8 ส.ค.56 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ อช. 10/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องไต่สวนการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง อายุ 61 ปี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.55 โดยในวันนี้มี นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแพทย์ที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจชันสูตรพลิกศพนายอำพลที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความเป็นปากสุดท้าย ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งวันที่ 30 ต.ค.นี้ เวลา 9.00 น. เพื่อระบุว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงสาเหตุและพฤติการณ์การตายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ทั้งนี้ นายอำพล ถูกจับกุมฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตั้งแต่กลางปี2553 จากกรณีส่ง SMS จำนวน 4 ข้อความให้เลขานุการอดีตนายกรัฐมนตรี ศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี ระหว่างถูกคุมขังยื่นประกัน 8 ครั้งแต่ศาลปฏิเสธ จนกระทั่งจำเลยเกิดอาการปวดท้องและถูกนำส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันที่ 4 พ.ค.55 และต่อมาเสียชีวิตลงในวันที่ 8 พ.ค.55
น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความนายอำพล กล่าวถึงคำเบิกความของ นพ.กิติภูมิโดยสรุปว่า สภาพศพของนายอำพลนั้นมีท้องโต หน้าท้องตึงใส เมื่อผ่าพบน้ำในช่องท้องจำนวนมากราว 2 ลิตร ไม่พบมะเร็งที่ลิ้น แต่พบมะเร็งที่จุดใหม่คือบริเวณตับ และปรากฏจุดมะเร็งตามผนังช่องท้อง มีความเห็นว่า นายอำพลเป็นมะเร็งในระยะลุกลาม แต่ไม่ได้เสียชีวิตจากมะเร็ง หากแต่เพราะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากมีน้ำในช่องท้องจำนวนมาก และตามประวัติการรักษาในเวชระเบียน พบว่าไม่มีการเจาะน้ำในช่องท้องออก ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเนื่องจากน้ำไปดันกระบังลม มีผลต่อการสูบฉีดหัวใจ ซึ่งพบว่ามีการให้ยาขับปัสสาวะ ให้ยาลดการบีบตัวของหัวใจ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
นพ.กิติภูมิกล่าวอีกว่า ในวันที่ 8 พ.ค.ซึ่งเป็นวันที่นายอำพลเสียชีวิตนั้น ตามเวชระเบียนพบว่ามีเพียงพยาบาลที่ให้ความช่วยเหลือกู้ชีพเบื้องต้นโดยการปั๊มหัวใจด้วยมือและเครื่องมือพื้นฐาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยในทุกแห่งต้องมีแพทย์ประจำการเพื่อร่วมปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน มีการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ มีการให้ยากระตุ้นหัวใจด้วย แต่ปรากฏว่าไม่มีแพทย์อยู่ที่เกิดเหตุและไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังป่วย แต่เจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดของผู้ฟ้องคดีได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นายอำพลถึงแก่ความตาย ให้กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะชำระเสร็จสิ้น
ในคำฟ้องระบุถึงความยากลำบากและความล่าช้ากว่าที่นายอำพลจะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้จะปรากฏอาการของโรคมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม
“นอกจากนี้ เมื่อผู้ตายได้ร้องขอไปรักษาที่ทัณฑ์สถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวตรงกลับวันหยุดสามวัน หน่วยงานในสังกัดผู้ฟ้องคดีกลับหยุดทำการใดๆ เพื่อวินิจฉัยหรือหาสาเหตุของโรค มีเพียงรักษาเพื่อประคองอาการเท่านั้น การไม่มีมาตรการรักษาโรคเชิงเฝ้าระวังต้องรอให้ผู้ต้องขังเจ็บป่วยใกล้ตายเสียก่อนจึงจะได้รับการรักษา ความไม่พร้อมของอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือและบุคคลากรทางการแพทย์ การหยุดการดำเนินการใดๆ เพื่อวินิจฉัยโรคในช่วงวันหยุด เป็นเหตุโดยตรงให้นำมาสู่ความตายของผู้ตาย” ตอนหนึ่งของคำฟ้องระบุ