เสวนาทบทวน-วิจารณ์รายงาน กสม. ช่วงสลายชุมนุมปี 53 ที่ Book Re:public เชียงใหม่ โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี สมชาย ปรีชาศิลปกุล ดำเนินรายการโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
17 ส.ค. 56 ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “แน่นอก กสม.” อันเป็นการทบทวนปฏิกิริยาต่อ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553"(อ่านรายงาน) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และสมชาย ปรีชาศิลปกุล และดำเนินรายการโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
000
พิภพอุดมอิทธิพงศ์กล่าวว่าในสายตาของตน รายงานของกสม.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นแม้แต่รายงาน เพราะไม่มีคุณภาพ และไม่มีบัญชีพยาน โดยปกติการทำรายงานตรวจสอบในลักษณะนี้ ส่วนที่ยาวที่สุดจะเป็นเชิงอรรถหรือภาคผนวก โดยระบุว่าพยานมาจากไหน มีกี่คน หรือในกรณีที่เป็นเรื่องอ่อนไหว ก็จะลงชื่อเป็นชื่อปลอมของเขา หรือลงเท่าที่เขาไม่เป็นอันตราย เช่น ลงชื่อเมืองอะไรที่มันกว้างๆ แต่รายงานกสม.ฉบับนี้ ไม่มีภาคผนวก ไม่มีสิ่งที่ยืนยันถึงวิธีวิทยาในการเก็บข้อมูล ประธานกสม.บอกว่าเราก็เชิญเสื้อแดงนะ แต่เขาไม่ยอมมา แต่มันนำมาใช้เป็นเหตุผลไม่ได้ เพราะขนาดคอป.ยังไม่เคยอ้างเหตุผลแบบนี้เลย แล้วรายงานของคอป.ยังมีภาคผนวกอะไรที่ชัดเจนกว่านี้มาก
รายงานของกสม.จึงไม่มีอะไรที่จะยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้มา ไม่มีการระบุว่าเป็นพยานคนใด ระบุแต่ว่าเป็น “พยาน” ทำให้สืบค้นกลับไปไม่ได้ว่า พยานที่บอกว่าเห็นชายชุดดำใช่คนเดียวกับพยานคนที่บอกว่ามีการยิงต่อสู้กันใต้รถไฟฟ้าบีทีเอสที่หน้าวัดปทุมฯ หรือไม่ ซึ่งมันขัดกับรายงานวิจัยหรือการศึกษาที่เป็นระบบอยู่แล้ว
“ตอนรายงานคอป. ออกมา ผมบอกว่าเป็นใบอนุญาตสั่งฆ่า แต่อันนี้ ผมว่าแย่กว่าอีก มันเป็นคำพิพากษาเลย ที่ต้องการจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ผิด เป็นการกระทำการโดยประมาท และเป็นการกระทำเพราะความจำเป็น เหตุผลเพราะว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ มีกองกำลัง ถ้าดูข้อสรุปตอนท้ายรายงาน ไม่มีการระบุเลยว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารประชาชน” พิภพกล่าว
พิภพระบุว่า ที่ผ่านมามีการไต่สวนการตาย 5-6 คดี เช่น คดีช่างภาพชาวอิตาลี ศาลระบุว่ายิงมาจากฝั่งทหาร หรือกรณี 6 ศพที่วัดปทุมฯ ศาลระบุชัดเจนว่าเป็นกระสุนของทหารหน่วยไหน แม้จะระบุตัวบุคคลไม่ได้ แต่มันก็มีความชัดเจนมาก ซึ่งรายงานกสม.ออกมาหลังจากที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายในหลายกรณี ทำไมกสม.ถึงยังมีข้อสรุปว่าไม่มีเหตุจะระบุได้ว่าเป็นการเสียชีวิตเพราะใคร และอย่างไร
รายงาน กสม.จึงเป็นเหมือนรายงานตรวจสอบประชาชน มากกว่าตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่รายงานตรวจสอบ (Inquiry) โดยปกติ จะเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก เช่น กรณี Bloody Sunday เป็นกรณีที่อังกฤษส่งทหารเข้าไปในไอร์แลนด์เหนือ และมีการยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 14 คน และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลายคณะ แต่คนก็ไม่ยอมรับ จนรายงานฉบับสุดท้ายของลอร์ด Saville ระบุชัดเจนว่าผู้ชุมนุมที่ไอร์แลนด์เหนือมีอาวุธด้วย และระบุตัวบุคคล ระบุชนิดอาวุธปืนได้ แต่รายงานไม่มีหลักฐานว่ามีการนำอาวุธมาใช้หรือไม่อย่างไร สุดท้ายนายกฯ อังกฤษยอมรับว่าถึงจะมีอาวุธอะไรต่างๆ แต่การที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และไม่อาจหาเหตุผลมาสนับสนุนได้
การมีอยู่ของอาวุธในที่ชุมนุม จึงไม่ได้เป็นใบอนุญาตสั่งฆ่า ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คุณยิงเขาได้ โดยตาม “กฎของการใช้กำลัง” ซึ่งเป็นกฎสากล การใช้อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่จะทำได้สองกรณี คือเมื่อตนเองจะเป็นอันตราย และเมื่อบุคคลอื่นจะเป็นอันตราย ในการควบคุมการชุมนุมต่างๆ อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้มีไว้ใช้เพื่อสลายการชุมนุม
ถ้าดูจากผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในการชุมนุมของนปช. ไม่มีสักรายที่มีเขม่าปืน และมีอาวุธอยู่ใกล้ๆ ตัวเลย และกรณีที่เราเห็นส่วนใหญ่ ผู้ชุมนุมถูกยิงที่หัว และร่างกายส่วนบน จึงอธิบายว่าเป็นการถูกยิงด้วยสไนเปอร์และพลแม่นปืน ซึ่งการยิงแบบนี้ คุณเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นคุณ แล้วจะอ้างเรื่องการปกป้องอันตรายต่อตนเองได้อย่างไร หรือเป็นการปกป้องคนอื่นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง ก็ไม่ได้ เพราะคุณเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นคุณ เขาจะไปทำอะไรคุณได้ หรือเขาจะไปทำร้ายคนอื่นอย่างไร ในรายงานของกสม.ไม่ได้พูดถึงเรื่องกฎการใช้กำลังเลย กฎนี้จะเอามาเป็นตัววัดได้ว่ามันมีการกระทำที่เกินกว่าเหตุไหม
พิภพกล่าวต่อว่า ตนจึงเห็นว่ารายงานนี้เป็นคำพิพากษาเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐพ้นผิด ซึ่งเป็นเรื่องน่าละอายมาก การเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตามระบบกฎหมายในประเทศที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศในเวลานั้น มีภูมิคุ้มกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว กสม. ซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชน แต่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปปกป้องสิทธิของเจ้าพนักงานของรัฐอีก
000
ปิ่นแก้วเหลืองอร่ามศรีกล่าวว่ารายงานฉบับนี้ของกสม.เป็นคล้ายตะปูตัวสุดท้ายที่ตอกฝาโลงให้กับกสม.เอง ไปสู่จุดจบของการเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป โดยการทำรายงานสักชิ้นออกมา แล้วมีแต่คนด่า มันไม่ง่าย มันต้องมีลักษณะเด่นบางประการ ที่สามารถทำให้เกิดฉันทามติอย่างเป็นเอกฉันท์และรวดเร็ว ซึ่งแม้แต่กสม.บางท่านเองยังออกมาสละเรือ
ลักษณะเด่นที่ว่าคือรายงานนี้มีความตรงไปตรงมาชัดเจน ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องตีความให้ซับซ้อน รายงานนี้เป็นชิ้นที่ชัดเจนที่สุดที่ชี้ให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของกสม. หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นรายงานฉบับเปลือยธาตุแท้ของกสม. ได้หมดจด
เวลาตนอ่านรายงานชิ้นนี้จึงอ่านเพื่อมองหาธาตุแท้หรือจุดยืนทางการเมือง ที่กสม.มี ซึ่งจุดยืนหรืออุดมการณ์นี้ เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการออกแบบการเลือกใช้ข้อมูล การเรียบเรียงเรื่องราว การวางเค้าโครง การสร้างข้อสรุป โดยจากรายงานฉบับนี้ได้พบสามหัวเรื่องที่เป็นจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญของรายงานฉบับนี้
หนึ่ง คือเป็นรายงานที่แสดงจุดยืนของการสนับสนุนรัฐประหาร และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและอำนาจทหาร อันเป็นจุดยืนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ซึ่งกสม.ชุดที่แล้ว ได้เคยกล่าวว่ามันเป็นทางออกที่เหลืออยู่ ไม่ใช่การถอยหลัง ไม่ใช่การเดินไปข้างหน้า แต่เป็นเรื่องการแก้สถานการณ์ อันนี้เป็นจุดยืนของการปกป้องรัฐประหารและสถาบันทหาร ที่กสม.ได้ส่งไม้ส่งทอดมาถึงปัจจุบัน
รายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนอันนี้ อย่างที่รายงาน Voice TV (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)ได้ช่วยคำนวณจำนวนย่อหน้า และจำนวนหน้าในรายงานให้เราเห็น ว่าจำนวนหน้า พลังงานจำนวนมาก ที่เขาใช้ในการปกป้องทหาร ใช้แก้ตัวให้กับรัฐบาลในการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-การปิดพีทีวี ใช้อธิบายความจำเป็นของทหารในการปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชน ใช้สนับสนุนการใช้อำนาจของ ศอฉ.
ปิ่นแก้วเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นท่าที่เปิดเผยจุดยืนของกสม.อย่างตรงไปตรงมา และเห็นว่าเมื่อรายงานกล่าวตรงๆ แล้วว่ากสม.สนับสนุนทหารและอำนาจทหาร ดังนั้นเพื่อไม่ให้จุดยืนทางการเมืองแบบนี้ย้อนแย้งกับรากกำเนิดของกสม. ซึ่งก่อตั้งมาจากผลพวงการต่อสู้ของประชาชน ในการต่อต้านเผด็จการทหารในปี 35 และตั้งมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 จึงเสนอว่ากสม.ควรเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการปกป้องรัฐบาลทหารแห่งชาติ” เพื่อจะได้ไม่ต้องซ่อนตัวเองอยู่หลังเสื้อคลุมของสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป และไม่ต้องใช้ภาษีของประชาชนในการทำรายงานหรือทำงาน ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะปกป้องสิทธิของประชาชน
สอง คือ รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าเจตจำนงของกสม.ชุดนี้ไม่ได้ยึดโยงกับจริยธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจริยธรรมสำคัญที่ยึดโยงกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน ท่านอาจจะแย้งว่ามี มันเป็นประชาธิปไตยที่ถูกนิยามภายใต้ระบอบทหาร ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าท่านมี “จริยธรรมประชาธิปไตยแบบทหารๆ” ทำให้กสม.เลือกจะมองการชุมนุมของนปช.ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ซึ่งในรายงานจะพูดแต่เรื่องเหล่านี้
กสม.ลืมไปว่าประชาชนไม่ได้มองแบบนี้ เขาไม่ได้ยอมรับว่ารัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร และใช้กฎหมายภายใต้รัฐอันไม่ชอบธรรมนั้น เป็นการกระทำที่เป็นประชาธิปไตยและชอบธรรม เขาจึงพากันออกมาชุมนุมประท้วง การชุมนุมนปช.จึงไม่ได้เป็นการแค่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง จึงต้องเข้าแถวให้เรียบร้อย แต่เป็นการแสดงออกถึงการขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอันไม่ชอบธรรม
ที่น่าแปลกคือ กสม.ไม่รู้ว่าการขัดขืนของพลเมือง มักเกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยรัฐที่ฉ้อฉลและไม่ชอบธรรม การแสดงออกในการฝ่าฝืนกฎหมายหรือการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ เป็นการแสดงออกถึงการขบถ ความต้องการต่อต้านขัดขืนของประชาชน ในประวัติศาสตร์ทั่วโลก การลุกฮือขึ้นของประชาชน เป็นกระบวนการที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตย ไม่มีรัฐที่ไหนที่ยึดถือประชาธิปไตย จะตอบโต้การขัดขืนของประชาชนด้วยกระสุนปืน นอกจากรัฐทรราชย์ รายงานกสม.ฉบับนี้จึงสนับสนุนจริยธรรมของรัฐทรราชย์อย่างชัดเจน
อันที่สาม คือภาษาและสำนวนที่ใช้ในรายงานฉบับนี้ มีความชัดเจนว่ากสม.ไม่ได้มองผู้ชุมนุมว่ามีความเป็นพลเมืองที่มีความตื่นตัว มีจิตสำนึกทางการเมืองของตนเอง หากแต่เป็นชาวบ้านที่ถูกปั่นหัว ลากมาประท้วงโดยแกนนำ และเป็นพวกผู้ก่อการร้ายที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ กสม.ไม่ได้ใช้คำเหล่านี้โดยตรง แต่ถ้าอ่านรายงานจะพบกับคำกริยา คำคุณศัพท์ คำเรียก ที่มีนัยเหล่านี้อยู่เกลื่อนไปหมด เช่น การก่อการจลาจล,การสร้างความวุ่นวาย, การปลุกปั่น, การปลุกระดม, ความรุนแรง, การสร้างความเดือดร้อนรำคาญ, สร้างความตื่นตระหนก และชายชุดดำ
คำพวกนี้เป็นคำที่รัฐทรราชย์มักใช้เรียกผู้ก่อการร้าย ไม่มีตรงไหนในรายงาน ที่จะเรียกผู้ชุมนุม ว่าเป็นผู้ต้องการให้ประเทศกลับคืนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือเรียกว่าเป็นผู้ต่อต้านรัฐประหาร โดยเมื่อมีความเชื่อเป็นพื้นฐานแต่แรกว่าผู้ชุมนุมเป็นพวกผู้ก่อการร้าย จึงไม่แปลกใจที่กสม.จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตายของคนเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย หรือมองว่าการสังหารปราบปรามต่อรัฐเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องอยู่แล้ว
ปิ่นแก้วเสนอในตอนท้ายว่าในเมื่อกสม.แสดงจุดยืนที่ชัดเจนขนาดนี้แล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนชื่อรายงานให้ตรงกับเนื้อหา เป็นว่า “รายงานผลการตรวจสอบประสิทธิภาพการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553”
000
สมชายปรีชาศิลปกุลเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงรายงานของ กสม. ที่ออกมาภายหลังรายงานการสลายการชุมนุม คือรายงานผลการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งกสม.รายงานตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างละเอียดละออ สิ่งที่กสม.ทำกับกรณีของคุณเอกยุทธนั้นควรทำ แต่คำถามคือทำไมกับกรณีของคนเสื้อแดง จึงไม่ทำกัน สิ่งที่กสม.ควรต้องทำในเบื้องต้น คือไว้ใจหน่วยงานรัฐไม่ได้ และไว้ใจการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ แต่คำถามคือทำไมบางเรื่องจึงทำอย่างละเอียดละออ และบางเรื่องจึงไม่ทำ
สมชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเห็นในรายงานกสม.ฉบับนี้ เป็นปรากฏหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าความพยายามในการที่จะต่อสู้หรือแย่งชิงอำนาจนำทางการเมืองนอกพื้นที่รัฐสภา โดยเฉพาะในสถาบันที่ไม่ได้สัมพันธ์กับเสียงส่วนใหญ่ในสังคม (non–majoritarian institution) เข้ามาทำหน้าที่อะไรเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงกสม. แต่เราเห็นศาลรัฐธรรมนูญ,กกต. เป็นต้น
สิ่งที่เรากำลังเจอ ก็คือในพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองนอกรัฐสภา เรากำลังเผชิญกับสถาบันที่ไม่ได้สัมพันธ์กับเสียงข้างมากในสังคม ปรากฏขึ้นและมีบทบาทอย่างมาก ลักษณะร่วมๆ ขององค์กรพวกนี้ คือหนึ่ง มีท่าทีที่รังเกียจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันจะชื่นชมยกย่องคนดีที่คลุมเครือ สอง คือรังเกียจความเปลี่ยนแปลงที่นำโดยนักการเมือง ที่ผูกโยงกับประชาชน และสาม คือดูถูกประชาชน
ส่วนใหญ่องค์กรพวกนี้จะอยู่ในระบบการคัดเลือก คือจะเข้ามาด้วยกระบวนการที่พิเศษ ที่ไม่สัมพันธ์กับเสียงข้างมากในระบอบเลย ระบอบการตรวจสอบกำกับจึงไม่สู้จะสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกลายเป็นช่องทางให้บรรดา “คนดี” หรือ “เทวดา” ทั้งหลายเข้ามาสู่ระบบการเมือง
และองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่แค่องค์กรอิสระทางการเมือง แต่เราจะเห็นองค์กรอิสระด้านเศรษฐกิจด้วย ที่มาคอยชี้ว่าต้องทำแบบนี้ๆ คือ TDRI หรือถ้าพูดในทางกลับกันศาลรัฐธรรมนูญ, กกต. ก็คือ TDRI ในภาคการเมือง และยังมีองค์กรอิสระด้านสื่ออีกด้วย คือไทยพีบีเอส
สิ่งที่เราเห็นคือมันมีแนวรบด้านการต่อสู้เพื่ออำนาจนำทางการเมืองนอกรัฐสภาอยู่ โดยมีสถาบันแบบนี้สถาปนาตนเองอยู่ องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญในการให้ความหมายต่อการกระทำ ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ โดยในอดีต องค์กรพวกนี้มันถูกกำกับโดยองค์กรพัฒนาเอกชน และอีกส่วนคือสถาบันวิชาการ ซึ่งมีพลังในการกำกับค่อนข้างมาก แต่ผลปรากฏว่าในปัจจุบัน การกำกับองค์กรพวกนี้มันต่ำมาก
อาจจะมีองค์กรต่างๆ มากำกับบ้าง เช่น สันติประชาธรรม, ศปช., กลุ่มนิติราษฎร์ เป็นต้น แต่ถ้าเทียบกับองค์กรประเภทแรกที่คอยกำกับตรวจสอบ จะพบว่ามีข้อจำกัดสามเรื่องของการตรวจสอบในปัจจุบัน คือองค์กรมันไม่ถาวร และไม่ต่อเนื่อง, มันไม่มีอำนาจอย่างเป็นทางการ และมันไม่มีเอกภาพ
สมชายสรุปว่าการเผชิญหน้ากับกสม.จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้ากับองค์กรที่ไม่สัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น โดยสิ่งที่เราต้องคิดคือจะทำอย่างไร ให้เกิดความเข้มแข็งในการกำกับและจัดการพวกนี้ เช่น ที่รายงานของกสม.ที่ถูกโต้ตอบอย่างรุนแรง และทำให้รายงานหมดน้ำหนักไปมาก เพราะมันมีศปช.ทำรายงานมันกำกับควบคุมกันไป ทำให้รายงานกสม.มันดูอ่อนไปเลย ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ไม่สู้จะเข้มแข็งเท่าไรในการกำกับ คำถามคือเราจะสร้างระบบการกำกับองค์กรพวกนี้ให้เกิดขึ้นอย่างไรในก้าวถัดไป