ด้านวุฒิสมาชิก "สมชาย แสวงการ"เล็งยื่นศาลคุ้มครองชั่วคราว ให้สภาระงับแก้ไข รธน. เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิจารณาเสร็จสิ้น
ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ช่วงบ่าย วันนี้ (2 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิ์ชี้แจงระหว่างการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ หลังถูกพาดพิงจากผู้อภิปรายหลายครั้ง โดยยืนยันว่า ไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในสมัยเป็นรัฐบาล ก็เคยแก้ไขหลายมาตรา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้มีความมั่นใจ และนำไปสู่หลัก 3 ป. คือ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ที่ดีขึ้น เพื่อการปฏิรูปประเทศ และเพื่อความปรองดอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ที่รัฐสภากำลังพิจารณา ไม่เข้าหลักการดังกล่าว เพราะบางฉบับตัดสิทธิ์ประชาชน รวบอำนาจมากขึ้น เช่น มาตรา 190 ที่ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยเฉพาะการทำหนังสือสนธิสัญญาที่เป็นผลประโยชน์กับต่างประเทศ อีกทั้ง การแก้ไขมาตรา 68 เป็นแนวทางจะแก้ไขทั้งฉบับ เพราะตัดสิทธิประชาชนที่จะร้องศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่มาของ ส.ว.การเลือกตั้ง ไม่ใช่คำตอบ แต่ทำอย่างไรให้ที่มามีความโปรงใส การอ้างว่ายึดตามรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ในการเสนอแก้ไขกลับไม่ยึดตาม การไม่เขียนให้ครบถ้วนว่าจะแก้ไขอย่างไร อาจมองได้ว่าเป็นการรวบอำนาจ โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ว. แบบจังหวัดละคน เป็นกลไกที่ช่วยไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มาลงสมัครเป็นกลุ่มเป็นก้อน หากการเลือกตั้ง ส.ว. เป็นกลุ่มก้อนแล้วจะทำให้ประชาชนเลือกเป็นกลุ่มเป็นก้อน ในขณะที่เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อยืนยันอยากจะได้แบบปี 2540 ทำไมไม่ระบุมา กลับไปเขียนในร่างว่าจะไปกำหนดหลักเกณฑ์เลือก ส.ว. ต่อ ซึ่งเกรงว่าสุดท้ายจะทำให้วุฒิสภาต้องไปอิงกับฐานหรือได้รับอิทธิพลจากพรรคการเมืองมากขึ้น
นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภา เป็นการใช้ความรู้ความสามารถในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมือง ไม่ต้องการให้พะวงกับคะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไป เลยบัญญัติว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นได้วาระเดียวแล้วต้องเว้น ส่วน ส.ว.สรรหา เป็นได้แค่ 3 ปี และ ส.ว. ไม่อนุญาตให้ดำรงตำแหน่งต่อ ต้องเว้นวาระ และอนุญาตให้กลับมาอีกได้วาระเดียว แต่การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่เอาทั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 และไม่เอา 2550 ผลจะทำให้วุฒิสภาจำลองรูปแบบสภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่เวลาลงเลือกตั้งไม่เปิดเผยว่าสังกัดพรรคไหน นี่ไม่ใช่การปฏิรูป ผมไม่อยากใช้คำว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ขอใช้คำว่าสอดคล้องกับแนวคิดรุกคืบ ยึดอำนาจ
โดยนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ไม่รับร่างทั้ง 3 ร่าง เพราะเป็นการตัดสิทธิประชาชน และเป็นการรุกคืบเพื่อยึดอำนาจประชาชน
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ขอสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมรู้ร่วมคิด แบ่งงานกันทำ และยังกังวลว่า การแก้ไขมาตรา 190 จะเป็นการเปิดช่องให้มีการเจรจาธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีวาระซ่อนเร้น และไม่สามารถตรวจสอบได้ และว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้ไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 พร้อมขอให้ยุบพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว คือ พรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล เพราะถือได้ประโยชน์จากมาตรา 237 ด้วย และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิจารณาเสร็จสิ้น
เรียบเรียงบางส่วนจาก: วิทยุรัฐสภา และสำนักข่าวไทย