ทั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่างลุกขึ้นขอร้องให้นายพายัพถอนการปิดการอภิปรายเพราะสมาชิกยังพูดถึงพืชที่ราคาตกต่ำยังไม่หมด นายพายัพ อภิปรายว่า เนื่องจากเป็นญัตติด่วน และสมาชิกอภิปรายอย่างรอบด้านแล้ว เห็นว่าสภาฯ ควรรีบดำเนินการเพราะเกษตรกรรออยู่ ดังนั้นขอยืนญัตติการปิดอภิปราย โดยนายวิสุทธิ์ ได้อนุญาตให้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯและรมว.เกษตรและสหกรณ์ชี้แจงเรื่องแก๊สน้ำตา
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของนายพายัพทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ โดยนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอย่างโมโหว่า "อย่างนี้เดี๋ยวก็ปิดสภา เอะอะ อะไรก็จะปิด เดี๋ยวรัฐมนตรีตอบเสร็จแล้วก็ปิด ทั้งที่ยังมีเรื่องปัญหาของชาวบ้านที่ต้องให้รัฐบาลรับรู้อีกเยอะ"
จากนั้นนายเชนได้ยกเก้าอี้ทุ่มไปข้างหน้าข้ามโต๊ะที่นั่งไป 1แถว และทุ่มเก้าอี้อีก 1 ตัวไปโต๊ะที่นั่งไป 2 แถว ทำให้ที่พักแขนหักไป 1 ตัว จากนั้น ได้เดินไปชี้หน้าพร้อมโวยวายใส่ประธานที่ประชุม ทำให้นายวิสุทธิ์ พยายามไกล่เกลี่ยให้ใจเย็นๆ พร้อมระบุว่า ยังไม่ได้ให้ปิดการอภิปราย เพียงแต่ให้รัฐมนตรีตอบเรื่องแก๊สน้ำตาเท่านั้น ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่างพากันเข้าห้ามนายเชน และเก็บเก้าอี้เข้าที่นั่งเดิม จนนายเชน ยอมนั่งลง
ต่อมา นายยุคล ชี้แจงว่า ได้สอบถาม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯแล้ว ทราบว่ามีประชาชนประมาณ 400 คนพยายามจะปิดถนน แต่หน่วยปราบจราจลได้ขอร้องว่าอย่าปิดถนน เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่าไม่มีการใช้แก๊สน้ำตา
จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนายธนิตพล ไชยนันท์ ส.ส.ตาก, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคาม ได้ขอให้เปิดการอภิปรายต่อ เพราะยังมีพืชอีกหลายชนิตที่สมาชิกยังไม่ได้พูด แต่นายมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ที่ประชุมอภิปรายเรื่องนี้กันมาพอสมควรแล้ว และควรเคารพญัตติของนายพายัพ ทำให้นายวิสุทธิ์ ไกล่เกลี่ยว่าจะให้วิปทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันอีกครั้ง
ขณะที่นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากจะให้ไปอภิปรายในสัปดาห์หน้าต่อ ก็อาจจะไม่ทันรัฐบาล เพราะรัฐบาลจะลงพื้นที้ในวันที่ 6 ก.ย.แล้ว การเสนอข้อปิดการอภิปรายไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิ์ ดังนั้นขอให้ประธานใช้อำนาจและวิจารณญาณในการพิจารณาญัตติดังกล่าว ซึ่งควรจะรีบสรุปเพื่อจะส่งเรื่องทั้งหมดไปให้รัฐบาล