากการใช้กำลังกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 51 โดยการใช้แก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 คน ทำให้เข็ดตลอดชีวิต ความชอบธรรมขององค์กรและรัฐบาล ที่ตำรวจทำงานให้ช่วงนั้นลดลง ช่วงหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจัดการองค์กรดีมาก มีการจัดการแบบสากล เป็นแบบที่สาม คือ control and command เช่น การปิดพื้นที่ ประกาศเขตห้ามเข้าหลายกิโลเมตร และกันผู้ชุมนุมห่างจากตำรวจ โดยใช้ปูนกั้น ตามด้วยรั้วลวดหนาม และรถตำรวจ รวมถึงประกาศพื้นที่แก๊สน้ำตา ซึ่งนี่เป็นหลักสากล เพื่อรับมือไม่ให้เกิดความรุนแรงและเพื่อไม่ต้องให้ตัวเองต้องรับผิดชอบและเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง
ในช่วงถาม-ตอบ มีผู้เข้างานเสวนาถามว่า การชุมนุมจะยกระดับไปสู่ความรุนแรง เกิดม็อบชนม็อบหรือไม่ จันจิรา ตอบโดยเล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการประท้วงในปัตตานีปี 2547 ซึ่งนำโดยนักศึกษาไทยมุสลิม โดยนักศึกษาให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช้ความรุนแรงแต่จัดตั้งไทยพุทธมาประท้วง คนจึงรู้สึกว่าเป็นแทคติกม็อบชนม็อบ ซึ่งถ้าเป็นจริง จะอันตราย เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐไทยคิดว่า คุมม็อบได้ การเอาคนมาไว้ที่ราชมังคลากีฬาสถาน แม้จะไกลกัน แต่ก็ฮึ่มๆ อันตรายมาก เพราะการจะพาคนมาม็อบ ต้องปลุกระดมความรู้สึกคน ซึ่งเมื่ออยู่บนถนนแล้ว คุมไม่ได้ มีแนวโน้มกลายเป็นความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน