อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ฝ่ายค้านประท้วงเพราะถูกผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาพยายามไม่ให้ ส.ส. ใช้สิทธิอภิปราย ยันไม่มีการวางแผน ทุกคนแสดงออกตามข้อบังคับการประชุม พร้อมยืนยันไม่ได้ขัดข้องหาก ส.ว. จะมาจากประชาชน แต่จะทำอย่างไร ไม่ให้การเมืองเข้าไปครอบงำ พร้อมฝากเรื่องอียิปต์ถือเป็นบทเรียนสำหรับทุกคนเรื่องความขัดแย้ง
เมื่อวันที 21 ส.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ 101 องศาข่าว ช่วงตรงไปตรงมากับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางสถานีวิทยุ FM 101 MHz ถึงภาพรวมการประชุมร่วมรัฐสภาว่าวันนี้เรียบร้อยกว่าเมื่อวาน ขณะนี้กำลังอภิปรายในมาตรา 3
"วันนี้เรียบร้อยกว่าเมื่อวานครับ ล่าสุดก็ผ่านมาตรา 2 ไปแล้วครับ แล้วก็ขณะนี้ก็เพิ่งเริ่มต้นในการอภิปรายในมาตรา 3"
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการอภิปราย 2 วันที่ผ่านมาว่า "ผมคิดว่าเนื่องจากมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งก็คงได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวาน และผมเชื่อว่า คนเห็นก็คงไม่สบายใจเท่าไหร่หรอกครับ กับสภาพของการประชุมสภา ซึ่งมีเหตุการณ์ความวุ่นวาย แล้วก็มีหลายอย่างซึ่งต้องบอกว่า แม้แต่ผมเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน ในสภาพที่เป็นเช่นนี้"
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าวันนี้จะเรียบร้อย "ก็เหตุผลที่มันง่ายๆ ที่มันเรียบร้อยก็คือว่า ขณะนี้สมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน หรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย มีความประสงค์ที่จะแก้ไขกฎหมายที่รัฐบาลหรือสมาชิกเสนอเข้ามา แล้วก็กรรมาธิการได้ไปพิจารณาแล้วก็มีเสียงข้างมากว่า ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ในการอภิปรายแสดงเหตุผลว่าที่เราเสนอแก้ไขนั้น มันมีเหตุผลอะไร แต่ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มันมาจากตรงนี้เท่านั้นเองว่า สมาชิกถูกตัดสิทธิ์"
"แล้วก็ผมถึงได้ย้ำเมื่อคืนนี้นะครับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ มันก็แปลกครับ มันไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน เมื่อวานนี้ผมยังพูดเลยว่า สมาชิกฝ่ายพรรครัฐบาลเองก็แสดงออกถึงความเรียบร้อย อดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้มาเป็นคู่ขัดแย้งแต่ประการใด"
"แต่ว่าประธาน ผู้ทำหน้าที่ประธานนั้นพยายามที่จะไม่ให้สมาชิกใช้สิทธิ แล้วก็ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงนะครับ อย่างเมื่อวานนี้เริ่มต้นขึ้นมา ก็มีการแจ้งว่ามีสมาชิก 57 คนแปรญัตติซึ่งประธานกรรมาธิการเห็นว่าขัดกับหลักการ ซึ่งการแปรญัตติขัดกับหลักการนั้นก็จะไม่สามารถเป็นผลได้ตามข้อบังคับ"
"แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจว่ามันขัดหรือไม่ขัดนั้น ก็ต้องมาดูกัน ซึ่งก็เป็นอำนาจของสภา ทีนี้แทนที่ท่านประธาน ซึ่งตอนแรกประธานท่านนึงบอก เอาละแต่ละคนก็คงต้องมาชี้แจง แสดงเหตุผลกัน ก่อนที่สภาจะบอกว่าคุณแปรญัตติไม่ได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเปลี่ยนประธาน ประธานอีกท่านนึงขึ้นมาบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ประเด็นนี้เดี๋ยวลงมติเลย ให้พูดฝ่ายละ 2 คน"
"ผมก็ลุกขึ้นสอบถามประธาน เพราะผมไม่เข้าใจว่ามันจะทำได้อย่างไร เพราะว่าคน 57 คนนั้นเขาแปรญัตติ เขาไม่ได้แปรเหมือนกัน อยู่ดีๆ จะมาลงมติว่า ทั้ง 57 คนนี้ แปรขัด หรือแปรไม่ขัด มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วที่สำคัญก็คือว่า ไม่ให้โอกาสเขาอธิบายด้วย จู่ๆ ก็บอกว่า นี่เขาแปรขัด แล้วก็ให้คนที่มาบอกว่า เขาแปรไม่ได้อีก 2 คนอภิปราย แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อภิปราย ท่านประธานบอกใครจะอภิปรายบ้าง ก็ยกมือหลายคน ท่านบอกไม่ต้องอภิปราย ลงมติเลย ก็ทำให้สมาชิกยืนขึ้นประท้วงครับ"
"ก็ประท้วงกันทั้งนั้นแหละครับ พอยืนขึ้นประท้วง แทนที่ประธานจะฟังว่า ประท้วงกันเรื่องอะไร ประธานก็บอกว่าเอาตำรวจเข้ามา เพื่อเอาสมาชิกทุกคนที่ยืนขึ้นออกจากห้องประชุม แหม จะเรียกว่าอะไรครับ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หรือเปล่าครับ ที่มีการสลายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในห้องประชุม ก็เลยเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น จากนั้นมีการเรียกตำรวจปราบจลาจลมาอีก แต่ว่าให้อยู่ข้างนอกสภา เหตุการณ์ก็เลยบานปลาย"
"ก็สุดท้ายก็เมื่อคืนนี้หลังจากที่ทุกฝ่ายตั้งหลักกัน ก็จึงมาบอกว่า มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ดังนั้นก็มาทำความเข้าใจกันซะ พอมาเช้าวันนี้หลังจากที่พูดคุยกัน ก็เปิดโอกาสให้สมาชิกที่เขาแปรญัตติได้อธิบายในมุมมองของเขา ก็จบครับ ตอนนี้ก็เดินหน้าในการที่จะให้สมาชิกแต่ละท่านนั้นก็อภิปรายคำแปรญัตติของตัวเองไป ก็ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา"
"แต่ความพยายามที่จะไปตัดสิทธิ์ เพื่อการรวบรัด มันคือตัวที่สร้างปัญหา แล้วก็เราก็ยังพูดกันอยู่เลยบอก เอ๊ะ ความจริงถ้าเกิดเมื่อวานนี้เริ่มต้นก็ให้พูด ป่านนี้อาจจะจบแล้วก็ได้นะครับ แต่ตั้งป้อมมาไม่ให้พูดปั๊บ นี่ ก็เป็นปัญหา แล้วก็เมื่อวานนี้ตอนค่ำก็ยังเติมเข้าไปอีกว่า พออภิปรายมาตรา 1 ประธานบอกว่า ถือว่าคนที่อภิปรายนั้นสละสิทธิ์ เจ้าตัวเขาบอกเขายังอภิปรายไม่ได้ เพราะมันมีคนประท้วงอยู่ ท่านบอกตัดสิทธิ์"
"ตัดสิทธิ์เสร็จ ท่านก็บอกว่า มีคนติดใจมั้ย ก็คนยกมือกันเต็มเลย ท่านก็บอกว่า ไม่มีคนติดใจถือว่าผ่าน เลยให้ลงมติ ซึ่งก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแบบนี้ แล้วก็พร้อมๆ กันนั้นก็รู้สึกว่ามี คือจริงๆ ก็ไม่เห็นประธานแล้วละครับตอนนั้น เห็นแต่กำแพง อย่างกับกำแพงฟุตบอลแน่ะครับ ยืนล้อมอยู่"
"เพราะฉะนั้นเราก็หวังว่าไม่มีอีกแล้วนะครับ เราก็หวังว่าต่อไปนี้ให้เสียงข้างน้อยได้ใช้สิทธิ์ในสภา แล้วทุกอย่างก็จะได้เดินหน้าไปได้ ตอนนี้ก็เข้าสู่มาตรา 3 นะครับ มาตรา 1 เป็นชื่อร่าง มาตรา 2 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยจะบังคับใช้เมื่อไหร่ มาตรา 3 นี้ก็คงจะยาวละครับ เพราะว่ามาตรา 3 คือมาตราหลักที่บอกว่า สมาชิกวุฒิสภานั้นควรจะได้มาอย่างไร"
ต่อคำถามที่ว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับวิธีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "คือผมก็เรียนว่า ไม่มีใครวางแผนจะให้เกิดอะไรแบบนี้เลยนะครับ แต่คำถามก็คือว่า พอถูกตัดสิทธิ์กันนี้ ทุกคนก็ประท้วง ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ต้องแสดงออกตามข้อบังคับ แล้วก็เวลาประธานปิดไมค์ก็พยายามส่งเสียงให้ประธานได้ยิน แต่ว่าพอประธานบอกว่า เอาตำรวจมาเอาตัวออกไป ผมก็ถามว่าแล้วเขาทำกันยังไงล่ะครับ ใช่มั้ยครับ ก็เกิดการมะรุมมะตุ้มกันขึ้น"
"เมื่อวานนี้ผมคิดว่าคนที่อธิบายเรื่องได้ดีที่สุดก็คือ ส.ส.เทอดพงษ์ ไชยนันท์ ซึ่งก็เป็น ส.ส. มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 กว่า 38 ปี ท่านก็พูดชัดนะครับว่า ถ้าประธานนั้นให้ความเป็นธรรม เรื่องก็จะไม่เกิด แล้วท่านนั้นท่านโดนไปด้วย คือคุณนิพิฎฐ์ กับท่านยืน คุณนิพิฎฐ์นี่กำลังจะเดินออกจากห้อง ก็ถูกตำรวจ ประธานสั่งนี่ครับบอกว่า ใครยืนขึ้นจัดการหมด อันนี้คนจะออกจากห้องเขาก็ต้องยืนนะครับ พอประธานบอกว่า ให้จัดการ ไม่จัดการจะสอบวินัยด้วยนะครับ ขัดคำสั่งประธาน พยายามมาหิ้วตัวคุณนิพิฎฐ์ คุณเทิดพงษ์ยังโดนเลยครับ ท่านเกือบ 70 แล้วมั๊งครับ ท่านก็บอกไม่เคยเกิดมาก่อน ไม่เคยเกิดกับท่านมาก่อน ท่านก็เจ็บตัวไปด้วย"
แต่ว่าแน่นอนครับ ในรายละเอียดของทุกเหตุการณ์ มันก็คงจะมีหลายการกระทำซึ่งดูแล้ว ไม่งาม ไม่เหมาะสม ก็ขอเรียนว่า เราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ แต่ว่าถ้าไม่มีการทวงสิทธิ์อย่างนี้ ก็ในที่สุดก็เท่ากับเหมือนกับไม่มีสภา ขณะนี้ก็ทุกอย่างเข้าที่แล้ว เมื่อเราได้ใช้สิทธิ์ทุกอย่างก็เรียบร้อย ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย"
นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอหลัก Filibuster ที่ให้ทุกคนได้อภิปรายด้วยว่า "จริงๆ แล้วในทุกระบบ เราก็เคารพเสียงข้างมากครับ แต่ว่าเสียงข้างน้อยนั้นก็จะมีสิทธิ์ สิทธิ์มากน้อยแค่ไหนก็เป็นไปตามระบบ บางประเทศโดยผลของกฎหมายข้อบังคับนั้น บางครั้งให้สิทธิ์ถึงขนาดที่เรียกว่า ผ่านไม่ได้เลยนะครับ ใครที่คุ้นกับสหรัฐฯ นั้นจะทราบดีว่ามีการใช้วิธีการอย่างนี้จนกฎหมายตก ซึ่งเขาไม่ใช้กันพร่ำเพรื่อหรอกครับ อย่าลืมนะครับว่า แต่ละสมัยประชุม กฎหมายผ่านสภานี่เป็นร้อยฉบับนะครับ เขาก็ไม่เกิดอย่างนี้หรอกครับ แต่เฉพาะเรื่องใดก็ตามซึ่งมันเป็นเรื่องที่มีการคัดค้านกันอย่างรุนแรง ในต่างประเทศก็เหมือนกันก็จะมีปัญหาในแบบนี้เกิดขึ้น"
"ส่วนวิธีการที่จะใช้ในการที่จะชะลอ ในการที่จะแสดงออกคัดค้าน หรือให้มันช้า หรือไม่ให้มันผ่านไปได้นั้น ก็ต้องอยู่ในกรอบ ไอ้ไม่อยู่ในกรอบเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีนะครับ ผมเห็นที่ไต้หวันใช่มั้ยครับ นั่นก็คือฝ่ายค้านไม่ยอมให้ฝ่ายรัฐบาลไปเข้าประชุมอะไรอย่างนี้ แต่เมื่อวานนี้ไม่มีหรอกครับ ต้องการแค่ใช้สิทธิ์ครับว่า เอ๊ะ แปรญัตติแล้วทำไมไม่ให้อภิปราย แค่นั้นเองครับ"
"หลักๆ ของความวุ่นวายวานนี้ ก็คือการประท้วงการทำหน้าที่ของประธาน แม้ว่าวันนี้จะเริ่มคลี่คลาย แต่มองได้หรือไม่ว่า ต่อไปนี้ในการเชื่อใจในการทำหน้าที่ของประธาน แม้กระทั่งในส่วนของวุฒิสภาเองกับ นายนิคม และแม้กระทั่งนายสมศักดิ์ จะเป็นอย่างไรต่อไปในการประชุมครั้งต่อไป"
"ที่จริงคุณสมศักดิ์นั้นถูกยื่นถอดถอนอยู่แล้วนะครับ เพราะว่าเรามองว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนข้อบังคับนั้นหลายครั้ง อย่างเมื่อวานนี้ชัดเจนเลยครับ ผมนั่งลง ผมถามท่านดีๆ ท่านตอบเสร็จแล้วก็บอกว่า ท่านจะเอาอย่างนี้เป็นไงเป็นกัน ใช้แบบนี้นะครับ แล้วก็บอกว่า เอ้า ใครจะอภิปรายมา ยกมือมา มีคนยกมือ ท่านก็บอกว่า เอ้า ถือว่าไม่มี หรือจะลงมติก็บอกว่า มีใครเห็นเป็นอย่างอื่นมั้ย คนยกมือกันเป็นสิบ ท่านก็บอกว่าไม่มีไม่ติดใจ จบผ่าน ก็ไม่รู้จะทำยังไงกันจริงๆ ครับ ก็ต้องประท้วงท่าน"
"ทีนี้กรณีของคุณนิคม ก็มีอีกกรณีหนึ่ง คือเราก็มองว่า ท่านนั้นมีส่วนได้เสียโดยตรงกับเรื่องนี้ ฉะนั้นก็ไม่แน่ใจว่าท่านจะทำหน้าที่เป็นกลางได้มั้ย ท่านก็พูดบนบัลลังก์เลยครับบอกว่า เรื่องนี้มันไม่ใช่กฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม ท่านอภิปรายเสร็จสรรพ ไม่เป็นกลางเข้าไปแล้ว เห็นมั้ยครับ อย่างนี้แหละครับ ก็คือเป็นข้อกังขาที่มันเกิดขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้นท่านประธานก็ต้องไปทบทวนนะครับ ทั้ง 2 ท่าน เพราะว่าตำแหน่งนี้ก็เป็นตำแหน่งซึ่งถ้าไม่ถูกถอดถอน หรือไม่ลาออก ท่านก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป ก็หนีไม่พ้นหรอกครับ แต่ว่าเวลาใดก็ตามที่ท่านทำหน้าที่ตามปกติ ตามข้อบังคับ เป็นกลาง สภาก็เรียบร้อย แต่ยามใดก็ตามซึ่งท่านพยายามที่จะไม่ให้ดำเนินการตามสิทธิ ที่แต่ละฝ่ายมี ตามข้อบังคับนั้นความวุ่นวายก็เกิดขึ้น"
