ทูตวีรชัยวอนเคารพการทำงานภายในและการเจรจากับกัมพูชา ชี้ การประเมินคาดเดาไปก่อนว่าไทยเสียพื้นที่เท่าไหร่ เพิ่มงานหนักเหมือนเอาหินมาผูกหลังทีมเจรจา
วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกประเทศเนเธอแลนด์ ร่วมเสวนา “เบื้องหลังคดีตีความปราสาทพระวิหาร“ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมือเช้าวันที่ 15 พ.ย. 2556
วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกประเทศเนเธอแลนด์
15 พ.ย. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ ร่วมเสวนา “เบื้องหลังคดีตีความปราสาทพระวิหาร“ ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ อธิบายเพิ่ม ไทยได้อะไรบ้าง-เสียอะไรบ้าง
โดยทูตวีรชัยระบุไทยได้สามอย่างหลักๆเป็นสิ่งที่ได้และไม่ต้องเจรจากันอีก ทางการต่างประเทศจบแล้ว
ไทยได้อะไร
หนึ่ง ภูมะเขือไม่ได้รวมอยู่ในคำว่าบริเวณใกล้เคียงตามคำพิพากษา 2505 ซึ่งกัมพูชาเคลม แต่ศาลไม่ได้ตัดวินให้เป็นของไทยเท่าที่ทราบไม่มีประเทศไหนในโลกที่อ้างสิทธิในภูมะเขือ แต่ผมคิดว่าไม่มีในทางปฏิบัติก็คือ น่าจะเป็นของเรา ไม่รู้ว่ากัมพูชาจะว่าอย่างไรแต่ถ้าเรานั่นโต๊ะเจรจาเราก็ต้องบอกว่าเป็นของเรา
สอง เส้นบนแผนที่หนึ่งต่อสองแสนที่กัมพูชาใช้เป็นหลักฐานและถ่ายทอดเส้นเขตแดนออกมาเส้นนี้ศาลไม่รับ ตกไป 4.6ตารางกิโลเมตรไม่มีอีกต่อไป ไม่ต้องมาเจรจา
สาม เส้นบนแผนที่หนึ่งต่อสองแสนที่เขาอ้างมาตลอดว่าผูกพันไทยโดยผลคำพิพากษา 2505 เราบอกไม่ใช่ และคำพิพากษานี้ที่มัดคอ เป็นหนามยอกอก ถือว่าถอนออกหมดแล้วศาลบอกว่าคำพิพากษา 2505 กำหนดแคบลง ซึ่งยังไม่รู้ว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ ต้องเจรจา นอกนั้นไม่สามารถบอกว่าผูกพันไทยได้อีกแล้ว
เขาย้ำว่าทั้งสามประการนี้ได้มาโดยไม่ต้องมีการเจรจาอีกต่อไป
ไทยเสียอะไร
เสียหลักฐานเส้นเขตแดนบนแผนที่ตามมติครม. ที่ไทยอ้างศาลให้เส้นนี้ตกไปด้วยเหตุผลว่าศาลได้ค้นพบหลักฐานสองชิ้นในคดีเก่า
จากนั้นหัวหน้าทีมทนายสู้คดีพิพาทเส้นเขตแดนเขาพระวิหารกล่าวถึงคำตัดสินย่อหน้า 98 ซึ่งศาลบรรยายว่า promontory เป็นอย่างไร ก็มีปัญหาว่าจะเอาเส้นนี้ไปใส่ในแผนที่อย่างไรเพราเส้นนี้ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1904-1907เมื่อร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งทางไทยได้พยายามต่อสู้และศาลรับฟัง ดังที่ปรากฏต่อมาใน ย่อหน้า 99 ของคำพิพากษา ว่าศาลรับทราบความยากในการถ่ายทอดเส้นบนแผนที่อันหนึ่งลงไปในแผนที่อีกอันหนึ่งซึ่งมาตราส่วนต่างการสัณฐานโลกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยโดย ทนายเอลินา มิรองได้พยายามนำเสนอในศาล ทูตวีรชัยกล่าวว่าข้อต่อสู้นี้ ทีมทนายฝ่ายไทยทำให้ศาลรับฟังได้ ดยต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาของคณะทำงาน และศาลให้เจรจาซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาว่าจะต้องเจรจาให้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่โดยตัวเขาเองเชื่อว่าคนรุ่นนี้อาจจะเจรจาไม่เสร็จแต่คนรุ่นหน้าอาจจะเจรจาได้สำเร็จ
“เรามีเวลา ค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำเคารพกระบวนการเจรจาภายใน เคารพการเจรจาภายนอกถ้าไปบอกว่าเราเสียกี่ไร่ๆ จะไม่มีประโยชน์ ต่อการเจรจาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทีประเมินเป็นภาครัฐไม่ว่าฝ่ายบริหารนิติบัญญัติ ตุลาการ มันมีผลผูกพันได้......ใครเป็นนักเจรจาจะทราบวามันเหนื่อยขนาดไหนแล้วยิ่งเอาหินผูกหลังเรา เราไปเจรจาให้คนที่เอาหินมาผูกหลังเรานั่นแหละ”
ทั้งนี้เขาชี้แจงว่าผลผูกพันหลักจากศาลโลกก็คือต้องไปเจรจากับทางกัมพูชา
“สำหรับคำพิพากษาว่าเสียดินแดนไหม ผมตอบไม่ได้ผมไม่ได้เล่นลิ้น ผมตอบได้อย่างเดียวผลคำพิพากษานี้เราต้องไปเจรจากับกัมพูชาแล้วเรามีโอกาสเสียดินแดนไหม ผมไม่ตอบเพราะผมมาจากหน่วยงานที่ผมต้องไปเจรจาแน่ๆผมตอบไม่ได้ ผมปิดบังข้อมูลประชาชนหรือเปล่า ท่านตัดสินเอาเอง ถ้าด่าผมที่จุดนี้แต่ประโยชน์ตกแก้ประเทศชาติ เชิญ” เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮกกล่าว พร้อมย้ำว่า ไม่มีใครมาเอาแผ่นดินนี้ไปได้ตราบที่การเจรจายังไม่จบ
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่าไทยไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกได้หรือไม่ เพราะมีกรณีที่สหรัฐไม่รับคำตัดสินศาลโลกเหมือนกัน นายวีรชัยกล่าวว่า ตอนนี้ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไทยรับหรือไม่รับคำตัดสินศาลโลก แต่เราบอกว่าเราจะต้องมาคุยกับกัมพูชาก่อน สำหรับการอ้างเรื่องข้อพิพาทระหว่างนิคารากัวกับสหรัฐ โดยที่สหรัฐไม่ยอมรับคำตัดสินศาลโลกนั้น เขาชี้แจงว่า สหรัฐใช้การวีโต้แล้วเจรจา แล้วจากนั้นนิคารากัวก็ถอนคดีออก เมื่อถอนคดีก็ทำให้เสมือนว่าคดีไม่เคยมีอยู่ คำตัดสินศาลโลกก็เสมือนไม่มีอยู่ แต่จะบอกว่าสหรัฐเขี้ยวไปเจรจาบอกให้เขาถอน ก็เป็นสิทธิของเขา
แต่คดีระหว่างนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกานั้น ในทางกฎหมาย จริงๆ แล้วไม่ใช่การไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก แต่มันคือไม่มีอะไรให้ปฏิบัติตามเพราะนิคารากัวถอนข้อพิพาทออกไป
นายณัฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางหลังจากนี้มี 3 ประการคือ
หนึ่ง ต้องเจรจาด้วยสันติวิธี
สอง ต้องมีท่าทีในการรักษาอธิปไตยรักษาประโยชน์ชาติ แต่ต้องมีท่าทีที่ดีกับกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านและจะเป็นประชาคมร่วมกันในสองปีข้างหน้า
และประการสุดท้าย ท่าทีของเราต้องไม่กระทบต่อเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของเราต่อประชาคมโลก