Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ผู้นำ AI จากทั่วโลกร้องทางการอียิปต์เอาผิดคนปราบประชาชน

$
0
0
ผู้นำแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกระบุ ต้องมีการสอบสวนอย่างรอบด้าน สำหรับการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่อียิปต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้กระทำผิดหรือผู้สั่งการให้ปราบปรามการชุมนุมจนถึงขั้นเอาชีวิตผู้คนและเกินกว่าเหตุ ต้องเข้ารับการไต่สวน
 
ผู้นำแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกกล่าวระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่กรุงเบอร์ลินในวันนี้ว่า จะต้องมีการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียงและมีประสิทธิภาพ สำหรับการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่อียิปต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้กระทำผิดหรือผู้สั่งการให้ปราบปรามการชุมนุมจนถึงขั้นเอาชีวิตผู้คนและเกินกว่าเหตุ ต้องเข้ารับการไต่สวน
                
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่ารัฐบาลชั่วคราวได้ทำสถิติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี ตั้งแต่การละเมิดสัญญาว่าจะไม่ใช้อาวุธที่รุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซี และการปล่อยให้ผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่ชุมนุมอย่างปลอดภัย แถมรัฐยังหาเหตุผลสนับสนุนปฏิบัติการของตนเองทั้ง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนอย่างน่าอนาถใจ
                
“ที่ผ่านมาประชาคมนานาชาติยังไม่แสดงท่าทีที่เข้มแข็งและเป็นผล แม้ทุกฝ่ายจะออกมาประณามการสูญเสียชีวิตอย่างโหดร้ายเช่นนี้ แต่ประชาคมนานาชาติต้องทำหน้าที่อย่างจริงจังเพื่อประกาศว่า จะให้ความเชื่อถือต่อรัฐบาลประเทศใดก็ตามที่ปฏิบัติตนเช่นนี้”
                
“แม้จะมีหลักฐานว่าผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายมอร์ซีบางคนใช้ความรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนการตอบโต้ที่เกินกว่าเหตุ ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลที่นำไปสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมทุกคน โดยไม่มีการแยกแยะว่าบุคคลใดใช้และยุยงให้ก่อความรุนแรง หรือบุคคลใดเพียงแต่แสดงความเห็นของตน ไม่มีประเทศใดที่กองกำลังของรัฐจะกระทำการอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายเช่นนี้ โดยปราศจากเหตุอันควร”
                
ผู้นำจากกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประชุมร่วมกันที่กรุงเบอร์ลินในสัปดาห์นี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีซึ่งจัดขึ้นทุกสองปีของสภาบริหารสากล (International Council Meeting) ปฏิบัติการแรกในระหว่างการประชุมของผู้นำ นักเคลื่อนไหวและอาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ได้แก่การรวมตัวกันของผู้เข้าร่วมประชุมในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอียิปต์ยุติการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุหรือโดยไม่จำเป็น และให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง จากนั้นมีการยื่นจดหมายประท้วงให้สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำกรุงเบอร์ลิน
                
เซลมาน คาลิสกัน (Selman Caliskan) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเยอรมนีกล่าวว่า พวกเราซึ่งมาจากทั่วโลกในฐานะสมาชิกขบวนการระดับโลก และได้มาอภิปรายถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่เราใช้โอกาสนี้รำลึกถึงความสูญเสียชีวิตอย่างน่าอนาถใจในอียิปต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
                
“การที่ประชาชนหลายร้อยคนทั่วอียิปต์ถูกเจ้าหน้าที่สังหาร อีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่วันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ นอกจากการสอบสวนอย่างรอบด้านแล้ว ไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะหลักประกันความยุติธรรมให้กับเหยื่อและทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษ”
                 
นับแต่การโค่นล้มประธานาธิบดีมอร์ซีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในอียิปต์ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลการละเมิดสิทธิร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง จนลุกลามมาถึงการทำร้ายผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างป่าเถื่อน การละเมิดเหล่านี้ยังรวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากเหตุผลด้านศาสนาที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีการโจมตีชาวคริสต์นิกายคอปติกทั่วประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ต่อการที่ชาวคริสต์เหล่านี้สนับสนุนการโค่นล้มนายมอร์ซี นักเคลื่อนไหวชาวคริสต์นิกายคอปติกเก็บข้อมูลการโจมตีโบสถ์กว่า 60 ครั้ง นับแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างรุนแรง ในขณะที่ทางการก็ไม่สามารถแทรกแซงเพื่อระงับความรุนแรงเหล่านี้ได้
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิที่กระทำโดยผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายมอร์ซี ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน และการสังหารบุคคล ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าผู้สนับสนุนนายมอร์ซีบางส่วนใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก มีการโจมตีอาคารของหน่วยงานรัฐและสถานีตำรวจ รวมทั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผู้ประท้วงบางคนยังได้ยิงกระสุนปืนจริงใส่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเด็ก และมีการยิงปืนใส่ฝ่ายที่คิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง ผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงควรถูกนำตัวมารับโทษต่อความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้น
                
“ที่ผ่านมาทางการอียิปต์มักไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐมารับโทษ กรณีที่ใช้ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็น ทางการอียิปต์จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ชำนาญการจากองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะผู้รายงานพิเศษด้านการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การสังหารอย่างรวบรัดหรือโดยพลการ (Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions) เข้ามาในประเทศเพื่อสอบสวนพฤติการณ์การใช้ความรุนแรงและแบบแผนการใช้กำลังถึงขั้นชีวิตอย่างเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็นของทางการอียิปต์” นายเช็ตติกล่าว
                
“อียิปต์กำลังละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นสภาพที่โหดร้ายทารุณมากสุด ทางการอียิปต์ต้องดำเนินการโดยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตเพิ่มเติม พร้อมกับฟื้นฟูความสงบและเรียบร้อยให้กับสังคม” นายเช็ตติกล่าว
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
                
จำนวนผู้เสียชีวิตของผู้ชุมนุมและผู้ที่มุงดูเพิ่มขึ้นกว่า 800 คนแล้ว นับแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยแจ้งต่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 69 นายที่เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา
                
ภายหลังความรุนแรงตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในไคโรพยายามหาทางตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น พวกเขาได้พยายามเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลชั่วคราวหลายแห่งในกรุงไคโร รวมทั้งที่ห้องดับจิตเซนฮูม (Zeinhum) และมัสยิดแห่งหนึ่งซึ่งใช้เป็นที่เก็บศพหลายสิบศพชั่วคราว นักวิจัยได้เก็บรายละเอียดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และมีรายงานของประจักษ์พยานซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพยาบาล พวกเขาบอกว่าผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ส่วนบนของร่างกาย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles