ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุการประชุมสองสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มา ส.ว. จะกระทบโครงสร้างประเทศ จะเป็นการผูกขาดประเทศไทยไว้ในกำมือของผู้มีอำนาจเสียงข้างมากในสภา และวุฒิสภากลายเป็น "เผด็จการทาส"
เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ว่าการแก้ไขที่มาส.ว.อาจกระทบต่อโครงสร้างของประเทศ โดยมีเป้าหมายกินรวบประเทศไทย หรือ ผูกขาดประเทศไทยไว้ในกำมือของผู้มีอำนาจมีเสียงข้างมากในสภา ซึ่งตนคิดว่าเป็นการวางแผนมาตั้งแต่ต้น เพราะร่างแก้ไขที่มา ส.ว. มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมเซ็นชื่อกับ ส.ว.บางส่วนเกือบทั้งพรรค เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แสดงให้เห็นว่าเริ่มต้นก็มีการอำพรางแล้ว เป็นการวางแผนแบบผลัดกันเกาหลัง เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังเอื้อประโยชน์กันและกันในรัฐสภา
นายองอาจ กล่าวว่า หากดูเนื้อหาให้ที่มาจากการเลือกตั้งก็จะเห็นว่า เป็นรูปแบบที่เลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่เคยถูกตั้งฉายาว่า "สภาทาส"และหากผ่านแล้วก็จะหนักกว่า "สภาทาส"โดยจะเป็น วุฒิสภา "เผด็จการทาส"เพราะการแก้ไขในลักษณะนี้จะทำให้การดำเนินการของวุฒิสภาที่มีอำนาจทั้งการแต่งตั้ง ถอดถอนองค์กรอิสระ ถ้าเสียงข้างมากในวุฒิสภาใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจและสภาผู้แทนราษฎรก็จะฮั้วกัน เพื่อแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ทำให้องค์กรอิสระที่ควรทำงานด้วยความเป็นกลางจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามวัตถุประสงค์ แต่จะเป็นแค่องค์กรทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจในการถอดถอนด้วย หากโครงสร้างเป็นเช่นนี้จะเป็นการผูกขาดประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.กว่า 100 คนแปรญัตติในเรื่องนี้ รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่พยายามดำรงรักษาความเป็นกลางของสมาชิกวุฒิสภาไว้ให้ได้มากที่สุด จึงอยากให้เสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อยอย่างของฝ่ายค้าน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่าใช้เสียงข้างมากลากไปสู่เป้าหมายอันเลวร้าย
นายองอาจ กล่าวว่า ทั้งนี้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และเราคงไม่ได้เห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เข้าร่วมประชุมเพราะนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งที่เมื่อดูภารกิจงานแล้วสามารถที่จะส่งรองนายกฯไปปฏิบัติราชการแทนได้ จึงขอตำหนินายกฯ ว่าไม่ควรละเลยการทำหน้าที่ในสภา และตนเองก็เคยพูดเสมอว่า การแสวงหาทางออกให้ประเทศควรใช้เวทีรัฐสภา ถ้ายังดำเนินการลักษณะนี้ก็เป็นการพูดอย่างทำอย่างไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