Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

นายกขอบคุณฝ่ายค้านประชุมสภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระแรก

$
0
0
นายกรัฐมนตรีขอบคุณฝ่ายค้านและ ส.ส.ทุกคนที่ร่วมอภิปรายและผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระแรก ผบ.ทบ.ชี้ขั้นตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องเป็นตามกระบวนการ ด้าน 'ชูวิทย์'เผยงดออกเสียงเพราะอยากให้ศาลตัดสินก่อน แล้วถึงเดินหน้านิรโทษฯ 'อภิสิทธิ์'ลั่นแปรญัตตินิรโทษฯ เต็มที่

 
9 ส.ค. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ที่ร่วมพิจารณาอภิปรายและผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระแรก ถือว่าทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบร้อย และหลังจากนี้ก็หวังว่า เวทีของสภาฯ จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ได้มีการหารือและพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ เพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาในปัจจุบัน โดยเวทีของสภาฯ จะเป็นบรรทัดฐานเชื่อมโยงต่อไปยังเวทีที่รัฐบาลได้เชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมหารือ เพื่อหาทางออกสำหรับอนาคตต่อไป
 
ต่อข้อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ เพราะฝ่ายค้านระบุไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 3 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเวทีที่จะพูดคุยกัน ตนเชื่อว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มองอนาคตข้างหน้าด้วยการเดินไปด้วยกัน เชื่อว่าความเสียสละ การให้อภัย และเห็นแก่อนาคตของลูกหลาน จะมีแรงผลักดันและได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน
 
ผบ.ทบ.ชี้ขั้นตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องเป็นตามกระบวนการ
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 07.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เป็นกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งในตอนนี้ผ่านวาระที่ 1 แล้ว เหลือวาระ 2 และ 3  ตนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งเท่าที่อ่านดูจากสื่อเห็นว่า อาจจะมีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันอีก ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นต้องว่ากันไปตามกระบวนการ
 
เมื่อถามว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถามถึง ผบ.เหล่าทัพ ว่ามีจุดยืนอย่างไร ที่จะมีการนิรโทษกรรมผู้ที่ทำความผิดมาตรา 112 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเคยตอบไปแล้วว่า อะไรก็ตาม ถ้าได้มีการเดินตามกระบวนการทางกฎหมายและถูกต้อง ตนไม่สามารถไปขัดขวางได้ แต่ถ้าอะไรไม่ถูกต้องและชอบธรรม สิ่งนั้นก็ผ่านไปไม่ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นี่คือกระบวนการประชาธิปไตย ตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมไทยในขณะนี้ กฎกระทรวงกลาโหมเขียนไว้ชัดเจนว่า ทหารจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองดำเนินการ ไม่พูดจาขัดขวางต่อต้านกับรัฐบาล ไปดูกฎกระทรวงกลาโหมที่เขียนมา ตนพยายามยืนหยัดอยู่ตรงนั้น
               
เมื่อถามย้ำว่า แต่กองทัพมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน จะยอมได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะให้ตนปกป้องด้วยอะไร ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์หรือ ตนทำอะไรมากมายพอสมควร ซึ่งตนพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่จำเป็นที่จะมาพูดออกสื่อ เพื่อประชาสัมพันธ์ เพราะไม่ใช่เรื่อง เราทำหน้าที่ตามกฎหมาย เขาว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น ใครละเมิดมาตรา 112 ถ้าเกินกว่าเหตุหรือพูดจาพบปะพูดคุยแล้วไม่รู้เรื่องจะต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ซึ่งเป็นขั้นตอนของตำรวจและกระทรวงไอซีทีดำเนินกันไป ไม่ใช่ทหารตั้งแต่ต้นจน
 
 
'ชูวิทย์' FB จุดยืน ให้ศาลตัดสินก่อน แล้วถึงเดินหน้า'นิรโทษฯ'
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพลต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชูวิทย์ I'm No.5 ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"จะช่วยทำให้เกิด "ความปรองดอง"และยืนยันจุดยืนของตนเองในเรื่องดังกล่าว ให้ศาลตัดสิน"ทุกคดี ที่ยังค้างคาอยู่ 
 
หลังจากนั้น เราถึงไป "นิรโทษกรรม"กันได้ เราต้องเชื่อมั่นกระบวนการ "ตุลาการ"เมื่อตัดสินออกมาแล้ว จึงถึงกระบวนการ "นิติบัญญัติ"ที่จะทำให้สังคมมีทางออก
 
แต่ผมมีเพียงเสียงเดียว ไม่สามารถทำให้ "มติ"เปลี่ยนแปลงได้ แต่เสียงของผม "สะท้อน"ออกมาให้เห็นว่า ผมไม่ยอมตกเป็น "เครื่องมือ"ของใคร คนเขาบอกว่า “Forgive and Forget” ให้อภัย ลืมเรื่องเก่า แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่มีใครเขาบอกให้ "ลืมก่อน แล้วค่อยมาให้อภัยทีหลัง"
 
โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้….
 
เมื่อผมกด "งดออกเสียง"
 
ผมไม่เชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"จะช่วยทำให้เกิด "ความปรองดอง"อย่างที่คุณเห็นไม่กี่วันนี้ว่า "ม็อบ"หรือ "การประชุมสภาฯ"มีความคิดเห็นแตกต่างสุดกู่อย่างไร สังคมแตกแยกอันเนื่องมาจาก "ผลประโยชน์"ของนักการเมืองนี่เอง 
 
ไม่ว่าคุณเลือกฝ่ายไหน คุณจะถูกอีกฝ่ายเอาเหตุผลมาหักล้าง ส่วนที่กล่าวหาผมว่า "ไม่มีจุดยืน"จะบอกให้ว่า "จุดยืน"ผมเป็นอย่างไร มันอาจไม่ถูกใจคุณ เหมือนตอนคุณคุยกับเพื่อน แล้วเขาไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคุณ หรือแม้แต่คนที่ "นอนเตียงเดียวกัน"กับคุณ อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับคุณ แล้วคุณจะไม่ชอบหน้าพวกเขาหรือไม่?
 
"ความคิดเห็นทางการเมือง"ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เพราะสังคมหลากหลายไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้คน หากไม่อย่างนั้นแล้ว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของ "กฎหมาย"ทุกคนต้องปฏิบัติตามเชื่อมั่นในหลักยุติธรรม
 
จุดยืนของผมคือ "ให้ศาลตัดสิน"ทุกคดีที่ยังค้างคาอยู่ หลังจากนั้นเราถึงไป "นิรโทษกรรม"กันได้ เราต้องเชื่อมั่นกระบวนการ "ตุลาการ"เมื่อตัดสินออกมาแล้ว จึงถึงกระบวนการ "นิติบัญญัติ"ที่จะทำให้สังคมมีทางออก
 
แม้ว่าผมมีเพียงเสียงเดียว ไม่สามารถทำให้ "มติ"เปลี่ยนแปลงได้ แต่เสียงของผม "สะท้อน"ออกมาให้เห็นว่า ผมไม่ยอมตกเป็น "เครื่องมือ"ของใคร
 
คนเขาบอกว่า “Forgive and Forget” ให้อภัย ลืมเรื่องเก่า แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่มีใครเขาบอกให้ "ลืมก่อน แล้วค่อยมาให้อภัยทีหลัง"
 
หากคุณไม่เห็นด้วยกับผม มีอีกสองทางให้คุณเลือก คือ "พรรคเพื่อไทย"กับ "พรรคประชาธิปัตย์"แต่อย่ามาบังคับให้ผมเลือกแนวทางเดียวกับเขา
 
เพราะผมเป็นเสรีชน "พรรครักประเทศไทย".
 
 
“อภิสิทธิ์” ลั่นแปรญัตตินิรโทษฯ เต็มที่ เตือนอย่าอ้าง “ปู่พิชัย” ตัวแทน ปชป. ปาหี่ปฏิรูป
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 1 แล้ว ว่า การทำงานของพรรคในสภาก็จะเน้นเรื่องการแปรญัตติให้เกิดความชัดเจน ให้เกิดการจำแนกกลุ่มผู้กระทำความผิด และกลุ่มบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไม่ให้เสียหลักการของบ้านเมือง และใช้โอกาสนี้ให้ได้เห็นประเด็นที่เป็นปัญหามากขึ้น ซึ่งขณะนี้สมาชิกของพรรคส่วนหนึ่งก็ได้เริ่มทำคำแปรญัตติแล้ว ส่วนตนก็เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมกรรมาธิการนัดแรก ส่วนกิจกรรมของพรรคก็จะเน้นการเผยแพร่ข้อมูลให้ได้รับทราบจากการพิจารณาในวาระที่ 1 และสิ่งที่จะทำในวาระที่ 2 นอกจากนั้นก็จะมีกิจกรรมที่จะเชิญชวนประชาชนให้สามารถสะท้อนความคิดเห็นหรือแสดงการคัดค้านกฎหมายดังกล่าวในรูปแบบต่างๆ
       
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าจะใช้เวลา 2 เดือนกฎหมายดังกล่าวก็สามารถประกาศใช้ได้นั้น เราก็เห็นว่ามีความพยายามที่จะรีบทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาก็มีการเสนอญัตติปิดประชุมสภากลางคัน ทั้งที่มีการอภิปรายค้างอยู่ ซึ่งตนก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งนี้ตนเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลไม่รับฟังข้อท้วงติด หรือความเห็นต่าง แต่พยายามเดินหน้าในสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็นหลัก ทั้งนี้ตนสงสัยว่าเหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าร่วมประชุมสภาทั้ง 2 วัน จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการลงคะแนนหรือไม่ ซึ่งก็ต้องถามนายกฯ ว่าเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนจนไม่สามารถมาร่วมประชุมสภาได้คืออะไร
       
“เชื่อว่าเขาคงผลักดันแน่เพราะดูพร้อมที่จะทำทุกอย่าง ไม่ฟังเสียงท้วงติงทั้งภายในภายนอก แต่ก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางเรื่องที่ทักท้วงไปก็เริ่มมีการพิจารณา อาทิ การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้ต้องรอดูบรรยากาศการประชุมกรรมาธิการก่อน เพราคงจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าการทำงานในกรรมาธิการจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ผมยืนยันว่าพวกเราจะทำเต็มที่ และต้อชี้แจงประชาชนหากมีการหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมา แล้วไม่พิจารณาก็ยิ่งเป็นการฟ้องตัวเองว่าเป็นการผลักดันกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลายๆ อย่าง ซึ่งหากเดินหน้าไปอย่างนี้เรื่องๆ ปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว
       
ส่วนกรณีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รมว.ประจำสำนักนายกฯ เดินสายไปพบกับนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเชิญเข้าร่วมเวทีปรองดองปฏิรูปการเมืองนั้นว่า นายพิชัยก็มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจของตัวเอง ส่วนที่วิจารณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางความปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะในการประชุมสภา ตนและ ส.ส.ของพรรคได้อภิปรายชัดเจนว่า นายกฯบอกให้ทุกอย่างมาพูดในสภา แต่พอ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าสภานายกฯ ก็ไม่อยู่ และไม่มาตอบคำถามว่าอะไรคือความจำเป็นเร่งด่วนในการพิจารณากฎหมายนี้ทั้งที่เพียงแค่เลื่อนกฎหมายนี้ออกไป แล้วทุกฝ่ายมาหารือหาทางออกให้ประเทศไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่นายพิชัยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับพรรค เพราะมีการวิเคราะห์แล้วว่าคงจะมาแนวนี้ ซึ่งจะเอานายพิชัยมาอ้างเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ เพราะท่านไปในส่วนของอดีตประธานสภา
       
เมื่อถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมวงเสวนาปฏิรูปการเมืองนั้น จะกลายเป็นถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่มีจุดยืนสอดคล้องกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงออก และก็มีคนไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องปรกติ ซึ่งไม่ว่าเราจะเข้าร่วมหรือไม่รัฐบาลก็คงเดินหน้าอยู่แล้ว เพราะท่าทีที่ผ่านมาก็ไม่มีการรับฟังฝ่ายค้าน ทั้งนี้หากไม่มีการคุยในเรื่องที่เป็นความขัดแย้งก็ไม่สามารถขจัดความขัดแย้งได้ จะบอกว่ามีปัญหาแต่คุยได้ทุกเรื่องยกเว้นตัวปัญหานั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้
       
“ผมยังไม่เห็นการตั้งโจทย์ที่ชัดเจน แต่หากจะมีการตั้งโจทย์แล้วไปลงเอยที่การแก้รัฐธรรมนูญเราก็ไม่แปลกใจ เพราะเป็นขั้นต่อไป หลังจากเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการกลับไปเหมือนเดิม ตั้งเงื่อนไขประเทศว่าสุดท้ายต้องไปจบลงตรงนั้น เพราะเขายืนยันอย่างนี้มาโดยตลอด จึงอยากให้คนที่เข้าร่วมสังเกตตรงนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะทำไม่สำเร็จเพราะผมไม่เชื่อว่าหลักการที่อยู่บนความไม่ถูกต้อง และตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเดียวจะทำได้อย่างราบลื่น ซึ่งสุดท้ายสังคมส่วนใหญ่ จะมองเห็นว่าการรักษาสมดุล และความถูกต้องจะสำคัญกว่า” นายอภิสิทธิ์กล่าว
       
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มบีอาร์เอ็นปล่อยคลิปล้มโต๊ะการเจรจากับฝ่ายไทยนั้นว่า ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลต้องกำหนดท่าทีให้ชัด และต้องแสดงจุดยืนเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานต่อไป เพราะเราต้องรู้ก่อนว่าการถอนตัวนั้นแค่ตัวบุคคล หรือถอนทั้งองค์กร หรือล้มเลิกกระบวนการนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องมาประเมินสิ่งที่ผ่านมาว่าเหตุใดหลังจากการพูดคุย 5-6 เดือนจึงกลายมาเป็นถึงจุดนี้ ส่วนที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอให้รัฐบาลพิจารณา 5 ข้อเสนอที่เคยพูดไปก่อนหน้านี้นั้น เราเตือนตั้งแต่ต้นว่าไม่คัดค้านการพูดคุย แต่ที่มาของการพูดคุยใน 6 เดือนที่ผ่านมาเริ่มต้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลมาเลเซีย ทำให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น เพื่อหวังผลทางการเมืองระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาแล้ว ก็ใช้เวทีนี้โฆษณาตัวเอง และทำให้ปัญหายกระดับเป็นที่รับรู้ทั่วโลก ซึ่งบีอาร์เอ็นบรรลุเป้าหมายเขาแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ควรเป็นบทเรียนรัฐบาลว่าหากอยากพูดคุยให้เกิดสันติภาพจริงควรจะต้องเปลี่ยนแปลงเจรจาอย่างไร
       
“ตอนนี้ยังทันที่จะตั้งหลัก เราอย่าไปถลำลึกในสิ่งที่เห็นว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ขอให้กลับมาตั้งหลักให้ดี หากจะมีกระบวนการพูดคุย ก็ต้องตกลงให้ชัดเรื่อง รูปแบบ วิธีการ ตัวผู้เจรจา อย่าให้ซ้ำรอยกับที่ผ่านมา” นายอภิสิทธิ์กล่าว
       
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยในคดียิงอาร์พีจีใส่อาคารกระทรวงกลาโหมนั้นว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดคำพิพากษา แต่ก็ต้องปล่อยให้เป็นตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ตนคิดว่าอัยการควรจะยื่นฎีกาในคดีนี้ เพราะเป็นคดีที่เกิดความเสียหาย และกระทบกระเทือนกับส่วนรวมอย่างมาก และศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษสูงมาก ดังนั้นคดีนี้ก็ควรดำเนินการให้ถึงที่สุด โดยยื่นฎีกา หากไม่มีการยื่นฎีกาก็จะเป็นปัญหาว่า หากต่อไปมีความเคลื่อนไหว โดยอ้างแรงจูงใจทางการเมืองก็สามารถทำผิดอย่างนี้ได้ ก็เท่ากับบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles