เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมาสำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่าสืบเนื่องจากกรณีพนักงานในบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ.เชียงใหม่ มากกว่า 300 คน ได้ทำการประท้วงภายในโรงงาน เนื่องจากไม่พอใจที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของคนงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 56 เป็นต้นมา โดยลูกจ้างได้ยื่นข้อเสนอสำคัญ คือ ให้บริษัทกลับไปใช้ขั้นตอนการผลิตเดิมและปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย จนมีการเจรจาต่อรองเรื่อยมา
ความคืบหน้าในการเจรจาล่าสุดเกิดขึ้นในเจรจาครั้งที่สองเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เมื่อนายจ้างได้ยอมรับข้อเสนอของคนงาน 6 จาก 8 ข้อ ส่วนใหญ่อยู่ในเงื่อนไขของการเปลี่ยนสภาพการจ้างงานแบบใหม่ให้กลับไปเป็นแบบเดิม เช่น นำระบบ QC กลับมา ยกเลิกใบเตือน ฯลฯ
ส่วนข้อเสนอของลูกจ้างที่บริษัทยังไม่ตกลง คือ การจ่ายเงินให้พนักงานรายชิ้นที่ทำได้จริงไม่ต่ำกว่า 310 บาท โดยนายจ้างเสนอจ่ายเพียงแค่ 307 บาท และข้อเรียกร้องที่ว่าให้จ่ายโบนัสประจำปี 1 เท่าของเงินเดือนให้เป็นมาตรฐานเดียว มิใช่เฉพาะแต่พนักงานที่เซ็นสัญญาใหม่ หรือเข้าโครงการทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และ 8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น โดยบริษัทอ้างว่าจะพิจารณาในปีหน้า
ด้านสภาพการทำงานนั้น หลังจากที่นายจ้างรับข้อเสนอก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด โดยบริษัทยังคงแจกใบเตือนและพักงานพนักงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งลูกจ้างมองว่า การแจกใบเตือนและพักงานไม่สมเหตุสมผล (อ่านรายละเอียดที่คนงานบ.จอร์จี้เจรจาครั้งที่ 6 ไม่คืบ นายจ้างยันคำเดิม-ไล่แจกใบเตือน พักงาน อ้างทำตามกม.แรงงาน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พ.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนลูกจ้าง 7 คนเข้าเจรจากับตัวแทนกับบริษัทเป็นครั้งที่ 7 แต่ผลยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรคืบหน้า โดยบริษัทยังคงส่งผู้ไม่มีอำนาจตัดสินใจลงมาเจรจา และเลื่อนการเจรจาครั้งต่อไปอีก 1 อาทิตย์ ( 26 พ.ย.56)
ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า สถานการณ์การเจรจาที่ยืดเยื้อครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด โดยเชื่อว่าการถ่วงเวลาไปนานๆจะทำให้แรงงานยอมไปเอง พร้อมแนะสหภาพฯที่เพิ่งตั้งมาไม่นานนี้ว่าเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นมากขึ้น
"เข้าใจว่านายจ้างมีประสบการณ์ไม่มากในการจัดการกับแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจ้างประเมินความสามารถของแรงงานจอร์จี้ในการยืนหยัดต่อสู้ต่ำเกินไป จึงใช้วิธีการเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆโดยไม่ยอมเจรจาหรือไม่ยินยอมกับข้อเสนอของสหภาพฯ นายจ้างเชื่อว่า การถ่วงเวลาไปนานๆจะทำให้แรงงานอาจจะยอมไปเอง"
"โดยปกติแล้วการตั้งสหภาพฯขึ้นมาต่อรองไม่จบง่ายๆขนาดนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การรณรงค์ของแรงงานในช่วงแรกเริ่มที่ต้องระดมการสนับสนุนจากคนงานในโรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการตั้งสหภาพ สหภาพต้องดึงแรงงานในโรงงานให้มาเป็นสมาชิกของสหภาพให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และใช้สหภาพในการต่อรอง"
"การเจรจาต่อรองกับนายจ้างให้ได้ผล อาจจะต้องมีการรณรงค์ นอกโรงงาน คงต้องอาศัยสื่อและสหภาพแรงงานอื่นๆที่ใกล้เคียง เช่น ลำพูน เป็นตัวช่วยในการสนับสนุน การรณรงค์กับสื่อคงต้องมุ่งไปที่การเปิดโปงความชั่วร้ายของบริษัทนี้ในระดับนานาชาติ"
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ความเคลื่อนไหวของบริษัทฯ ค่อนข้างเงียบ และไม่ยอมออกมาให้ข่าวแต่อย่างใด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai