เจาะวงถกรอบสองสันติภาพชายแดนใต้ ต่างมีข้อต่อรอง ‘รัฐไทยขอให้ลดพื้นที่ก่อเหตุรุนแรง ฝั่งขบวนการขอให้ลบบัญชีดำ นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง นัดต่อไป 29 เมษาฯ เพิ่มตัวแทนฝ่ายละ 9 คน
ในที่สุดการพูดคุยสันติภาพแบบมาราธอน 12 ชั่วโมง ระหว่างตัวแทนกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐไทย – ตัวแทนรัฐบาลไทย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียรอบ 2 ตั้งแต่เช้าวันที่ 28 มีนาคม 2556 ก็สิ้นสุดลงในช่วงค่ำคืนวันเดียวกัน
ข้อสรุปเบื้องต้นจากการประมวลข่าวหลายสำนัก รายงานว่า มีการสงวนคำขอในประเด็นร้อนอย่าง “หยุดก่อเหตุรุนแรง” ในพื้นที่ และ การ“นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง” การลบรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีดำหรือ Black list และให้รัฐอำนวยความยุติธรรมและความเป็นธรรมแก่ชาวฟาฏอนีย์
การพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 2 นี้ มีตัวแทนกลุ่มต่อต้านรัฐมาร่วมประชุมครั้งนี้ มาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ BRN, PULO และ BIPP มีรายงานว่า ทางฝั่งขบวนการ BRN นั้นมาครบทุกปีก ส่วนขบวนการ PULO มาเพียงคนเดียวและไม่ใช่นายกัสตูรี มะห์โกตา ซึ่งเป็นคนที่อ้างว่าเป็นประธาน PULO-KMP
การประชุมลับครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ตามเวลาประเทศมาเลเซีย โดยรายชื่อของฝ่ายกลุ่มขบวนการ 6 คน ได้แก่ นายฮาซัน ตอยิบ นายซัลมาน อิสมาแอล และอาดัม มูฮัมหมัดนูร จาก BRN นายอะห์มัด ปอซัน จาก PULO นายฮาเซม อับดุลเลาะ จาก BIPP และอาบุลการีม คอเลด (ไม่ทราบสังกัด)
ส่วนตัวแทนฝั่งรัฐไทย 6 คน ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้นำทีม, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 และพล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม
เลขาธิการสมช. เปิดเผยหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า นายกัสตูรี มะห์โกตา ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ แต่ทางฝ่ายขบวนการจะประสานไปในการประชุมในครั้งต่อไปว่า อาจจะมีนายกัสตูรี ร่วมพูดคุยด้วย ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ซึ่งแต่ละฝ่ายจะเพิ่มตัวแทนการพูดคุยเป็น 9 คน
เลขาธิการมช.ระบุว่า ประเด็นที่ใช้เวลาตกลงกันนานในการพูดคุยครั้งนี้คือ เรื่องการขอให้ลดพื้นที่ความรุนแรง ซึ่งฝ่ายขบวนการจะขอเวลาประสานงานกับกลุ่มอื่นๆ ก่อน ส่วนประเด็นที่ฝ่ายขบวนการขอ คือการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง และขอให้ลบรายชื่อคนในฝ่ายขบวนการออกจากบัญชีดำ(Black list) ซึ่งฝ่ายรัฐขอกลับไปประชุมหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อน และจะนำมาถกกันอีกในรอบต่อไป
พล.ท.ภราดร ให้ความเห็นกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ประเด็นที่ฝ่ายขบวนการขอให้มีการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เป็นไปไม่ได้ และการพูดคุยต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ไม่ยอมให้มีการคุยเรื่องการแบ่งแยกดินแดน
นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวสายความมั่นคง จากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่เกาะติดรายงานข่าวการพูดคุยครั้งนี้รายงานผ่านรายการข่าวดึกของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศถูกมาเลเซียกันไม่ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ภายในห้องประชุมได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai