เนื่องในโอกาสวันสิทธิเด็ก องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กร่วม คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม เครือข่ายผู้หญิง แรงงานนอกระบบ อ่านคำประกาศหนุนแนวคิดเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก
21 พ.ย.2556 คณะทำงานด้านเด็ก ประกอบด้วย สหทัยมูลนิธิ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล ร่วมกับคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา เผยแพร่คำประกาศ เนื่องในโอกาสวันสิทธิเด็ก 20 พ.ย.2556
คำประกาศดังกล่าว สนับสนุนแนวคิดเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ซึ่งตอบสนองต่อความจำเป็นของเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงหกขวบ ซึ่งจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก
คำประกาศตอนหนึ่งระบุว่า แนวคิดเงินอุดหนุนฯ สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถป้องกันการทอดทิ้งเด็กให้เป็นกำพร้า ช่วยเหลือหลายครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือประสบปัญหาเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย การได้รับเงินสนับสนุนสามารถแบ่งเบาภาระทางการเงินบางส่วนของครอบครัว เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่ เครือญาติ ได้เอาใจใส่ลูกหลานของตนเองมากขึ้น และเป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับประชาชนทุกคน ให้รับโอกาสการมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างเท่าเทียม เด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้รับโภชนาการที่ถูกสุขลักษณะ มีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพื่อที่จะให้พวกเขาสามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ดีขึ้นได้
นอกจากนั้นโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยยังเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างการตระหนักถึงความสำคัญ ความรู้และความเข้าใจของการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พ่อแม่หันมาสนใจความต้องการของเด็กในฐานะพื้นฐานของการสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับสังคม
โครงการเงินอุดหนุนฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยมุมมองใหม่ และระยะเวลาตลอดจนความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อสร้างอนาคตให้กับเด็กและสังคมไทย ให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง
ทั้งนี้ การอ่านคำประกาศเกิดขึ้นใน การสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัย กับการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2556 ที่หอประชุมพุทธทาส (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)
เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2556 ที่หอประชุมพุทธทาส (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ) คำประกาศเนื่องในโอกาสวันสิทธิเด็ก 20 พฤศจิกายน 2556 ประเด็นปัญหาและข้อจำกัดของการพัฒนาเด็ก ในอนาคตสังคมไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนของประชากรเด็กต่อผู้อายุอยู่ที่ 1 ต่อ 3ซึ่งหมายความว่าเด็กรุ่นต่อไปจะต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากกว่าเด็กในอดีตอย่างไรก็ตามความกังวลต่อสถานการณ์ในอนาคตกลับไม่ได้อยู่ที่จำนวนประชากรเด็กที่ลดลง แต่กลับอยู่ที่ปัญหาเกี่ยวกับเด็กจำนวนมากซึ่งยังคงต้องการทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาทางโภชนาการซึ่งมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น เด็กที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ สภาพร่างกายจะแคระแกรน และการขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กมีภาวะไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่เฉลียวฉลาด หรืออาจมีความพิการซ้ำซ้อน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาสุขภาพเด็กอื่นๆ ปัญหาการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา คุณภาพการศึกษาและการพัฒนาตนเองของเด็ก ปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กเติบโตอย่างเหมาะสม เป็นต้น ในปัจจุบันผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่มีรายได้น้อยซึ่งต้องแบกรับภาระทางการเงินมากเป็นพิเศษ ทำให้ขาดเวลาในการดูแลเอาใจใส่ลูกหลานของตนเอง ในบางกรณีผู้สูงอายุของครอบครัวกลายเป็นผู้รับความผิดชอบในการดูแลเด็กเล็กแทน ปัญหาเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยยังถูกสะท้อนให้เห็นผ่านตัวอย่างอื่นๆ เช่น การขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กเล็กในกรณีของแม่อายุน้อยที่ตั้งครรภ์อย่างไม่พร้อม สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอบายมุข ความรุนแรง และสิ่งยั่วยุ ทำให้เด็กส่วนหนึ่งในสังคมไทยที่ขาดการเอาใจใส่เติบโตขึ้นบนรากฐานที่แสนเปราะบาง หรือ ในกรณีของครอบครัวยากจนที่มีเด็กพิการซึ่งขาดแคลนเงินสำหรับจ่ายเพื่อฟื้นฟูและบำบัดเด็ก จนทำให้อาการพิการทรุดลงหรือเด็กเสียชีวิตในที่สุด สังคมไทยปัจจุบันยังคงมุ่งความสนใจในการลงทุนในเด็กวัยเรียน เงินจำนวนมากถูกใช้ไปกับการส่งเด็กเข้าโรงเรียนกวดวิชาและส่งเสริมทักษะพิเศษอื่นๆ แต่กลับให้ความสำคัญต่อการดูแลและพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยไม่มากนัก ทั้งๆที่เป็นรากฐานเริ่มต้นของชีวิต สิ่งที่ควรส่งเสริม เติมเต็มศักยภาพให้กับเด็ก การดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นควรให้ความสำคัญในปัจจัยที่รอบด้าน ตั้งแต่ด้านสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ ไปจนถึงทักษะทางวิชาการไปจนถึงความมั่นคงของสภาวะอารมณ์ ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดเริ่มจากการเห็นความสำคัญของการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างเหมาะสม สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและการได้รับโภชนาการที่เหมาะสมของทั้งแม่ที่ตั้งครรภ์และของเด็กในช่วงปฐมวัย เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตั้งแต่กำเนิด ที่ต้องการการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสมเพื่อให้เขามีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยและได้รับการบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากความผิดปกติของพวกเขา นอกเหนือไปจากเรื่องสุขภาพที่แข็งแรงของร่างกายแล้ว เด็กในช่วงปฐมวัยต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการด้านความรู้ อารมณ์ และสังคม ดังนั้น การพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัย จึงควรพิจารณาในเรื่องการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก แนวคิดเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของเด็กปฐมวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงหกขวบ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กเล็ก แนวคิดเงินอุดหนุนฯ สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถป้องกันการทอดทิ้งเด็กให้เป็นกำพร้าช่วยเหลือหลายครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือประสบปัญหาเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัยการได้รับเงินสนับสนุนสามารถแบ่งเบาภาระทางการเงินบางส่วนของครอบครัวเพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่ เครือญาติ ได้เอาใจใส่ลูกหลานของตนเองมากขึ้น และเป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคมให้กับประชาชนทุกคนให้รับโอกาสการมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีอย่างเท่าเทียม เด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้รับโภชนาการที่ถูกสุขลักษณะ มีสุขภาพที่แข็งแรง ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเพื่อที่จะให้พวกเขาสามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ดีขึ้นได้ นอกจากนั้นโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยยังเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างการตระหนักถึงความสำคัญ ความรู้และความเข้าใจของการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พ่อแม่หันมาสนใจความต้องการของเด็กในฐานะพื้นฐานของการสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับสังคม โครงการเงินอุดหนุนฯ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยมุมมองใหม่ และระยะเวลาตลอดจนความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย เพื่อสร้างอนาคตให้กับเด็กและสังคมไทยให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง คณะทำงานด้านเด็ก สหทัยมูลนิธิ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา |
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai