ในวันจันทร์นี้ (2 ก.ย.56) กสท. จะพิจารณาร่างแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ หรือการจัดเรต ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า มติ กสท.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อหาแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมรายการโทรทัศน์ ซี่งได้จัดเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา จึงนำข้อสรุปความคิดเห็นเข้าที่ประชุม กสท.จันทร์นี้ เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้นในการขยายรายละเอียดของความเหมาะสมการจัดอันดับเนื้อหารายการ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2556 ที่แบ่งระดับความเหมาะสม 6 ระดับไว้ ดังนี้
“ป” รายการสำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 3 – 5 ปี
“ด” รายการสำหรับเด็ก อายุ 6 – 12 ปี
“ท” รายการสำหรับผู้ชมทุกวัย
“น13” รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ
“น18” รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีขึ้นไป ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ
“ฉ” รายการเฉพาะไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน
สุภิญญาฯ กล่าวว่า “ถ้าแนวทางการจัดเรตมีความชัดเจนขึ้น เราจะรู้ว่าเรตแต่ละประเภทมีลักษณะแบบไหนอย่างไรบ้าง ที่จะป็นมาตรฐานกำหนดเรตให้เหมาะสมกับรายการทีวีประเภทต่างๆ อย่าง ฟรีทีวี เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม รวมทั้งในอนาคต ช่องทีวีประเภทเด็ก เยาวชนและครอบครัวจะกำหนดระดับเรตได้แค่ไหน เสนอให้พิจารณาในประเด็นเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ สุภิญญา ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 แบบพร่ำเพรื่อ และไม่เห็นด้วยกับการแบนหรือเซ็นเซอร์จินตนาการ แต่เห็นด้วยว่าการจัดเวลาออกอากาศและวางมาตรฐานระดับความเหมาะสมของเนื้อหาคือทางออกระหว่างเสรีภาพสื่อกับความรับผิดชอบในการคุ้มครองเด็กและเยาวชน
สุภิญญายกตัวอย่างกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวทาง Watershed หรือ Safe Habor ในการกำกับดูแลสื่อบรอดแคส มี 3 แนวทาง ได้แก่ การกำหนดว่ารายการที่ฉายในฟรีทีวี เรตทั่วไปเด็กต้องสามารถดูได้ด้วย ยกเว้นรายการที่มีเนื้อหาอ่อนไหวจะสามารถออกอากาศได้ในช่วงเวลาที่กำหนดคือ 22.00 – 06.00 น. และกำกับการออกอากาศโฆษณาในช่วงเวลาที่มีเด็กและเยาวชนดูทีวี อย่างการกำกับโฆษณาขนมกรุบกรอบ รวมทั้งมีแนวทางการส่งเสริมให้ช่องฟรีทีวีผลิตรายการที่ส่งเสริมการเรียนรู้และเท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน