ปฏิกิริยาล่าสุดจากทางการสหรัฐฯ หลังมีการเปิดโปงเอกสารเรื่องโครงการสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคง ปธน. โอบาม่าแถลงว่าจะแต่งตั้งผู้คอบดูแลด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวเพื่อถ่วงดุล และมุ่งสร้างความเข้าใจด้านการทำงานข่าวกรอง แต่ยังก็คงยืนยันให้มีโครงการสอดแนมต่อไป
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2013 ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ของสหรัฐฯ ได้แถลงข่าวยอมรับกรณีโครงการสอดแนมที่ถูกเปิดโปงเป็นครั้งแรก หลังจากที่สาธารณชนแสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าว
ในที่ประชุมแถลงข่าวของทำเนียบขาว ปธน. โอบาม่ากล่าวว่าการเปิดเผยการกระทำของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ทำให้ชาวอเมริกันตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของพวกเขาที่มีต่อรัฐบาล และเป็นการทำลายชื่อเสียงของประเทศสหรัฐฯ ในสายตาต่างชาติ แต่โอบาม่าก็ยังยืนยันว่าพวกเขาจะยังคงให้โครงการสอดแนมมีอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าพวกเขาจะมีการพิจารณาปรับปรุงระบบข่าวกรองและการโทรคมนาคม โดยจะมีการรายงานผลภายในสิ้นปีนี้
"แค่ผมที่เป็นประธานาธิบดีมีความเชื่อมั่นในโครงการเหล่านี้ยังถือว่าไม่มากพอ ประชาชนอเมริกันก็ควรมีความเชื่อมั่นต่อโครงการพวกนี้"โอบาม่ากล่าว
โอบาม่ากล่าวว่า เขามีแผนการ 4 ขั้นตอนที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอเมริกันและปรับภาพลักษณ์ต่อสายตาชาวโลก โดยอาศัยการทำงานร่วมกับรัฐสภาเพื่อปฏิรูปกฏหมายต่อต้านการก่อการร้ายมาตรา 215 ตามความเหมาะสม ซึ่งกฏหมายฉบับนี้ได้มอบอำนาจให้ทางการสามารถเก็บข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์ของผู้ใช้ชาวสหรัฐฯ หลายล้านคนได้
โอบาม่าเสนอให้มีการแต่งตั้ง "ผู้ให้คำแนะนำด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว"ในการบวนการศาลสืบราชการลับ โดยมีการเสนอชื่อวุฒิสมาชิก 3 คน คือ ริชาร์ด บลูเมนธาล, มาร์ค อูดัล และ รอน ไวเดน เพื่อเป็นผู้ให้คำแนะนำดังกล่าวตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุน
อย่างไรก็ตามเดอะ การ์เดียน กล่าวว่า สิ่งที่โอบาม่ากล่าวในการการแถลงข่าวไม่ได้ทำให้การสอดแนมของทางการสหรัฐฯ เปลี่ยนไป และดูเหมือนว่าในแง่สมดุลระหว่างการเก็บข้อมูลข่าวกรองและสิทธิความเป็นส่วนตัว พวกเขาจะเอนเอียงมาทางสิทธิความเป็นส่วนตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
หนึ่งในวุฒิสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อ รอน ไวเดน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การสอดแนมของ NSA กล่าวว่าเขายอมรับข้อเสนอของโอบาม่า แต่ก็เรียกร้องให้โอบาม่าให้รายละเอียดมากกว่านี้ รอนชี้อีกว่าคำแถลงของโอบาม่าไม่ได้กล่าวถึงการยกเลิกการอาศัยช่องกฏหมายในการค้นหาอีเมล์และข้อมูลโทรศัพท์ของชาวอเมริกันโดยไม่ต้องอาศัยหมายค้นภายใต้มาตรา 702 ของกฏหมายว่าด้วยการสืบราชการลับต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Act)
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมแถลงข่าวโอบาม่าได้ว่า แม้การเปิดโปงเอกสารข้อมูลของทางการโดยเอ็ดเวิร์ด สโนวเดนจะทำให้เกิดการถกเถียงในทางสาธารณะ แต่ก็ยืนยันว่าสโนวเดนไม่ถือเป็น "คนรักชาติ"อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองใช้อำนาจในทางที่ผิดแต่เป็นเรื่องปัญหาการรับรู้ของสาธารณะ
ขณะที่จามีล แจฟเฟอร์ รองผู้อำนวยการด้านกฏหมายขององค์กรสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวคัดค้านว่า "แค่จากข้อเท็จจริงเรื่องรัฐบาลเก็บข้อมูลทั้งหมดของประชาชนชาวอเมริกันก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดแล้ว แต่แม้ว่าพวกเราจะจำกัดนิยามเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดให้แคบเข้ามาอีกพวกเราก็ไม่มีข้อมูลเพราะมันถูกปิดเป็นความลับหมด"
ในเว็บไซต์คอมมอนดรีมส์กล่าวถึงแผนการพิจารณาปรับปรุงของโอบาม่าอีกว่า มีการให้ NSA แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวและด้านเสรีภาพพลเมือง และเสนอให้มีการสร้างเว็บไซต์เพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง โดยให้ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับและเข้าใจวิธีการทำงานของหน่วยข่าวกรอง
เรียบเรียงจาก
Obama touts NSA surveillance reforms to quell growing unease over programs, The Guardian, 09-08-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/aug/09/obama-nsa-surveillance-reforms-press-conference
Obama: Snowden 'Triggered More Rapid' NSA Dialogue for Nation, CommonDreams, 09-08-2013
http://www.commondreams.org/headline/2013/08/09-10
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai