Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

จุฬาฯ จัดเสวนา ‘นาซี’ ประวัติศาสตร์ของคนอื่น?

$
0
0

 

14 ส.ค.56  ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดบรรยายพิเศษ ประวัติศาสตร์ของคนอื่น?: อาชญากรต่อมนุษยชาติของนาซี โดย ดร. ภาวรรณ เรืองศิลป์ และ ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสต์ จุฬาฯ, ดร. วิศรุต พึ่งสุนทร ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนเริ่มการบรรยายมีการกล่าวเชื่อมโยงถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อศูนย์ไซมอน วีเซนธาล (Simon Wiesenthal Center) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวยิวได้ออกจดหมายประณามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่นิ่งเฉยต่อการใช้รูปภาพอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นภาพประกอบฉากถ่ายรูปวันรับปริญญาของนิสิต และทำให้ต่อมาทางมหาวิทยาลัยต้องออกจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการ (อ่านที่จุฬาฯ ขอโทษอย่างเป็นทางการกรณีป้ายภาพฮิตเลอร์) เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการจัดการบรรยายพิเศษในครั้งนี้ โดยพิธีกรตั้งคำถามสำคัญก่อนเริ่มอภิปรายว่า เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้เรื่องราวของนาซีและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือ Holocaust หรือไม่ เพียงไร โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประวัติศาสตร์ระยะใกล้และในภูมิภาคอื่นๆ เช่นกัน และเหตุใดเหตุการณ์นี้จึงมีความสำคัญ

ภาวรรณกล่าวว่า ภายหลังเหตุการณ์ เรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก จนกระทั่งในปี 1960 ที่เกิดการทำลายป้ายหลุมศพของชาวยิวขึ้นจึงพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังในเยอรมนี จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้ถูกจดจำทันทีหลังเหตุการณ์ บางคนกล่าวว่าเป็นเพราะผู้คนยังช็อคจากสงคราม จึงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าจะกล้าเผชิญหน้ากับอดีตตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ความไม่รู้ก็อาจทำให้ดูเหมือนเราไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเจ็บปวดของคนอื่น และคนที่ไม่รู้ย่อมเกิดความประทับใจได้ง่ายเพราะจักรวรรดิที่ 3 นั้นถูกออกแบบให้โน้มน้าวใจคน แต่ก็ยังมีอีกกรณีคือ รู้แต่เลือกจำ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ในเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการทำลายสุสานคนยิวในเซอร์เบีย โปแลนด์ และอีกหลายที่

วาสนา กล่าวว่า เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นต่างจากกรณีอื่นๆ เช่น กรณีของนานกิง แม้จะเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเหยื่อประชาชนชาวจีน 300,000-350,000 รายซึ่งถูกญี่ปุ่นผู้รุกรานกระทำ แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดในภาวะของสงคราม และต่างจาก Holocaust ในแง่ที่ไม่ได้กระทำอย่างเป็นระบบทั่วภาคพื้นทวีปรวมทั้งไม่ได้กระทำกับคนทุกกลุ่มที่แตกต่างหรือเห็นว่าด้อยกว่า ที่สำคัญ เหตุที่ต้องเรียนรู้เรื่องนี้เพราะเหตุการณ์ Holocaust ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์เราจึงไม่ควรยอมรับความรุนแรงแบบนี้ที่ทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน และควรเป็นทุกข์เป็นร้อนกับสิ่งนี้ไม่ว่าจะเกิดกับใคร

วิศรุต กล่าวว่า เหตุการณ์ Holocaust นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน นักวิชาการทุกแขนงต่างสร้างถกเถียงถึงความสำคัญของเหตุการณ์นี้มากมายหลายมุมมอง แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของเหตุการณ์นี้นอกจากเหนือชาวยิวซึ่งเสียชีวิตไปขจำนวนมากถึง 6 ล้านคนโดยประมาณ (ไม่นับรวมกลุ่มอื่นๆ เช่น LGBT ยิปซี ฯ) แล้ว เรื่องนี้ยังสำคัญตรงที่เป็นแม่แบบในการอธิบายความรุนแรงในลักษณะที่รัฐกระทำกับ subject ของตัวเองซึ่งอยู่นอกเหนือกรอบของสงคราม มีการกระทำอย่างเป็นระบบ ค่อยๆ ดำเนินการกันอย่างยาวนานไล่ตั้งแต่การกีดกันชาวยิวทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การนำเข้าค่ายกักกัน กระทั่งนำสู่ค่ายสังหาร ทั้งหมดกินเวลานานหลายปี ที่สำคัญ มันยังเกิดขึ้นที่ประเทศซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางอารยธรรมสมัยใหม่ เป็นตัวแทนความก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ ทั้งทางด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การศึกษา การเมือง ระบบรัฐสภา ระบบกฎหมาย

“มันสำคัญในแง่ที่ว่าเหตุการณ์นี้ถ้าเกิดขึ้นที่นี่ได้ ก็เกิดที่อื่นได้” วิศรุต กล่าวและว่าอย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการบางส่วนเช่นกันที่เห็นว่ามีการสังหารผู้คนจำนวนมากอย่างเป็นระบบเช่นนี้ไม่สามารถเกิดก่อนยุคสมัยใหม่หรือในที่ที่ไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะต้องอาศัยกลไกต่างๆ ที่ก้าวหน้ามารองรับ ตัวอย่างเช่นอิตาลีนั้นก็มีการส่งคนเข้าค่ายกักกันเช่นกันแต่มีจำนวนน้อยกว่ามาก เพราะระบบมีประสิทธิภาพต่ำ

“การสังหารคนได้ขนาดนี้ มาจากความก้าวหน้าในการจัดการของสังคมสมัยใหม่”

“ท่ามกลางผู้คนที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย มีสำนึกเรื่องขันติธรรม จึงกลายเป็นคำถามใหญ่ว่าทำไมสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นมาได้ ”

“ถึงไม่มีฮิตเลอร์ ใครที่ขึ้นมาตรงนั้นก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกัน เพราะปัญหาเกิดขึ้นในระดับโครงสร้างของสังคม” วิศรุตกล่าว

ภาวรรณ กล่าวว่า หากเราไม่เรียนรู้เรื่องนี้เราะจะพลาดโอกาสในการเรียนรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก พลาดการเรียนรู้เรื่องจริยธรรม และไม่สามารถเยียวยาผู้สูญเสียได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนาซีเกิดจากการไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา การวางเฉยของผู้คนทั้งด้านการเมืองและศีลธรรมจริยธรรม คนเยอรมันหลายคนออกมาปฏิเสธหลังสงครามว่าเหตุที่ปล่อยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้เพราะ “ไม่รู้” อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง เอียน เคอร์ชอว์ (Ian Kershaw) วิเคราะห์ไว้ว่า คนเยอรมันตอนนั้นเอาแต่ใส่ใจตัวเอง พยายามเอาตัวให้รอดเสียมากกว่า

วาสนากล่าวต่อว่า เหตุหนึ่งที่คนไทยใส่ใจเรื่องเหล่านี้น้อยเป็นเพราะเราหมกมุ่นอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติของเราเอง แต่ก็ไม่ได้เป็นแต่ประเทศไทยเท่านั้นประเทศอื่นๆ ก็เป็นท่ามกลางรัฐชาติที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างชัดเจนในยุคหลัง และเมื่อสังคมเกิดวิกฤตโดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจ กระแสชาตินิยมก็จะยิ่งเข้มข้นมากโดยเรามักจะโทษหรือโยนความผิดให้กับคนที่แตกต่างจากเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงระวัง  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles