กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเขาหลวง เมืองเลย ทำกิจกรรมทั้งวันทั้งคืน 5 – 8 ก.ย.นี้ หน้าทางเข้าเหมืองทองสะพุง ยืนยันสิทธิชุมชนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หลังรู้บริษัทเหมืองเตรียมจัด Pubic Scoping หวั่นเหมือนเวทีก่อนหน้าใช้ทหาร-ตำรวจกว่า 2,000 นาย ปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านร่วม
วันนี้ (5 ก.ย.56) จนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ย.56 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมกันจัดงาน “ทำบุญภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก” ณ บริเวณทางเข้าชุมชนที่อยู่หน้าทางเข้าเหมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงสิทธิชุมชนในการปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน และประกาศคัดค้านการขยายเหมืองทองในพื้นที่ จ.เลย โดยในงานจะมีพิธีทางศาสนา เวทีถกปัญหาเหมืองทองคำกับชุมชน และการแสดงของกลุ่มชาวบ้านและเครือข่าย
การจัดงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก ในวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ย.นี้ บริษัททุ่งคำ จำกัด มีกำหนดจัด “ประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” หรือ Pubic Scoping (ค.1) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” เพื่อประกอบคำขอประทานบัตรเพิ่มเติม(คำขอประทานบัตรที่ 76/2539) ในพื้นที่ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อทำโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.55 บริษัททุ่งคำได้จัดเวที Public Scoping ประกอบคำขอประทานบัตรการทำเหมืองทองคำแปลง 104/2538 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าภูเหล็ก ซึ่งอยู่ติดกับแปลงที่มีการทำเหมืองอยู่แล้วในปัจจุบัน และมีการใช้กำลังทหารและตำรวจกว่า 2,000 นาย ปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวทีดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเลย
ตั้งแต่ปี 2538 บริษัททุ่งคำ ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ไปแล้ว 6 แปลงเป็นพื้นที่รวมประมาณ 1,300 ไร่ รวมถึงโรงแต่แร่และโรงประกอบโลหะกรรมซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยยังมีพื้นที่อีก 106 แปลง รวมแล้วมีพื้นที่นับหมื่นไร่ใน จ.เลย ที่บริษัทได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและผลิตแร่ทองคำแล้ว และมีการทยอยยื่นขอประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง
นับแต่ที่บริษัททุ่งคำจำกัดเริ่มดำเนินกิจการในพื้นที่ตำบลวังสะพุง มีรายงานถึงการปนเปื้อนของสารเคมีเป็นพิษ ไซยาไนด์ และโลหะหนักหลายชนิด ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทอง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนรอบเหมืองมาโดยตลอด
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เกิดเหตุคันเขื่อนบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนจำนวนมากและเป็นส่วนหนึ่งของโรงประกอบโลหะกรรมพังลง ยิ่งย้ำความกังวลของชุมชนต่อมาตรฐานและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ หากมีการขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ หมายความว่าจะมีการนำแร่จำนวนมากขึ้นเข้าไปยังโรงประกอบโลหะกรรมและจะมีน้ำเสียปนเปื้อนจำนวนมากขึ้นในบ่อที่มีปัญหาดังกล่าว
ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ระบุว่า
“ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตร ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินผลด้านสุขภาพ หรือ HIA”
แต่มติดังกล่าวก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง จนล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาชาวบ้านทนความเฉื่อยชาของหน่วยงานรัฐไม่ไหว ประกาศระเบียบชุมชนควบคุมน้ำหนักบรรทุกที่ใช้ถนนของชุมชน (ไม่ให้เกิน 15 ตัน) และห้ามการนำเข้าสารเคมีอันตรายเข้าเขตชุมชน เพื่อเป็นมาตรการป้องกันตนเองจากผลกระทบจากกิจกรรมของเหมือง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai