30 มี.ค. 56 - ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยผู้ตอบแบบสอบถามคือพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 485 คน เก็บข้อมูลในวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2556 ซึ่งการเก็บข้อมูลในครั้งนี้ใช้การเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจออนไลน์
นายสิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยโดยผู้ตอบแบบสอบถามคือพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจาก “พนักงานมหาวิทยาลัย” มีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าฐานเงินเดือนของข้าราชการในปัจจุบัน คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน
แต่ในความเป็นจริงพนักงานมหาวิทยาลัย ได้รับเงินเดือนไม่เต็ม 1.5-1.7 เท่าตามมติคณะรัฐมนตรีปีพ.ศ. 2542 ไม่มีสวัสดิการแบบระบบราชการ มีการใช้สัญญาจ้างที่สั้น 1-3, 1-5 ปี ไม่มีระยะยาวถึงอายุ 60 ปี ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยไม่มีความมั่นคงในอาชีพ ไม่มีสวัสดิการ ทั้งๆที่ ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีบุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมากกว่า 100,000 คน สิ่งที่แปลกใจมากกว่านั้นพนักงานมหาวิทยาลัย ในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีอัตราเงินเดือน สัญญาจ้าง และสวัสดิการที่แตกต่างกัน ทั้งๆที่ได้รับงบประมาณจากรัฐเหมือนกัน
ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 5% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 กลุ่มตัวอย่าง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai