เอฟทีเอ ว็อทช์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เจรจาการค้ากับเอฟต้า ต้องไม่ยอมรับทริปส์พลัสด้านยาและทรัพยากรชีวภาพ และห้ามนักลงทุนต่างชาติ ฟ้องนโยบายสาธารณะ
(กรุงเทพฯ/ 10 ส.ค.56) ตามที่คณะรัฐมนตรีจะรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างไทย กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งประกอบด้วยประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และ ไอซ์แลนด์ โดยจะพิจารณาร่างกรอบเจรจาในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 13สิงหาคมนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์และภาคประชาสังคมที่ติดตามผลกระทบจากการเจรจาการค้าเสรีได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ระบุผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าไม่ถึงยา การผูกขาดทรัพยากรชีวภาพ และบั่นทอนการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐบาล
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของเอฟต้าใกล้เคียงกับข้อเจรจาที่ไทยเคยถูกเรียกร้องจากประเทศสหรัฐอเมริกา และกับท่าทีของสหภาพยุโรป กล่าวคือ เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมการเปิดเสรีทุกด้านที่เรียกว่า Comprehensive packageได้แก่ การเปิดตลาดสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการลงทุน การคุ้มครองการลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีผลต่ออำนาจอธิปไตยในการกำหนดทิศทางการพัฒนา และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบเลวร้ายต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพอย่างรุนแรง และกว้างขวาง
“มีการเจรจาหัวข้อสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทยในการเข้าถึงยา ซึ่งข้อเรียกร้องของเอฟต้า ได้แก่ การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปีเป็น 25 ปี และการคุ้มครองความลับทางการค้า (Data Exclusivity) เป็นเวลา 5 ปี ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่จะเอื้อให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดพันธุกรรม
นอกจากนี้ ข้อกังวลประการสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดเสรีการบริการ การลงทุน และการคุ้มครองการลงทุน หมายถึงการให้การปฏิบัติอย่างเสรีเท่าเทียมกับคนในชาติ ที่เรียกว่าการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ และการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง ประเทศคู่เจรจาต้องยอมให้มีการถ่ายโอนเงินเข้าและออกจากประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของผลกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล และรายได้อื่น ได้อย่างเสรีโดยไม่ชักช้า
ข้อที่น่าห่วงใยที่สุด คือ การคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติให้มากขึ้นเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน โดยการจำกัด (ลด)อำนาจของรัฐในการควบคุมบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ลงไป และยังมีความสุ่มเสี่ยงที่นโยบายสาธารณะของรัฐบาลจะถูกนักลงทุนนำไปฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อล้มนโยบายต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนแต่อาจไปเข้มงวดกับการประกอบกิจการของนักลงทุน”
ผู้ประสานงาน เอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า ประเทศในกลุ่มเอฟต้ามีความได้เปรียบในความสามารถในการลงทุนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติจำนวนมาก ทั้งกิจการการเงินการธนาคาร ประกันภัย ยาและเวชภัณฑ์ อาหาร โทรคมนาคม ดังนั้น ร่างกรอบเจรจาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชัดเจนเพื่อให้การเจรจาได้ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง
“เรามีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย ในการกำหนดจุดยืนและท่าทีในการเจรจาเขตการเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ดังนี้
1. ต้องไม่ยอมรับเนื้อหาการเจรจาที่เกินไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO(ไม่ยอมรับ ทริปส์พลัส) โดยเฉพาะในประเด็น การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร, การผูกขาดข้อมูลทางยา, การบังคับใช้กฎหมาย, มาตรการ ณ จุดผ่านแดน และไม่ยอมรับการแก้ไขกฎหมายระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทริปส์และสอดคล้องกับอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว
2. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในบทว่าด้วยการลงทุน ที่ให้ทางเลือกเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ต้องยกเว้น ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะ, การออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ, การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน และความมั่นคง
3. ไม่เปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การทำนา ทำสวน ทำไร่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า การเพาะและขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการลงทุนที่สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
4. ถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากการเจรจาสินค้า
5. ให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของภาคประชาชนตั้งแต่การกำหนดกรอบการเจรจาและการเจรจา ทั้งในระดับการร่วมรับรู้ข้อมูล การร่วมแสดงความคิดเห็น และระดับการร่วมตัดสินใจ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคณะผู้เจรจาของไทย ทำให้ได้รับข้อมูล ข้อเสนอแนะเพื่อการเจรจาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และยังเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองเจรจาได้อีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในการเจรจาของฝ่ายไทยต้องอาศัยข้อมูลความรู้และงานวิจัยอย่างมาก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับทีมเจรจา อย่าปล่อยให้ถูกดูถูกเรื่องความรู้ความสามารถดังที่อดีตฑูตสหรัฐฯ นายราล์ฟ บอยซ์ เคยเขียนวิจารณ์ในเคเบิ้ลที่ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai