เหตุการณ์พายุไห่เยียน สร้างความเสียหายอย่างมากต่อพื้นที่ส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังต้องเจออุปสรรคซ้ำซ้อนจากเหตุอาชญากรรมและความวุ่นวายทำให้การช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรมการครอบครองอาวุธปืนของฟิลิปปินส์
14 พ.ย. 2556 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานสถานการณ์บรรเทาทุกข์จากภัยพายุใต้ฝุ่นไห่เยี่ยนซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศฟิลลิปินส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าขณะที่หลายประเทศพยายามส่งความช่วยเหลือให้กับเมืองทาโคลบาน แต่สภาพในเมืองก็มีความตึงเครียดและความไม่ปลอดภัยอยู่สูง สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนผู้ประสบภัยในเมือง
เหตุภัยพิบัติพายุไห่เยี่ยนคร่าชีวิตผู้คนไป 2,357 ราย จากการเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ทางการฟิลิปปินส์เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ล่าสุดทั้งทางการสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้พยายามเข้าให้ความช่วยเหลือ โดยมีการส่งกองกำลังทหาร ทั้งความช่วยเหลือทางอากาศและเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์เข้าไปในพื้นที่ ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นแล้วเป็นการวางกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
มีความพยายามช่วยเหลือเมืองทาโคลบานโดยการส่งอาหาร ยา และทีมค้นหากู้ภัย ไปในเมือง แต่ก็มีข่าวเรื่องความรุนแรงและความขัดแย้งในวันพุธที่ผ่านมา เช่นเรื่องที่มีคนเหยียบกันจนเสียชีวิต 8 ราย ขณะแย่งชิงอาหารกันในโรงสีข้าวร้าง ขบวนความช่วยเหลือของกาชาดฟิลิปปินส์ถูกแจ้งว่าโดนกลุ่มติดอาวุธจี้ปล้น จนกระทั่งต่อมากลุ่มติดอาวุธถูกตำรวจยิงเสียชีวิต อีกทั้งยังมีกรณีเด็กชายอายุ 13 ปีถูกชายไม่ทราบชื่อแทงที่คอและหน้าท้อง
นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่เป็นกระแสข่าวลือ เช่นมีการเตือนผ่านเฟซบุ๊กให้ระวังผู้ค้ามนุษย์ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นคนทำงานบรรเทาทุกข์ หรือกรณีที่มีนักโทษแหกคุกจากเรือนจำช่วงที่มีพายุและคอยดักปล้นพัสดุ ซึ่งทางการฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบและอย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่ได้ยิน
อย่างไรก็ตาม กรณีเมืองทาโคลบานซึ่งมีการประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางคืนตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา นักข่าวบีบีซี รูเพิร์ต วิงฟิลด์-ฮาเยส รายงานข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาบอกว่าทาโคลบานมีสภาพเหมือน "เขตสงคราม"ภาพจากวิดีโอแสดงให้เห็นรถถังแล่นผ่านใจกลางเมืองที่ถูกทำลายโดยพายุ มีทหารติดปืนกลหลบอยู่หลังกำแพง ซึ่งไม่มีการบ่งบอกแน่ชัดว่าเตรียมการป้องกันอะไร
ทั้งนี้ มีองค์กรให้ความช่วยเหลือบางแห่งที่กลัวเรื่องความปลอดภัยในเมืองทาโคลบานได้สั่งให้ทีมงานของตนเองออกจากพื้นที่ สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องนี้คือการที่แม้จะมีคนทำงานให้ความช่วยเหลือเข้าไปในเมืองทาโคลบานจำนวนมากแต่ยังมีส่วนน้อยที่ได้รับความช่วยเหลือ มีคนทำงานบรรเทาทุกข์คนหนึ่งกล่าวว่ามีการส่งข้อความบันทึกหมุนเวียนในหมู่คนทำงานให้ความช่วยเหลือแนะนำว่าพวกเขาไม่ควรเดินทางไปมาภายในทาโคลบาน เพราะมีเจ้าหน้าที่สหประชาชาติบางส่วนถอนตัวออกไปด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยแล้ว
บารังไกย์ (คำเรียกหมู่บ้านหรือตำบลในฟิลิปปินส์) 26 แห่ง จากทั้งหมด บารังไกย์ 138 แห่งในทาโคลบานที่ได้รับการช่วยเหลือ หลังจากที่มีการเคลียร์ซากปรักหักพังและซากต้นไม้ในพื้นที่แล้ว
วัฒนธรรมครอบครองปืนในฟิลิปปินส์
อเล็ก สปิลเลียส ผู้สื่อข่าวกล่าวในรายงานข่าวของเดอะเทเลกราฟว่า แม้ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน จะมีความพยายามอย่างมากในการแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ แต่ฟิลิปปินส์มีรัฐบาลกลางที่อ่อนแอ รวมถึงประชาชนประสบภาวะยากจนอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงมีอาวุธปืนแพร่หลาย ทำให้มีการใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กันเป็นอุปสรรคต่อขบวนผู้ให้ความช่วยเหลือซึ่งมักจะต้องรอเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ก่อนเสมอถึงจะผ่านทางไปได้
เดอะเทเลกราฟระบุว่าประชาชนในฟิลิปปินส์มีอาวุธปืนในครอบครองรวมแล้ว 3.9 ล้านกระบอก ทั้งในแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เทียบอัตราส่วนแล้วคิดเป็นร้อยละ 4.7 ของประชากรฟิลิปปินส์ทั้งหมด ซึ่งแม้โดยรวมจะดูไม่มาก แต่ฟิลิปปินส์ก็มีอัตราคดีฆาตกรรมมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 3 เท่า
เดอะเทเลกราฟกล่าวอีกว่าผู้ใช้ปืนผิดกฎหมายไม่ได้มีแต่แก๊งค์โจรหรือกลุ่มกบฏเท่านั้น ยังรวมถึงพลเรือนบางคนและนักการเมืองผู้ต้องการมี 'กองทัพส่วนตัว'ด้วย ปืนในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องปกติมากถึงขั้นร้านค้าต่างๆ ในเมืองต้องมีป้ายปิดประกาศห้ามพกปืนเข้ามาภายในร้านหรือในอาคาร และยามรักษาความปลอดภัยทุกคนจะมีปืนพก ปืนลูกซอง หรือทั้งสองชนิด
นักวิเคราะห์มักจะโทษว่า ประวัติศาสตร์ช่วงอาณานิคมทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ชอบครอบครองอาวุธปืน โดยมาจากการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรม 'ลูกผู้ชาย' (machismo) กับการเผยแพร่แนวคิดเรื่องสิทธิในการพกพาอาวุธโดยสหรัฐฯ
ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชเมื่อราว 70 ปีที่แล้ว แต่รัฐบาลกลางก็ยังไม่สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่ในประเทศหมู่เกาะที่มี 80 จังหวัด และมีภาษาหลายสิบภาษา หลังได้รับเอกราชก็มีขบวนการกบฏคอมมิวนิสต์อยู่หลายสิบปีจนกระทั่งค่อยๆ ยุบตัวลงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ก็เคยมีกลุ่มกบฏชาวมุสลิมแบบกึ่งปกครองตนเองจนกระทั่งมีการเซ็นสัญญาสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงมีอาวุธอยู่รอบบริเวณนั้น
เดอะเทเลกราฟกล่าวอีกว่า ฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาความยากจน มีอุปสรรคเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สามารถสร้างถนนได้เพียงร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้น การเดินทางด้วยเรือเฟอร์รี่ระหว่างเกาะก็ยังขาดความปลอดภัยโดยอาจมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจนเรือจมได้ ส่วนพื้นที่หมู่เกาะที่ได้รับผลกระทบจากพายุไห่เยี่ยนก็เป็นกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดในประเทศ โดยร้อยละ 40 ของประชากรที่นั่นมีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ (ราว 60 บาท) ต่อวัน
และแม้ว่า ประธานาธิบดีคนล่าสุดของฟิลิปปินส์จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากเอื้ออำนวยต่อการแข่งขันในระยะยาว แต่เหตุการณ์พายุครั้งล่าสุดก็อาจทำให้การเติบโตชะงักงันไป
เรียบเรียงจาก
Typhoon Haiyan: Philippines aid effort hampered by lawlessness, The Guardian, 14-11-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/nov/14/typhoon-haiyan-philippines
Typhoon Haiyan: US aircraft carrier arrives in Philippines - and will soon be joined by Japan at forefront of rescue operation, The Independent, 14-11-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/typhoon-haiyan-us-and-japan-at-forefront-of-rescue-operation-8938489.html
Typhoon Haiyan: gun culture of the Philippines hinders relief efforts, The Telegraph, 12-11-2013
http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/philippines/10444736/Typhoon-Haiyan-gun-culture-of-the-Philippines-hinders-relief-efforts.html