ประมวลข่าวสารลิขสิทธิ์กับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ นำเสนอข่าวแอคทิวิสต์อเมริกันเดินขบวน “วัน 1984” ต้านการสอดส่องของรัฐ, รายงานชี้บริการให้ฟังดนตรีที่สะดวกจะช่วยลดก๊อปเพลงเถื่อน, พรรคไพเรตสวีเดนแจ้งความรมต.ไอทีละเมิดลิขสิทธิ์
30-07-2013
พนักงาน Apple อเมริกาฟ้อง Apple ฐานค้นตัวพนักงานนานเกินไปทำให้เสียเวลาทำงานประมาณวันละ 30 นาที
เนื่องจากทาง Apple Store ในอเมริกามีนโยบายค้นตัวพนักงานทุกครั้งที่ออกจากร้านตอนพักกลางวัน รวมถึงช่วงเปลี่ยนกะ/เลิกงานเพื่อป้องกันการนำสินค้าออกจากร้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ในช่วงพักกลางวันและเลิกงาน พนักงานเหล่านี้ที่ต้องการจะออกจากร้านพร้อมๆ กัน จึงต้องต่อแถวให้ค้นก่อนออกจากร้านได้ ซึ่งแถวมักจะยาว และทำให้พนักงานต้องสูญเสียเวลาทำงานไปราววันละ 30 นาทีทีเดียว การเสียเวลาดังนี้ เมื่อคำนวนแล้ว ทำให้พนักงานสูญเสียเวลาทำเงินไปเป็นมูลค่าราว 1,500 ดอลลาร์ต่อปีทีเดียว จึงนำมาสู่การฟ้องร้องครั้งนี้
อนึ่ง คดีนี้ฟังโดยสองอดีตพนักงาน Apple จากนิวยอรค์และแคลิฟอร์เนีย แต่เป็นการฟ้องในนามของพนักงาน Apple จำนวนมาก
News Source: http://gigaom.com/2013/07/29/apple-workers-file-lawsuit-for-lost-wages-due-to-bag-searches/
ยอดขายของ "ร้านแผ่นอิสระ"ในอังกฤษขึ้นมาร้อยละ 44 ในปีนี้
นี่เป็นการสวนกระแสยอดขายงานดนตรีในอังกฤษที่ตกไปร้อยละ 1.5 ซึ่งเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะร้านแผ่นอิสระของอังกฤษมีสินค้าหลักคือแผ่นเสียงไวนีลที่กลับมาได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งทำให้แม้ว่ายอดขายของร้านแผ่นอิสระในอังกฤษจะคิดเป็นเพียง 3.2 % ของยอดขายงานดนตรีทั้งหมดในอังกฤษ แต่ยอดขายแผ่นเสียงไวนีลจากร้านเหล่านี้กลับคิดเป็นกว่า 50% ของยอดขายแผ่นเสียงไวนีลในอังกฤษ
News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130729ukindie
หน่วยงานสืบราชการลับในโลกตะวันตกแบนการใช้คอมพิวเตอร์ของ Lenovo ซึ่งเป็นของจีนเนื่องจากกลัวรัฐบาลจีน "แฮ็ค"ข้อมูลผ่านฮาร์ดแวร์
ทั้งนี้ ความหวาดกลัวศักยภาพในการดักข้อมูลของสินค้า ICT จากจีนไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้โลกตะวันตกก็เคยระแวงสงสัยศักยภาพการดักข้อมูลของผลิตภัณฑ์ของ Huawei มาแล้ว
News Source: http://www.popsci.com/technology/article/2013-07/spy-agencies-have-banned-lenovo-computers-because-theyre-chinese
The Pirate Bay พยายามจะระดมทุนงานฉลองครบ 10 ปี แต่คนลงเงินสนันสนุนน้อยมากๆ ขนาดลดงบลงกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว เงินสนับสนุนก็ยังไม่ถึง 1 ใน 3 ของเป้า
ในตอนแรกทีมจัดงานตั้งเป้าระดมทุนไว้ 450,000 โครเนอร์ (ราว 2,160,000) บาท แต่ผู้สนับสนุนระลอกแรกนั้นสนับสนุนเป็นเงินรวมไม่ถึงร้อยละ 10 ทางทีมก็เลยลดเป้ามาเหลือ 200,000 โครเนอร์ (ราว 960,000 บาท) แต่ยอดการสนับสนุนก็ยังอยู่เพียง 53,319 โครเนอร์ (ราว 255,931 บาท) เท่านั้น
ที่ดูน่าสนใจคือการ "สนับสนุน"งานนี้มีหลากหลายมากๆ เช่นเดียวกับโครงการระดมทุนจากฝูงชนทั่วไป และในจำนวนนั้นมันก็มีการขายบัตรเช่นเดียวกับเทศกาลทั่วไปด้วย และที่น่าตกใจพอสมควรก็คือแม้แต่บัตรราคาถูกที่มีจำกัดเพียง 250 ใบ อันมีมูลค่าเพียง 100 โครเนอร์ (ราว 460 บาท) ก็ยังมีผู้สนับสนุนไม่ถึง 50 คนด้วยซ้ำ และผู้สนับสนุนทุกรูปแบบก็ยังมีไม่ถึง 100 คน ซึ่งนี่น่าใจหายแน่นอนสำหรับงานเทศกาลที่วางไว้ว่าจะมีผู้มีส่วนร่วมหลายพันคน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังสรุปไม่ได้อยู่ดี เพราะผู้คนจำนวนมากก็อาจจะไปซื้อบัตรเข้าร่วมเทศกาลในราคามาตรฐาน (200 โครเนอร์ หรือราว 920 บาท) ที่ "หน้างาน"ก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี ทางคณะผู้จัดงานกล่าวว่า หากระดมทุนได้ต่ำกว่า 150,000 โครเนอร์ (ราว 720,000 บาท) พวกเขาจะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าต่างๆ รวมไปถึงระบบแสงเสียงสำหรับการแสดงสดของวงดนตรีในงานด้วย แต่ก็ยืนยันว่างานปาร์ตี้ฉลองจะดำเนินต่อไปได้ แต่จะมีการตัดสิ่งต่างๆ ออกจากงานมากมายแน่นอน
ไปช่วยสนับสนุนงานวันเกิด The Pirate Bay ได้ที่ http://crowdculture.se/en/projects/the-pirate-bay-10-years-party
News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bay-10-year-bash-on-the-brink-through-lack-of-cash-130730/
01-08-2013
นักเคลื่อนไหวในอเมริกาเดินขบวนรำลึก "วัน 1984"ทั่วอเมริกาเพื่อต่อต้านการสอดส่องอันละเมิดรัฐธรรมนูญของรัฐในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2013
หลังจากมีการประท้วงในวันชาติสหรัฐเมื่อ 4 กรกฎาคมเพื่อรักษาบทบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ 4 (Fourth Amendment) ไว้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวเดิมก็กลับมาเล่นกับวันที่อีกครั้งโดยเลือกประท้วงในวันที่ 4 เดือน 8 เพื่อเล่นล้อกับวรรณกรรมเรื่องดังของ Georges Orwell อย่าง 1984 ที่ว่าด้วยโลกที่รัฐมีการสอดส่องเผ้าดูประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จ
ทั้งนี้การประท้วงนี้ก็อาจได้รับการโหมกระแสมากขึ้นกับเรื่องราวการสอดส่องของทาง NSA ที่เผยมามากขึ้น ไปจนถึงคำตัดสินศาลอุทธรณ์ภาคที่ห้าที่ยืนยันว่าการออกหมายดักฟังโทรศัพท์มือถือที่ไม่ระบุพื้นที่และเวลาการดักฟังชัดเจนนั้นไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญด้วย
News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/07/august-4th-day-rallies-protest-unconstitutional-surveillance
คนในอุตสาหกรรมดนตรีนอร์เวย์ตั้งข้อสังเกตว่าบริการดนตรีที่ถูกกฎหมายและสะดวกสบายจะสามารถกำจัดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งยืนยันข้อสังเกตจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ในนอร์เวย์มีรายงานว่าในปี 2008 มีการทำการสำเนาเถื่อนทางดนตรีถึงกว่า 1,160 ล้านสำเนาในปี 2008 แต่ปริมาณก็ลดลงฮวบฮาบในปี 2009 และลดลงมาเหลือเพียง 210 ล้านสำเนาในปี 2012
ที่น่าสังเกตคือในช่วงเวลาเดียวกัน การทำสำเนาเถื่อนทั้งภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์นั้นแทบจะเสถียรทั้งหมด
ซึ่งคำอธิบายที่ดูจะสมเหตุสมผลที่สุดของการลดลงของการทำสำเนาเถื่อนทางดนตรีดังกล่าว ก็น่าจะเป็นเพราะบริการฟังเพลงออนไลน์ หรือบริการ "สตรีมมิ่ง"อย่าง Spotify ได้เปิดตัวในนอร์เวย์เมื่อปี 2008
และนี่ดูจะตอกย้ำข้อสังเกตก่อนหน้านี้ทั้งจากในสวีเดน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ที่ภายหลังจากในประเทศมีบริการ Spotify แล้ว ยอดการทำสำเนาเถื่อนทางดนตรีในประเทศก็ลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น
News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130730norway
07-08-2013
"ซุปเปอร์กรุ๊ป"ของนักดนตรี "เมทัล"ระดมทุนจากฝูงชนเพื่อทำอัลบั้มผ่าน Indiegogo สำเร็จอย่างล้นหลาม
Jeff Loomis (กีต้าร์ อดีตวง Nevermore), Keith Merrow (กีต้าร์ นักดนตรีห้องบันทึกเสียงที่สร้างชื่อจากการเป็นนักดนตรีทดลองเสียงให้กับยี่ห้อปิ๊กอัพกีต้าร์ชื่อดังอย่าง Seymour Duncan), Alex Webster (เบสจาก Cannibal Corpse) และ Alex Rudinger (กลองจากวง The Faceless) ระดมทุนทำอัลบั้มที่ไม่มีค่ายเพลงสนับสนุนสำเร็จแล้ว โดยตอนแรกพวกเขาระดมแค่ 15,000 ดอลลาร์ (ราว 450,000 บาท) แต่ ณ ปัจจุบันพวกเขาได้ไปกว่า 30,000 ดอลลาร์ (ราว 900,000 บาท)
บรรดา "รางวัล" (reward) ของผู้สนับสนุนมีหลากหลายมากๆ มันมีตั้งแต่พื้นฐานแบบสิทธิในการโหลดอัลบั้ม เสื้อยืด แผ่นเสียงพร้อมลายเซ็น DVD เบื้องหลังการทำอัลบั้ม ไปจนถึงสิทธิในการเรียนตัวต่อตัวออนไลน์กับนักดนตรี สิทธิในการให้ Loomis ไปเป็นแขกรับเชิญบันทึกเสียงโซโล่กีต้าร์ในเพลงอะไรก็ได้ ปิ๊กอัพกีต้าร์รุ่นที่ใช้ในอัลบั้ม เอฟเฟคกีต้าร์รุ่นของ Merrow สิทธิในการให้ Merrow และ Loomis แต่งเพลงให้ และรางวัลที่มูลค่าสุดคือกีต้าร์ที่ใช้บันทึกเสียงในอัลบั้มพร้อมลายเซ็น
กระบวนการทั้งหมดดูจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักดนตรีว่า "รายได้"ของอัลบั้มนั้นมาจากทางอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการ "ขาย"อัลบั้มอีกมากมาย และวิธีทางที่นักดนตรีจะได้เงินสนับสนุนจากนักฟังเพลงมากที่สุดก็คือการแบ่งการสนับสนุนและผลตอบแทนการสนับสนุนไปเป็นหลายลำดับขั้นตามความสามารถในการสนับสนุนของนักฟังเพลงแต่ละคน ซึ่งเป็นกลวิธีที่แตกต่างจากมาตรการที่จะให้นักฟังเพลงทุกคนสนับสนุนเท่าๆ กันอย่างการขายอัลบั้ม (แม้จะมีสินค้าเสริมก็ตาม)
และนอกจากนี้กระบวนการ "ระดมทุนก่อนแล้วจึงค่อยผลิต"หรือแนวทางแบบฝูงชนอุปถัมป์ศิลปวัฒนธรรมก็เป็นแนวทางที่หลายๆ ฝ่ายสนับสนุนและหลายๆ ฝ่ายก็เห็นว่าเป็นทางออกที่สวยงามของการปราบการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไร้วี่แววความก้าวหน้าในภาพรวม กล่าวคือถ้า "ลิขสิทธิ์"เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการชดเชยตอบแทนผู้ผลิตศิลปวัฒนธรรมภาย "หลัง"การผลิต แต่การระดมทุนจากฝูงชนนั้นเป็นการชดเชยและตอบแทน "ก่อน"การผลิต ดังนั้นนี่จะเป็นการแก้ปัญหาการผลิตศิลปวัฒนธรรมที่ตลาดไม่ต้องการออกมา และทำให้ "นายทุน"ที่มักจะเป็นผู้ลงทุนในการผลิดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นด้วย เพราะการระดมทุนจากฝูงชนจะทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาระหว่างผู้ผลิตศิลปวัฒนธรรมและผู้บริโภคศิลปวัฒนธรรมโดยตรง
ทั้งนี้ อัลบั้มดังกล่าวมีชื่อว่า Conquering Dystopia และกระบวนการผลิดทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นปี 2014
News Source: http://www.indiegogo.com/projects/conquering-dystopia
09-08-2013
Pirate Party สวีเดน "แจ้งตำรวจ"ว่ารัฐมนตรีด้าน IT ของสวีเดนได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์
Pirate Party ได้ติดตามกิจกรรมบน Instagram ของรัฐมนตรีผู้นี้มานานแล้ว และพบว่ารัฐมนตรีไอทีหญิงนาม Anna-Karin Hatt ผู้นี้ก็น่าจะได้โพสต์ภาพมีลิขสิทธิ์ของ Calvin and Hobbes ไปจนถึงภาพจากภาพยนตร์อย่าง The Lord of the Rings, The Da Vinci Code, and Monty Python and the Holy Grail โดยไม่ได้รับอนุญาต
แน่นอนว่าทาง Pirate Party ไม่ได้ต้องการให้มีการดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้นกับรัฐมนตรีผู้นี้ การแจ้งตำรวจที่ทางพรรคได้ทำไปก็เพื่อเป็นกิจกรรมทางสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คนระดับรัฐมนตรีเองก็ไม่สามารถจะใช้ชีวิตดิจิทัลร่วมสมัยได้ตามปกติโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมันก็เกิดจากกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ล้าสมัยและต้องการการแก้ไขโดยด่วนนั่นเอง
News Source: http://torrentfreak.com/pirate-party-reports-it-minister-to-the-police-for-copyright-infringement-130808/