ภาพจากวิกิพีเดีย
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.56 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งปล่อยชั่วคราว นาย อ. (จำเลยขอสงวนชื่อและนามสกุล) จำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หลังจากกองทุนยุติธรรมของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 300,000 บาท โดยนาย อ. ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันเดียวกัน หลังจากควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค.เหตุเพราะในวันดังกล่าวเอกสารการประกันตัวยังไม่สมบูรณ์จึงต้องทำการยื่นคำร้องใหม่ในวันรุ่งขึ้น และศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ต.ค.56 เวลา 9.00 น.ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้จำเลยได้ ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิรับบริการกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือด้านเงินประกันตัว ในชั้นต้นถูกปฏิเสธเนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าพฤติการณ์คดีร้ายแรง จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งและได้รับการอนุมัติในที่สุด
นายอ. อายุ 65 ปี มีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกตำรวจ สน.ลุมพินีจับกุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค.49 หลังจากไปตั้งแผงขายหนังสือบริเวณสวนลุมพินี ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยตำรวจได้ทำการยึดหนังสือกงจักรปีศาจและหนังสือฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2548)หรือที่เรียกกันว่า ปกโค้ก ไปอย่างละ 1 เล่ม ในชั้นสอบสวนเขาให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 40,000 บาท จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ในคำฟ้องปรากฏ 6 ข้อความจากหนังสือกงจักรปีศาจเพียงเล่มเดียว ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของรพระบาทสมเด็จพระปรเมนมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
นายอ.กล่าวว่ามีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามตลาดนัดและที่ชุมนุม ที่ผ่านมาเคยไปขายทั้งในที่ชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง สำหรับหนังสือที่ขายนั้นมีหลากหลายประเภท โดยมีทั้งส่วนที่มีผู้นำมาฝากขายและรับซื้อหนังสือเก่า และไม่เคยอ่านเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว
หนังกงจักรปีศาจจัดเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ตามคำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์โดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ ลงวันที่ 31 พ.ค.49 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ในประกาศระบุว่า ด้วยปรากฏว่า สิ่งพิมพ์ ชื่อ “กงจักรปีศาจ” เขียนโดย Mr.Rayne Kurger แปลโดย เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ได้ลงโฆษณาข้อความอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ห้ามการขาย หรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่า กงจักรปีศาจตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 โดยสำนักพิมพ์แคสเซลล์ (Cassell) รัฐบาลไทยได้สั่งห้ามตีพิมพ์ในทันทีและตัวครูเกอร์เองก็ถูกห้ามเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ในปี พ.ศ. 2517 และมีการหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมืดในประเทศไทย โรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับภาษาไทยโดนเผาทำลาย เนื้อหาของหนังสือเป็นแนวสืบสวนการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แบ่งเป็น 4 บท โดยบทท้ายมีข้อสรุปของผู้เขียนที่ว่าคำอธิบายที่น่าพอใจคือทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง เขาสนับสนุนทฤษฏีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและเพื่อนนักศึกษานิติศาสตร์ แมรีเลน เฟอร์รารี (Marylene Ferrari) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในสยาม
ส่วนหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยนั้น จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน วางจำหน่วยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.48 จากนั้นวันที่ 28 มี.ค.49 มีคำสั่งจากเจ้าพนักงานการพิมพ์กรุงเทพมหานครสั่งห้ามขายหรือจ่ายแจก โดยลงประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 12 เม.ย.49
วันที่ 29 มี.ค.49 ผู้ชุมนุม ‘คาราวานคนจน’ ที่ชุมนุมกันอยู่ที่สวนจตุจักรทำการเผาวารสารฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวและเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ กล่าวหานายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ให้สัมภาษณ์ในวารดังกล่าว และนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการและบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาวารสารฉบับดังกล่าวว่ากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
วันที่ 31 มี.ค.49 นายธนาพล ยื่นจดหมายอุทธรณ์คำสั่งห้ามการขายหรือจ่ายแจกฯ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
วันที่ 1 เม.ย.49 เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ เดินทางไปที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม และทำการยึดวารสารฟ้าเดียวกันฉบับ "สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย"หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจฯ 4 นายได้เดินทางไปที่บ้านของผู้ลงทะเบียนเปิดใช้ตู้ ปณ.156 ปณจ.ยานนาวา ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเช่าไว้โดยเชิญบุคคลดังกล่าวไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจสำราญราษฎร์ ต่อมาวันที่ 4 เม.ย.นายธนาพลเดินทางไปแสดงตนและรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 กับพนักงานสอบสวน
ในอีกราว 1 ปีถัดมา หรือในวันที่ 25 พ.ค.50 นายธนาพลได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อีกครั้ง จากกรณีที่เขาร่วมกับผู้ขายหนังสือรายหนึ่ง จำหน่ายวารสารฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวจำนวน 5 เล่ม เมื่อครั้งจัดงานขายหนังสือฟ้าเดียวกันฉบับดังกล่าวในงานครบรอบ 4 เดือนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายชื่อหนังสือต้องห้ามจากฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า