20 พ.ย.2556 ขณะที่ทั่วโลกกำลังฉลองวันเด็กสากลในวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ยูนิเซฟเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจกับเด็กหลายล้านคนทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการถูกทำร้าย ซึ่งยังเกิดขึ้นโดยปราศจากคนเหลียวแลและไม่มีการรายงานข่าว
“สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ การทำร้ายเด็กเกิดขึ้นในเงามืดของสังคม จับไม่ได้ ไม่มีข่าว และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือมักได้รับการยอมรับ” แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูนิเซฟกล่าว
“เราทุกคนมีหน้าที่ต้องทำให้คนเห็นเด็กที่ไม่มีใครมองเห็น – เริ่มตั้งแต่รัฐบาลซึ่งต้องบังคับใช้กฏหมายห้ามไม่ให้มีการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่จะต้องไม่เพิกเฉยเมื่อพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการทำร้ายเด็ก”ผอ.ยูนิเซฟกล่าว
เขากล่าวอีกว่า การกระทำรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ รวมถึงการกระทำรุนแรงภายในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศและการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง โดยมักพบในสถานการณ์สงครามและความขัดแย้ง โดยทำให้เกิดความบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเด็กๆ
“ความรุนแรงต่อเด็กมิเพียงทำให้เกิดบาดแผลกับเด็กแต่ละคนเท่านั้น หากยังเป็นการบ่อนทำลายโครงสร้างของสังคม มีผลกระทบต่อความสามารถในการผลิต คุณภาพชีวิตและความเจริญของสังคมโดยรวมอีกด้วย” เลคกล่าว “ไม่มีสังคมใดที่จะเพิกเฉยต่อความรุนแรงต่อเด็กได้” เลคกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กอยู่ เช่น การให้ความช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัว และผู้ดูแลเด็ก การสร้างเสริมทักษะให้แก่เด็กๆ ในการป้องกันตัวเองจากความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมที่ยอมรับเรื่องความรุนแรง ตลอดจนการบังคับใช้นโยบายและกฏหมายคุ้มครองเด็กอย่างจริงจัง และเมื่อต้นปีนี้ ยูนิเซฟ สำนักงานใหญ่ได้จัดทำโครงการ ‘ยุติความรุนแรงต่อเด็ก’ #ENDViolence Against Children เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ และสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นเพื่อรับมือกับปัญหาระดับโลกนี้
ทั้งนี้ วันเด็กสากลเป็นสัญลักษณ์ของการก่อตั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 24 แล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา อนุสัญญาฯ นี้เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งให้ความคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชนแก่เด็กทุกคน โดยระบุว่าเด็กทุกคนในทุกหนทุกแห่ง มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด เจริญเติบโตพัฒนา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ยูนิเซฟยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานของสายด่วนช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ (Child Helpline International – CHI) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกอันประกอบไปด้วยสมาชิกสายด่วน 173 สายใน 141 ประเทศ และฉลองครอบรอบปีที่ 10 ในวันนี้เช่นกัน ในรายงานที่เปิดเผยทั่วโลกวันนี้ CHI ระบุว่าความรุนแรง การทำร้ายและทอดทิ้งเด็ก เป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนติดต่อเข้ามาทางสายด่วน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17 ของสายที่ติดต่อเข้ามาทั้งหมดภายใน 10 ปีที่ผ่านมา