เปิดเนื้อหาละเอียด - ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขที่มาส.ว. ผิดรัฐธรรมนูญ ให้คง ส.ว.สรรหาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล - กระบวนการแก้ไขมิชอบหลายประการ แต่ไม่เข้าข่ายยุบพรรค พร้อมแสดงแนวคิดว่าด้วยหลักนิติธรรมและที่ทางของศาลรัฐธรรมนูญในระบบการเมือง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)
20 พ.ย.2556 เวลาประมาณ 13.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยล่าช้าจากกำหนดเดิมไปราว 2 ชั่วโมง ท่ามกลางความสนใจของประชาชนและการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แทบทุกช่อง
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ชี้ว่าเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดเต็มด้านล่าง) ส่วนกระบวนการในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประกอบการพิจารณา, ระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติ, การลงคะแนนเสียงที่มีการลงคะแนนแทนกัน ก็ล้วนไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ในส่วนคำร้องให้มีการยุบพรรคที่เกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข
คำวินิจฉัยโดยละเอียดในส่วนของเนื้อหา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
“การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบโดยแก้ไขหลักการคุณสมบัติ ส.ว.หลายประการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวคือ ให้ ส.ว.สรรหาเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันเพื่อให้โอกาสกับประชาชนทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของวุฒิสภาให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างรอบคอบ ทั้งยังกำหนดคุณสมบัติของส.ว.ให้เป็นอิสระจากการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งของส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็น ส.ว. และกำหนดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองตำแหน่งทางการเมืองไว้เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น
รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ให้มีดุลยภาพระหว่างกันโดยกำหนดบทบาทของวุฒิสภาให้เป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ถ่วงดุลอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตรวจสอบถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อไปในทางจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังกล่าว หากส.ว.และส.ส.มีความสัมพันธ์กันย่อมไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาอันเป็นการขัดต่อหลักการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยปรากฏแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อสูญสิ้นศรัทธาและสามัคคีธรรมของหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัวหรือสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของปวงชนเพื่อที่จะทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา นำไปสู่การผูกขาดอำนาจและขาดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขาอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกปครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้อำนาจที่ไมได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงลงประชามติจากมหาชนชาวไทย
การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว อันเป็นที่มาเหมือนกับ ส.ส. จึงย่อมเป็นเหมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันอันเป็นลักษณะของสองสภาและทำให้สาระสำคัญของระบบสองสภาสูญสิ้นไป การแก้ไขให้คุณสมบัติของส.ว.เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองหรือส.ส.ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบอำนาจและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของรัฐสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลกัน อันเป็นกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
นอกจากนี้การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญในมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. ที่จะบัญญํติขึ้นใหม่ โดยเมื่อรัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้กม.ที่ปรับปรุงดังกล่าวโดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับหลักการดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจโดยอาศัยเสียงข้างมากปราศจากการตรวจสอบ
อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, มาตรา 126 วรรคสาม มาตรา 251 และมาตรา 302 และวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นหลักการสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 อันเป็นการกระทำให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 ฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ผู้ร้องให้ยุบพรรคทีเกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการพรรคเหล่านั้นเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคสามและวรรคสี่ จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้"
คำวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการ พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) เอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 เป็นคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้เสนอร่างและคณะ ยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างที่จัดพิมพ์ใหม่ที่มีข้อความแตกต่างจากร่างเดิมหลายประการในหลักการ โดยเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 141 มีผลให้ ส.ว. ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครส.ว.ได้อีกไม่รอให้พ้น 2 ปี เป็นลักษณะการดำเนินการที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งความจริงว่าได้จัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรค 1
2) การกำหนดวันแปรกญัตติ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การอภิปรายแสดงความเห็นในการบัญญัติกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา แต่ปรากฏว่า ในวาระที่หนึ่งและสองประธานในที่ประชุมได้ตัดสิทธิผู้อภิปรายและผู้สงวนคำแปรญญัติถึง 50 กว่าคน แม้การปิดการอภิปรายจะเป็นดุลยพินิจประธานการประชุม แต่การใช้ดุลยพินิจและเสียงข้างมากต้องไม่ตัดสิทธิของการทำหน้าที่ของเสียงข้างน้อย นอกจากนี้การนับระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ถูกต้อง ประธานได้กำหนดเวลายื่นญัติภายใน 15 วันหลังสภารับหลักการ แทนที่จะเป็น 15 วันหลังจากการลงมติเพื่อเลือกว่าจะใช้เวลา 15 วันหรือ 60 ตามที่มีผู้เสนอ ส่งผลให้เหลือเวลาเสนอคำแปรญัติเพียง 1 วัน เห็นว่า การนับเวลาไม่อาจนับย้อนหลังได้ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติ เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคหนึ่งและสอง ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองด้วย
3) การลงคะแนนเสียง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ร้องมีประจักษ์พยานและวิดีทัศน์ ให้เห็นชัดเจนว่า มีสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแทนผู้อื่น โดยใช้บัตรแสดงตนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนครั้งละหลายใบ หมุนเวียนเข้าไปในเครื่องอ่านบัตรติดต่อกันหลายครั้ง การดำเนินการดังกล่าวนอกจากละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดหลักการให้สมาชิกมีเพียงหนึ่งเสียง มีผลให้เป็นการออกเสียงที่ไม่ชอบ
สำหรับประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยหรือไม่นั้น ศาลระบุว่า
ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในอันที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 อำนาจคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ
เจนตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กรหรือสถาบันทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรมมีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองหยิบยกหมวดกฏหมายใดมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนค้ำจุนในอันที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ
อย่างไรก็ดีภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะให้ถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกดขี่ข่มเหงฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผลและขาดหลักประกัน ย่อมทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควรแล้วไซ้จะถือว่าเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลายเป็นรระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศไปอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนหรืออำนาจตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยไม่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการแบ่งการแยกการใช้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กรหรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อทัดทานและคานอำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่ายที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ย่มเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายและนำพาประเทศชาติให้เกิดเสื่อทรุดลงเพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ ซึ่งในการนี้อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือศาล ล้วนถูกจัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา กรณีจึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่านอกจากการใช้อำนาจตามบทกฏหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้วยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใช้การปฏิบัติตามกฏหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่ไปด้วย การใช้หลักเสียงข้างมากโดยมิได้คำนึงเสียงข้างน้อยเพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจท่ามกลางความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มบุคคลกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติหรือการวิวาทบาดหมายและแตกสามัคคีอย่างรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดกับหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตามนัยมาตรา 68
หลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติอันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฏหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งรัฐสภาก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี ศาลก็ดี รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐก็ดีจะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ส่วนหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน มิใช่ของแบบแนวความคิดของบุคคลคนใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่ฐานอำนาจมาจากระบบการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายประการ มีองค์กรหรือสถาบันในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมักอ้างอยู่เสมอว่าตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติ หาใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวมภายใต้หลักนิติธรรมไม่
เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้งหรือชนะการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฏหมายอันเป็นปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย โดยหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันทางสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฏหมายและใช้บังคับกฏหมายและการตีความกฏหมายทั้งปวง
เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องใช่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนุญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้ทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
ที่มาคดีสำหรับคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธร |