เปิดงานศึกษาการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานการเมือง-ศาสนา-เชื้อชาติ พบผู้ตกเป็นเป้าความเกลียดชัง ไม่เชื่อเฮทสปีชมีพลังพอจนเกิดความรุนแรงทางกายภาพ นักวิชาการสื่อเชื่อสื่อออนไลน์แค่พื้นที่ระบายความรู้สึก ไม่ต่างผนังห้องน้ำ นักกิจกรรมเตือนการอ้างรวันดา อาจตอกย้ำความเชื่อผิดๆ ถึงอิทธิพลสื่อ ส่งผลสื่อถูกคุมหนัก
(30 ส.ค.56) ในงานรายงานผลการศึกษาในโครงการ "ค่านิยมดิจิทัลของเยาวชนกับความเกลียดชังในยูทูบ: ประสบการณ์จากสังคมไทย"ที่ห้อง 1001 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัทนา นันตา นิสิตปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอรายงานเบื้องต้นของงานวิจัยเรื่อง สื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง โดยชี้ว่าที่ผ่านการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hatespeech ที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ เช่น เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่มีการปลุกระดมว่าอีกฝ่ายไม่ใช่คน เป็นแมลงสาบ กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา ในไทย ที่พระรูปหนึ่งบอกว่าฆ่าคนได้ไม่บาป หรือกรณีคลิปภาพยนตร์ Innocence of Muslims ที่นำไปสู่การประท้วงและเสียชีวิตของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในลิเบีย
โดยงานนี้จะวิเคราะห์เนื้อหาการสื่อสารความเกลียดชังที่นำเสนอในพื้นที่เว็บไซต์ยูทูบ จำนวน 75 คลิปวิดีโอ โดยเป็นคลิปที่ถูกอัปโหลดระหว่างวันที่ 1 ม.ค.53-31 ธ.ค.55 และสัมภาษณ์ผู้ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเป้าหมายการสื่อสารความเกลียดชัง 15 คนและผู้เชี่ยวชาญ 10 คน
ผลการวิเคราะห์เนื้อหาเบื้องต้นพบว่า ในปี 54 มีคลิปที่เข้าข่ายหรือมีแนวโน้มจะเป็นการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของการเมืองมากที่สุด เพราะในช่วงการเมืองรุนแรง มีการทำคลิปตอบโต้กันไปมา ส่วนคลิปที่อยู่บนฐานความเกลียดชังศาสนา-ลัทธิความเชื่อ มีมากในปี 55 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ไฟใต้ที่รุนแรงมากขึ้น และมีคลิปที่สร้างความเกลียดชังบนฐานด้านเชื้อชาติมากในปี 54 จากกรณีนักศึกษา มธ. ทำคลิปส่งในวิชาเรียน แล้วมีเนื้อหากระทบคนลาว โดยมีการให้สัมภาษณ์ดูหมิ่น ทำให้เกิดคลิปตอบโต้กัน จนอธิการบดี มธ. ต้องขอโทษสถานทูต
โดยวิธีการสื่อสารความเกลียดชังในคลิปวิดีโอที่พบมากที่สุด คือ การนำเสนอเรื่องราวว่ากล่มเป้าหมายคุกคามอย่างไร ดูถูกเหยียดหยามหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ ประณามหรือประจาน และทำให้กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตลก ตามลำดับ
มัทนา ระบุว่า เมื่อสัมภาษณ์ผู้เข้าข่ายเป็นกลุ่มเป้าหมาย ถึงวิธีการรับมือ ตอบโต้หรือจัดการกับการสื่อสารความเกลียดชัง ในเชิงเทคโนโลยี ได้คำตอบว่า จะใช้วิธีแชร์คลิปที่ผู้ให้สัมภาษณ์เห็นว่าเป็นการสื่อสารความเกลียดชังเข้ากลุ่มของตัวเองในเฟซบุ๊ก เข้าไปแสดงความเห็นตอบโต้ กดรายงาน (รีพอร์ต) ความไม่เหมาะสมของวิดีโอ ไปจนถึงร้องขอให้รัฐบล็อคเนื้อหาดังกล่าว ขณะที่ในเชิงสังคม จะให้ข้อมูลและรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มของตนเอง ปล่อยให้กลไกทางสังคมทำงาน ไปจนถึงใช้กฎหมายทางกลไก เช่น ฟ้องหมิ่นประมาท
ไม่เชื่อความเกลียดชังในเน็ต ส่งผลรุนแรงทางกายภาพ
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้ให้สัมภาษณ์ แม้จะไม่ชอบ อึดอัด โกรธการสื่อสารดังกล่าว แต่ก็มองว่าไม่มีพลังพอจะให้ผู้รับชมเนื้อหาดังกล่าวลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตี เนื่องจากความน่าเชื่อถือของสื่ออินเทอร์เน็ต ที่มีลักษณะทีเล่นทีจริง และบริบทของสังคมไทย ที่หลายประเด็นไม่ถูกใส่ใจมากพอจะลุกขึ้นมากระทำการใดๆ เช่น กรณีภาคใต้ ที่คนมักเพิกเฉย อย่างไรก็ตาม การเพิกเฉยเท่ากับสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเช่นกัน หรืออาจมีผลกระทบด้านอื่น เช่น ถูกแบ่งแยก โดยหนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งเป็นมุสลิม มักถูกคนถามว่า พกระเบิดมาไหม ก่อการร้ายไหม หรืออาจไม่ได้รับความร่วมมือจากคนอื่นๆ
มัทนา ระบุว่า ผลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การสื่อสารความเกลียดชังในสื่อออนไลน์ เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่พิเศษ โดยมีความเป็นนิรนาม ไม่เห็นตัวผู้พูด จึงไม่ต้องเกรงใจ และการแพร่กระจายทำได้กว้างขวางและรวดเร็ว
บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของการเมืองในสังคมไทย ได้แก่ ความเป็นไทยซึ่งถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อ ความเปลี่ยนแปลงของคนชนบทที่ต้องการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียม และแนวคิดประชาธิปไตย ที่ทุกคนต้องมีเสียงเท่ากัน
ขณะที่บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานเรื่องศาสนา/ลัทธิความเชื่อ ได้แก่ องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในอดีตที่ผลิตโดยนักวิชาการตะวันตก ซึ่งสร้างภาพว่ามุสลิมเป็นศัตรูของโลกตะวันตก กระแสความหวาดกลัวศาสนาอิสลามในโลกตะวันตก สถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และความเป็นไทยกระแสหลัก
บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่บ่มเพาะการสื่อสารความเกลียดชังบนฐานของเขื้อชาติ ได้แก่ การผลิตซ้ำของสื่อ โดยแช่แข็งภาพคนเชื้อชาติลาว รวมถึงไทยอีสานให้เป็นตัวตลก และการให้ความหมายกับภาษา วัฒธรรม วิถีชีวิตของชาวลาวและไทยอีสานแบบด้อยคุณค่า
อย่างไรก็ตาม มัทนาชี้ด้วยว่าข้อจำกัดของงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบด้วย การที่บางคลิปถูกปิดกั้นจากกระทรวงไอซีที บ้างถูกปิดช่องการแสดงความเห็น และข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ผ่านเหตุการณ์การเมืองมานานแล้ว ทำให้ความรู้สึกของที่กลุ่มเป้าหมายที่สัมภาษณ์แตกต่างจากตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ
Hatespeech ในเน็ตอาจแค่ที่ระบายช่องทางใหม่
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นต่องานวิจัยว่า งานเกี่ยวกับ hatespeech มักเทไปทางเดียว ว่าไม่ดี แต่เขามองว่า การแสดงความเกลียดชังดังกล่าวอาจเป็นการระบายของคนรุ่นใหม่ในช่องทางที่ต่างจากเมื่อก่อนที่เขียนระบายในห้องน้ำ
เขาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่ Hatespeech จะเป็นเรื่องในใจปกติ แต่ที่่ผ่านมาไม่มีช่องทางนำเสนอ ในสื่อหลักไม่มีพื้นที่ เข้าถึงยาก พอมาทุกวันนี้ทุกคนมีมือถือ อยู่ในช่องทางการสื่อสาร ด้านหนึ่ง การแสดงออกเช่นนี้จึงเป็นการเปิดช่องระบายด้านมืดของคนยุคออนไลน์หรือเปล่า ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่ามันถูกหรือผิดแต่ตั้งคำถามว่ามันมีผลอะไรตามมา เสนอให้มีการสัมภาษณ์กับคนที่ทำด้วยว่า เขามีความคิดอย่างไร เขาอาจจะแค่อยากด่า ไม่ได้จะทำอะไรจริงๆ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม มานะ แสดงความเห็นว่า การใช้ Hatespeech ผ่านออนไลน์นั้นยังพอรับได้กว่าการใช้ผ่านสื่อหลัก เพราะสื่อหลักเปิดโอกาสให้ตอบโต้น้อยกว่า ขณะที่สื่อออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้โต้ทางอื่นได้ ไม่ว่าท้ายเรื่อง หรือทำคลิปมาสู้
เตือนระวังผลิตซ้ำความกลัวสื่อ ส่งผลสื่อถูกกำกับเข้มข้น
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงการยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ในรวันดาว่า ต้องระวังในการอ้างอิง เพราะการพูดซ้ำอาจยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ไม่รู้ว่าจริงไหม และส่งผลต่อการสร้างความชอบธรรมในการกำกับดูแลสื่อ ให้ผู้ดูแลสื่อกำกับดูแลเข้มข้นขึ้นได้
โดยอาทิตย์ระบุว่า มีการศึกษาที่ชี้ว่า สื่อวิทยุมีอิทธิพลน้อยมากในกรณีรวันดา โดยมีผลเฉพาะกับกลุ่มผู้กระทำการไม่กี่คน ไม่ใช่ผลในทางยั่วยุ แต่เป็นการทำให้ความคิดของคนเหล่านี้ตกผลึกมากขึ้น ว่าทำไมจึงมีความชอบธรรมในการทำสิ่งต่างๆ ทำให้มีข้ออ้าง แปลว่าต่อให้ไม่มีวิทยุ ก็ยังทำอยู่ (ดูเพิ่มเติมที่ http://blogazine.in.th/blogs/uchane-cheangsan/post/3791)
ในงานเดียวกัน เกรียงไกร วชิรธรรมพร ทีมเขียนบทซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ภาค 1 และผู้กำกับซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ภาค 2 ปาฐกถานำในหัวข้อ เด็กและเยาวชนกับวัฒนธรรมการใช้สื่อออนไลน์ โดยกล่าวว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ชนิดที่แทบจะแยกไม่ออก เราจะกลายเป็นตัวประหลาดถ้าไม่อัพสเตตัสเฟซบุ๊ก เมื่อก่อนบนโต๊ะอาหาร อาจจะคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเพื่อนสบายดี ก็กลายเป็นถามถึงเรื่องราวที่อัพแทน เช่น รูปนี้ไปไหนมา นอกจากนี้ เรายังนัดประชุมกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สื่อสารกันได้หลายคนพร้อมกัน
โซเชียลเน็ตเวิร์ก-สายตาที่ไม่ตัดสิน
ตอนหนึ่ง เกรียงไกร เล่าถึงประเด็นการรับข้อมูลของวัยรุ่นว่า ในการรีเสิร์ชข้อมูลก่อนทำซีรีส์พบว่า วัยรุ่นสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลง พึ่งพิงผู้ใหญ่น้อยลง และรู้เอาจากกูเกิล เช่นในฮอร์โมน ดาวกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ จึงเข้าไปค้นในกูเกิลก่อน เพราะกลัวสายตาของพ่อแม่ กลัวความผิดหวังของพ่อแม่ แต่กูเกิลให้แต่ข้อมูล ไม่มีสายตาที่ตัดสิน ทำให้เด็กสบายใจที่จะเข้าหา และเชื่อว่าคือทุกอย่าง จนเด็กเชื่อโซเชียลมากขึ้น และเชื่อเพื่อน ถึงขั้นที่ไปเถียงหมอว่าเน็ตบอกอีกอย่างหนึ่ง
ชวนตั้งคำถามกับสื่อที่เสพ
เกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ด้านหนึ่ง โซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้วัยรุ่นรู้จักโลกมากขึ้นในแนวกว้าง เพียงแค่คลิกค้นหา แต่ไม่รู้ลึก เช่น เรื่องน้ำมันรั่ว วัยรุ่นอาจจะรู้ แต่ไม่รู้ว่าวิธีจัดการอย่างไร หรือมีการจัดการอย่างไรไปแล้วบ้าง ทุกคนเสพข่าวเหมือนอ่านแต่พาดหัว และเท่าที่เราสนใจเท่านั้น ต่างจากเมื่อก่อน ที่อ่านหนังสือพิมพ์ต้องอ่านพาดหัว และตามไปอ่านเนื้อใน รวมถึงแม้ข่าวที่เราไม่ได้สนใจ เราก็จะบังเอิญเห็นได้อัตโนมัติ เมื่อวิธีเสพสื่อเปลี่ยนไป ทำให้คนทำสื่อก็พยายามจะทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ความนิยมสูงสุด ไม่ว่า ยอดกดไลค์ คน subscribe โดยไม่แคร์ว่าจะได้สาระแค่ไหน ทั้งนี้ เสนอว่า ทั้งคนทำสื่อและคนรับสื่อต้องคิดให้มากขึ้น และตั้งคำถามกับสิ่งที่ดู-เสพให้มากขึ้น