ส่วนคำถามที่ว่าในจุดยืนของประชาธิปัตย์ในเรื่องที่มาของ ส.ว. นั้น เป็นอย่างไร "หลักแล้วผมคิดอย่างนี้ ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้ขัดข้อง การที่วุฒิสภาจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แล้วก็จริงๆ จำนวนมากนี่ก็ไม่ได้ติดใจว่าวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าจำเป็นต้องพูดไว้นิดหนึ่งว่า จริงๆ ถ้าดูวุฒิสภาหรือสภาสูงทั่วโลกแล้ว มีทุกรูปแบบ แต่งตั้ง สรรหา เลือกตั้ง เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า สภาสูงนี้ ไม่ได้มาทำหน้าที่เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เขาไม่ได้มาเลือกรัฐบาล ไม่ได้มาเลือกนายกฯ เขาถูกยุบไม่ได้ และเขาก็ไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐบาลไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วที่ต้องมี 2 สภานี้ สภาสูงนี้เขาต้องการคนที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่หน่อย มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มากลั่นกรองกฎหมาย แล้วก็ของเรานั้น โดยเฉพาะอยากให้เป็นกลาง ไม่ให้สังกัดพรรคเพราะว่าจะต้องมาให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง"
"ดังนั้น เอาละ เมื่ออยากจะเลือกตั้ง ได้ แต่ต้องหาแนวทาง หรือบทบัญญัติ จะเรื่องระบบการเลือกตั้ง จะเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามใดๆ ก็ตาม ที่ดีที่สุด ที่จะทำว่าเราได้คนตามวัตถุประสงค์ คือคนที่เป็นกลาง รัฐบาลหรือฝ่ายรัฐบาลขณะนี้กำลังจะบอกว่า ให้กลับไปเหมือนปี 40 แต่การกลับไปเหมือนปี 40 มันต้องไปดูบทเรียนว่า ปี40 นั้น ในที่สุดถูกขนานนามว่าเป็น สภาทาส และพฤติกรรมการแทรกแซงมีอยู่แม้แต่ในคำวินิจฉัยของคดีต่างๆ"
"ดังนั้นส่วนใหญ่การแปรญัตติก็จะเป็นวิธีการว่า เอ๊ะ หาวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีระบบการเลือกตั้ง หรือมีวิธีที่จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่า ไม่ถูกการเมืองเข้าไปครอบงำ อย่างเช่นผม ท่านอดีตหัวหน้าบัญญัติ ก็จะคิดว่า ทำเขตเลือกตั้งให้มันใหญ่สิ ทำเป็นกลุ่มจังหวัดเลยก็มี บางท่านก็บอก แทนที่จะเลือกโดยตรงจากประชาชน เลือกโดยตรงเหมือนกัน แต่จากกลุ่มอาชีพได้มั้ย อย่าไปแบ่งตามพื้นที่ แบ่งตามกลุ่มอาชีพ อย่างนี้เป็นต้น นี่คือหลักของการแปรญัตติที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้ดำเนินการกันไป"
ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อเป็นเสียงส่วนน้อย จะยื้อจนถึงที่สุดก็แล้วจะอย่างไรต่อไป นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็ในที่สุดรัฐบาลก็คงสามารถผ่านได้ครับ แล้วจะยังไงต่อก็มาว่าในวาระ 3 ครับ วาระ 2 เสร็จสิ้นก็ต้องเว้น 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็มาลงมติเห็นชอบอีกครั้งในวาระ 3 ครับ แต่ว่าสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเราติดใจแน่นอนก็คือว่า กรณีของสมาชิกวุฒิสภาที่มีส่วนได้เสีย เนื่องจากครั้งนี้ นอกจากจะให้เลือกตั้งแล้วมีการแถมครับว่าเดิมนั้น วุฒิสภาเขาให้ดำรงตำแหน่งวาระเดียว ไม่ใช่มากกว่า 1 วาระติดต่อกันได้ แต่มาแก้ให้ดำรงตำแหน่งหลายวาระติดต่อกันได้นี่ก็เป็นการเปิดทางให้ชุดนี้ ที่จะหมดวาระนี้สามารถไปลงเลือกตั้งได้"
"ก็เกิดคำถามถึงความเหมาะสมว่า สมควรที่จะมีอำนาจพิจารณาเรื่องมั้ย เพราะมีส่วนได้เสีย อันนี้ก็เลยชี้แจงด้วยนะครับ เพราะว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แม่ลูกจันทร์ ก็เขียนอะไรเลอะเทอะไปหมด บอกว่า อ้าวสมัยผมนั้น อยากให้เลือกตั้ง เปลี่ยนระบบเลือกตั้งไม่มีส่วนได้เสียเหรอ ผมอยากชี้แจงข้อเท็จจริง 2 ข้อนะครับ 1. นั้นมีประวัติไว้ชัดเจน ผมนั้นเห็นด้วยกับเรื่องเขตเลือกตั้งใหญ่ แต่ที่ผมเสนอให้เป็นเขตละคนนั้น เพราะมันมีคณะกรรมาธิการ และกรรมการปรองดองหลายชุดที่เขาเสนอว่าให้แก้เป็นเขตเล็ก ผมก็เคารพ 2. นั้นจะเป็นเขตเล็ก เขตใหญ่ สิทธิพวกผมเท่าเดิม คือไปลงสมัครรับเลือกตั้ง"
"แต่กรณีนี้จากคนที่มีสิทธิ์พิจารณารัฐธรรมนูญนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นวุฒิสภา ให้สิทธิ์ตัวเองที่จะไปลงรับสมัครเลือกตั้งได้ จึงมีผลประโยชน์ขัดกัน กรณีต่างกันมากครับ ผมก็ไม่รู้ว่าเขียนไปได้อย่างไร เลอะเทอะมาก"
ส่วนเวทีปฏิรูปการเมืองวันที่ 25 ส.ค. นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ยังไม่มีจดหมายเชิญเลยครับ"และไม่ได้คาดหวังกับเวทีดังกล่าว เพราะประกอบไปด้วยคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาล และถ้ารัฐบาลสนใจเรื่องปฏิรูป คงไม่เพิ่งมาเริ่มทำ พร้อมแนะนำให้ถอนกฎหมายนิรโทษกรรมออกไป จะทำให้สงบลงเยอะ
นอกจากนี้ในรายการดังกล่าว ผู้ดำเนินรายการสอบถามนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในอียิปต์ด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็เรียนว่าขณะนี้นั้นยังตอบยากจริงๆ นะครับว่า ในที่สุดจะไปจบลงอย่างไร แต่อันนั้นก็เป็นบทเรียนอีกบทเรียนหนึ่งซึ่งพวกเราทุกคนก็ต้องดูเอาไว้ว่า ถ้ามันขัดแย้งไปถึงจุดนั้นแล้วละก็จะเป็นปัญหาต่อไป"
ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดอเมริกาจึงไม่เรียกว่าเป็นรัฐประหาร ทั้งๆ ที่มอร์ซี่ ที่ถูกโค่นอำนาจก็มาจากการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมก็เข้าใจว่ามันเลยจุดนั้นไปแล้ว แล้วก็ทางสหรัฐฯ เองก็อาจจะมองว่าในช่วงที่อดีตประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งอยู่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งก็ขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่การเข้าไปดำเนินการครั้งนี้นั้นมันก็มองยากครับ ที่จะไปบอกว่ามันไม่ใช่รัฐประหาร มันก็เป็นนะครับ ประเด็นตอนนี้ก็คงไม่ค่อยจะมีประโยชน์ที่จะมาเถียงตรงนั้นแล้ว เท่ากับว่า จะทำอย่างไรต่อไปที่จะไม่ให้มันบานปลายขัดแย้ง แล้วก็สูญเสียกันมากกว่านี้"
ส่วนเรื่องการประสานงานนำคนไทยออกมาจากอียิปต์นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็ตอนนี้รัฐบาลก็กำลังดำเนินการนะครับ ในการช่วยเหลือให้พี่น้องกลับมาครับ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องครับ"