Budu Little ศิลปินสันติภาพที่ชายแดนใต้ เจ้าของเสียงเพลง 13Feb “จะขอข้อความบนเฟสบุ๊คมาแต่งเป็นเพลง เพราะเชื่อว่า คนโพสต์ต้องการสื่อถึงอะไรบางอย่างให้รับรู้”
หากเอ่ยชื่อ “ซุลกิฟลี กาแม” คงมีน้อยคนที่จะรู้จัก หรือหากบอกว่าเขาเป็นหนึ่งทีมงานฝ่ายสื่อของเครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานีหรือ INSouth ก็คงยังไม่มีใครนึกออก
แต่หากบอกว่า เขาคือ Budu Little ศิลปินนักร้องเพลงภาษามลายูแนวสันติภาพ หลายคนอาจถึงกับร้องอ๋อ (หรือพร้อมเสียงกรี๊ด) โดยเฉพาะแฟนคลับในโลกออนไลน์ เพราะเขาคือเจ้าของเพลง “13Feb” ที่ถูกกล่าวขาน
“13Feb” เป็นบทกวีของ “อับดุลเลาะห์ วันอะหมัด” ที่ถูกรังสรรค์ขึ้น 1 วัน หลังเหตุโศกนาฏกรรมช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กองกำลังติดอาวุธกลุ่มหนึ่งบุกโจมตีฐานทหารในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส แต่ถูกตอบโต้จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 16 คน หนึ่งในนั้นคือนายมะรอโซ จันทรวดี
ต่อมากวีบทนี้ถูก Budu Little นำมาแต่งแต้มด้วยเสียงดนตรี กลายเป็นบทเพลงที่คุ้นหูของคนในชายแดนใต้
ซุลกิฟลี เล่าว่า หลังจากอ่านกวีบทนี้แล้วรู้สึกว่า มันใช่เลย มันมีเนื้อหาและเรื่องราวที่ครบถ้วนเบ็ดเสร็จ สามารถนำมาเป็นเนื้อเพลงได้ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรอีกเลย
“ตอนนี้ผมมีผลงานเพลงทั้งหมด 4 เพลง เป็นเพลงภาษามลายูทั้งหมด เพลงแรก คือ เพลงโรฮิงยา แต่งขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2556 โดยนำบทกวีของอับดุลเลาะห์ วันอะหมัดมาใส่เป็นทำนองเช่นกัน แต่เพลงที่ทำให้คนรู้จักผมมากที่สุด ก็คือเพลง 13Feb นั่นเอง”
“ผมคิดว่า ต่อไปก็คงจะขอข้อความที่ถูกโพสต์ขึ้นเฟสบุ๊คจากเจ้าของมาแต่งเป็นเพลง เพราะผมเชื่อว่า คนที่โพสต์ข้อความนั้น ต้องการสื่อถึงอะไรบางอย่างให้รับรู้ ผมก็จะนำมาประยุกต์ใช้และนำมาใส่ทำนอง”
ซุลกิฟลี เล่าด้วยว่า จุดเริ่มต้นที่คนมาเป็นศิลปินนักร้อง มาจากสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ได้ฝึกเล่นกีตาร์และร้องเพลงไปด้วยระหว่างทำกิจกรรมนักศึกษา พอหลังจากออกจากมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสคลุกคลีกับกิจกรรมภาคประชาสังคม จึงทำให้มีโอกาสร้องเพลงอีกครั้ง
“ผมเห็นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งไม่ว่าที่ไหนก็ตาม มักมีบทเพลงที่เล่าเรื่องราวการต่อสู้ของแต่ละที่ เช่นเดียวกับปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานี ก็มีคนแต่งเพลงและร้องเพลง แต่ไม่เปิดเผยตัวตนออกมา ผมจึงอยากร้องเพลงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่อย่างเปิดเผย”
ซุลกิฟลี เล่าว่า ตั้งแต่ร้องเพลง 13Feb ก็ยังไม่มีปัญหา ไม่เคยถูกคุกคาม อาจเป็นเพราะตัวเองเปิดเผยตัวต่อสาธารณะทำให้คนรู้จัก ซึ่งที่ผ่านมาเคยขึ้นร้องเพลงบนเวทีต่างๆ เช่น เวทีสาธารณะ Patani Bicara หรือร้องเพลงในกิจกรรมต่างๆ ที่ INSouth ดำเนินการ
“ที่ผ่านมา มีคนถามว่า เล่นกีตาร์ได้ด้วยหรือในเมื่อมันขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ผมคิดว่า ถ้าบทเพลงมาจากจิตสำนึกของคน ผมคิดว่าได้”
“ผมคิดว่า เพลงเป็นสิ่งที่วัยรุ่นสนใจ จึงสามารถกระตุ้นให้วัยรุ่นหันมาสนใจปัญหาในพื้นที่ได้โดยผ่านเสียงเพลงและเพลงส่วนใหญ่ที่ผมร้องได้รับความนิยมมากกว่าถูกต่อต้าน”
“ผมไม่ได้ต้องการที่จะเป็นศิลปินมืออาชีพ แต่ต้องการนำเสนอเรื่องราวผ่านบทเพลง คืออยากมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพราะคิดว่าสังคมบ้านเรามีปัญหามาก ทั้งยาเสพติด ชีวิตความเป็นอยู่และปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ไม่ใช่มีแต่ปัญหาความมั่นคงอย่างเดียว”
ซุลกิฟลี บอกว่า หลังจากสำนักงาน INSouth ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองปัตตานี ถูกคนร้ายเข้าไปขโมยของไปเมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งกีตาร์คู่ใจของเขาด้วยนั้น ส่งผลให้การดำเนินงานของ INSouth ชะงักไประยะหนึ่ง ส่วนเขาเองก็ไม่สามารถที่จะดีดกีตาร์ร้องเพลงไปด้วย
ทว่า ตอนนี้เขาคงปลื้มมากๆ หลังจากมีคนใจดีมอบกีตาร์ใหม่ให้สมใจแล้ว
...................
ภารกิจINSouth
นายอับดุลฆอณีย์ มะนอ ทีมงานฝ่ายสื่อของINSouth เปิดเผยต่อว่า INSouth มีภารกิจ 3 ส่วน ได้แก่
1.งานด้านสื่อ เน้นการนำเสนอประเด็นกิจกรรมนักศึกษาและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งงานเขียนและภาพเคลื่อนไหวลงเว็บไซต์ยูทูป
2.พัฒนาผู้นำเยาวชน เช่น อบรมกรรมสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อกระตุ้นให้เด็กรักในการทำกิจกรรม
3.งานเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายครูตาดีกา บัณฑิตและผู้นำนักเรียน เป้าหมายเพื่อร่วมพัฒนาเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักชุมชน