Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

เพื่อไทยแถลง ไม่รับอำนาจศาลรธน.วินิจฉัยที่มา ส.ว.

$
0
0

 

21 พ.ย.2556 พรรคเพื่อไทย แถลง 9 ข้อ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย คำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

คำแถลงของพรรคเพื่อไทย
 
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และให้มีวุฒิสภาจำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 นั้น
 
พรรคเพื่อไทยขอเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ดังนี้
1. การที่สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 312 คน ร่วมเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว ก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดย่อมต้องมาจากการเลือกตั้งของปวงชน ดังที่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายปฏิบัติกัน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือเป็นฉบับประชาชน

2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของรัฐสภา โดยมีข้อห้ามแก้ไขอยู่ 2 ข้อ เท่านั้น คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามทั้ง 2 ข้อ แต่อย่างใด ทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ว่า “รัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291”

3. การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นการกระทำที่ถือได้ว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะถูกร้องขอให้ถอดถอนหรือถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพราะมาตรา 68 เป็นกรณีเกี่ยวกับการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้ แต่การตรากฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการที่รัฐสภากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 บัญญัติ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยรับรองไว้เองอีกโสตหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้ได้

4. ศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในคำวินิจฉัยในลักษณะที่ต้องการตีความขยายความเพิ่มอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เช่นที่ได้เคยทำมาแล้วในคำวินิจฉัย ที่ 18-22/2555 ด้วยการอ้างว่า “ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ... ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญว่าจะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” คำวินิจฉัยทั้ง 2 ครั้งในปี 2555 และ 2556 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตัวแทนของปวงชนที่รับมอบอำนาจมาจากปวงชนเพื่อมาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีที่มาที่ชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรม ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราไม่อาจกระทำได้เลย เพราะถูกขัดขวางโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา ด้วยการตีความรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเอง ไม่ยอมผูกพันตามตัวอักษร และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

5. การอ้างหลักนิติธรรม เป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ มิได้ระบุให้ชัดเจนว่าตามหลักสากลเขาเป็นเช่นไร การขัดกันแห่งผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ถึง 269 บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่ามีความหมายอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่มเติมขึ้นใหม่ โดยไม่ได้ดูที่องค์กรของตนเองเลยว่า ได้กระทำการขัดต่อหลักที่ตนอ้างหรือไม่ เช่น ได้ตัดสินด้วยความเป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 197 และ มาตรา 201 บัญญัติหรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ตุลาการ 3 คน เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก่อน และ 1 ใน 3 คน เคยถูกคัดค้านประเด็นนี้ จนต้องถอนตัวในการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 มาแล้ว แต่คราวนี้ไม่ถอนตัว และอีก 1 คน เคยแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า การลงโทษบุคคลย้อนหลังกระทำได้ถ้าไม่ใช่การลงโทษทางอาญา อันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ถูกตัดสิทธิไม่ได้มีโอกาสรับทราบข้อหาและต่อสู้ชี้แจงแต่อย่างใด ดังนั้น หากตุลาการทั้ง 3หรือ 4 คนดังกล่าวต้องถอนตัว ผลของคำวินิจฉัยจะกลับเป็นตรงกันข้าม

6. การที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ขัดต่อมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญ นั้น นับว่าเป็นอันตรายที่สุด เพราะเป็นการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และถ้าอ้างเช่นนี้ การที่มาตรา 309 ขัดต่อมาตรา 3 และมาตรา 6 จะอธิบายกันต่อไปอย่างไร เนื่องจาก มาตรา 3 กำหนดหลักนิติธรรม มาตรา 6 กำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ ประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศ คำสั่งดังกล่าว ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่กฎหมายที่ออกโดยสภา และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย อาจถูกโต้แย้งว่าขัดรัฐธรรมนูญได้หมด เช่นนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดแจ้งที่สุด

7. การก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีการกระทำที่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เป็นการกระทำที่แทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติโดยชัดแจ้ง ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 และมาตรา 89 ที่บัญญัติให้ “ประธานรัฐสภา ....ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นตามข้อบังคับ” ซึ่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 117 บัญญัติว่า “ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย ... ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเด็ดขาด” กับข้อ 45 ที่ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของประธานถือเป็นเด็ดขาด ถ้ามีการประท้วงว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อ 116 ยังให้อำนาจที่ประชุมรัฐสภามีมติให้งดใช้ข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ หากศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเช่นนี้ได้ ก็อาจมีการร้องกันว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับทั้งหลายเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ สภาก็คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เลย

8. เมื่อรัฐสภาได้ลงมติในวาระที่ 3 และนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ จนกว่าจะพ้นเก้าสิบวัน และมิได้พระราชทานคืนมา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจ ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการใช้พระราชอำนาจ และการกระทำในพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ เพราะประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ ประการที่สองเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการตรวจสอบว่า ร่างพระราชบัญญัติใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ให้ตรวจสอบได้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีการทูลเกล้าฯแล้วย่อมจะอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 
9. การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่หากไม่ได้บัญญัติไว้ ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับวงงานหรืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยแท้ ดังเช่นที่รัฐธรรมนูญในอดีตทุกฉบับก่อนปี 2540 วางหลักไว้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดีหรือไม่ ถูกใจหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ย่อมจะถูกตัดสินโดยประชาชนในการเลือกตั้ง และนี่ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ศาลจะก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจนี้แทนไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะเป็นการยึดอำนาจของประชาชนไปใช้เช่นเดียวกับการรัฐประหาร    

                              พรรคเพื่อไทย
                            21 พฤศจิกายน 2556  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles