Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สภาฯ ป่วน ถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

$
0
0

ประธานฯ ยันไม่ใช่กฎหมายการเงิน  ฝ่ายค้านจัดหนักไม่ให้เข้าสู่วาระ ด้าน "จ่าประสิทธิ์"ชูรองเท้าใส่ฝั่ง ปชป. "ขุนค้อน"ต้องพักประชุม  ยกสองรอบเย็น ผู้นำฝ่ายค้านเสนอเลื่อนประชุม ส.ส.โหวตเดินหน้าประชุมต่อ

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำ ความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ

ทันทีที่เปิดประชุม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พยายามตัดบทเข้าสู่วาระทันที แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันประท้วงเกี่ยวกับอุปสรรคของส.ส.ที่จะเดินทางเข้ามายังสภา โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กล่าวว่าตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้กีดกันผู้ช่วยส.ส.ฝ่ายค้าน ไม่ให้เข้ามา ขณะที่การถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถทำได้ ขณะที่นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.เพื่อไทย ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้กีดกันผู้ช่วยส.ส.ไม่ให้เข้าสภาแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแสดงบัตรให้ชัด จึงจะเข้ามาได้

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับการถ่ายทอดสด โดยนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ระบุ มีสื่อมวลชนจำนวนมากอยู่ที่เขาดินก็เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดผ่านไทยพีบีเอส และช่อง 11 ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานฯ โดยตรงขอให้มีการถ่ายทอดสดทาง ช่อง 11 และวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์อย่างทั่วถึง ขณะที่นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ช่อง 11 ว่าที่ไม่สามารถถ่ายทอดสดวันนี้ได้ เพราะมีผังรายการของช่องอยู่ โดยติดถ่ายทอดพระราชกรณียกิจพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จึงไม่สามารถตัดสัญญาณมาถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ วันนี้ได้

จากนั้นนายสมศักดิ์พยายามนำเข้าสู่วาระ แต่เมื่อนายวรชัยเริ่มนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ กลับถูก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โห่ฮา อ้างว่าหลักปฏิบัติที่ผ่านมา ประธานฯ ต้องให้ ส.ส.หารือถึงความเดือดร้อนประชาชนก่อน ท้ายที่สุดนายสมศักดิ์ก็ยินยอมและเปิดให้อภิปรายไปอีกกว่า 1 ชั่วโมง

นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ขู่ว่าหากยังเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อไปตนก็คงต้องยื่นถอดถอนประธานฯ หลังจากก่อนหน้านี้ เคยยื่นไปแล้ว 2 เรื่อง เพราะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เนื่องจากหากมีการนิรโทษกรรม รัฐบาลต้องนำเงินหลวงจ่ายคืนค่าปรับ รวมถึงรัฐบาลจะต้องเสียเงินเพื่อสร้างศาลากลางประจำจังหวัด โดยไม่สามารถฟ้องร้องเรียกเงินทางแพ่งจากผู้ที่กระทำผิดได้ ดังนั้นควรผ่านให้นายกรัฐมนตรี ลงนามก่อน ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน แต่หากนายถาวรยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจเข้าข่ายก็สามารถยื่นให้กรรมาธิการสามัญ 35 คณะพิจารณาได้ทันที

นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านทักท้วงว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 หรือไม่ว่า การพิจารณาว่าร่างกฎหมายใดเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยคือประธานสภาฯ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ แต่หากมีข้อขัดแย้งหรือสงสัยต้องอ้างอิงสาระของรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ทั้งนี้มีถ้อยคำระบุว่าหากมีเหตุที่สงสัยในที่นี้ คือ ประธานสภาฯ ดังนั้นหากประธานสภาฯ ไม่สงสัย ส.ส.จะบังคับให้สงสัยไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากท้ายสุดผลของกฎหมายดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องใช้กฎหมายอื่นมาเทียบเคียง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายทักท้วงว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย จะมีผลนิรโทษกรรมให้กับผู้มีความผิดในกรณีเผาศาลากลางจ.อุดรธานีด้วย และเมื่อพิจารณาในคำสั่งศาลต่อคดีดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคม 2555 จะพบว่าศาลมีคำสั่งตัดสินจำคุกและสั่งให้ชดใช้เงินค่าเสียหายจากผู้ที่มี ความผิด จำนวน 5 คน ได้แก่นายอาทิตย์ ทองสาย ถูกจำคุก 2 ปี 6 เดือน, นายเดชา คมขำ ถูกจำคุก 20 ปี 6 เดือน และ นายบัวเรียน แพงสา สั่งจำคุก 20 ปี 6 เดือน ศาลสั่งให้ชดใช้เงินรวม 143 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5, นายกิติพงษ์ ชัยกังจำคุก 11 ปี 3 เดือน และ นายวันชัย รักษาสงวนศิลป์ ถูกสั่งลงโทษจำคุก 20 ปี 6 เดือน รวมถึงให้ชดใช้ 57.7 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐต้องติดตามเอาคืนกับบุคลเหล่านี้ จึงถือว่าเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินที่ชัดเจน ดังนั้นตนขอให้นายสมศักดิ์วินิจฉัยให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นหากพิจารณาผิดเรื่องอาจถึงศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายซักถามในประเด็นดังกล่าวด้วย

ขณะที่ นายประเสริฐพงษ์ สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติขอเลื่อนวาระการประชุม โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ขึ้นมาแทน แต่นายสมศักดิ์ไม่อนุญาต เพราะเข้าสู่วาระไปแล้ว และตัดบทให้นายวรชัย นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกครั้ง นายสมบูรณ์จึงตะโกนคำว่า “สภาขี้ข้า” อยู่หลายรอบ และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ชี้หน้าไปทางประธานฯ พร้อมพูดว่า “ขี้ข้า” ท่ามกลางเสียงโห่ฮาของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รบกวนการอภิปรายของนายวรชัย ขณะที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้ยกรองเท้าชูขึ้นมาเป็นการตอบโต้ ทำให้บรรยากาศในห้องตึงเครียดขึ้น จนนายสมศักดิ์ต้องสั่งพักประชุม และเริ่มประชุมอีกครั้งราว 18.15 น.โดยนายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านได้ขอให้เลื่อนการประชุมครั้งนี้เนื่องจากนายกฯ ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังการอภิปราย

ทั้งนี้ ที่ด้านห้องโถงรัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้ออกไปรับหนังสือจากนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งออกหนังสือแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอให้สภาดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านทางช่องฟรีทีวี เนื่องจากสื่อมวลชนลงพื้นที่ปฏิบัติงานท่ามกลางความขัดแข้งทางการเมืองหลายปีและเห็นว่าการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญ ย่อมเป็นผลเสียมากกว่าผลดี รวมถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้สร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในวงกว้าง ดังนั้น เพื่อป้องกันข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือก่อให้เกิดความสับสนในสังคม จึงขอให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายสื่อสารไปยังประชาชนโดยตรง โดยขอให้สภาประสานกับรัฐบาลเพื่อถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีโดยด่วน ขณะที่นายวิสุทธิ์กล่าวยืนยันว่า สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีสามารถถ่ายทอดสัญญาณได้ตามปกติ ถ้าช่องไหนเกี่ยวสัญญาณถ่ายทอดสดห้องประชุมไม่ได้ ให้แจ้งตน ก็จะอำนวยความสะดวกให้เต็มที่

ในช่วงเย็น หลังมีการเปิดอภิปรายอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้ที่ประชุมลงมติเลื่อนการพิจารณากฎหมายนี้ โดยให้เหตุผลอ้างอิงคำแถลงของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนและฮิวแมนไรท์วอทช์ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้นอกจากนี้หลายภาคส่วนยังกังวลว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง

“การปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยัดเยียดแนวคิดให้แล้วลงมติด้วยเสียงข้างมาก” นายอภิสิทธิกล่าวและว่าพร้อมจะหาหรือพูดคุยหาทางออกประเทศทันทีหากถอนการพิจารณากฎหมายนี้ และหากรัฐบาลไม่ถอยก็สะท้อนถึงความไม่จริงใจในการตั้งโต๊ะปฏิรูป

สุณัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่มีคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ แต่ประชาชนและผู้ไม่เกี่ยวข้องก็ได้ประโยชน์ การเสนอกฎหมายนี้เป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่งเนื่องจากมีการนำเสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยได้รับเสียงเกินครึ่ง  นอกจากนี้ยังโต้แย้งนายอภิสิทธิเรื่องคำแถลงขององค์กรระหว่างประเทศโดยระบุว่า เขาไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดองแต่วิตกว่าจะละเว้นการลงโทษผู้ที่เข่นฆ่าประชาชน

นอกจากนี้สุณัยยัง ยกประวัติศาสตร์ว่าเคยมีการเขียนกฎหมายนิรโทษกรรม เช่น ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปี 2490 ที่ระบุให้มีคณะกรรมการพิจารณาคดีที่ศาลพิพากษาแล้วหรืออยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อให้ศาลสั่งปล่อยหรือถอนฟ้อง รวมถึง ในปี 2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังเคยลงนามในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน จากเหตุการณ์ที่มีการนำรถถังออกมายิงกองพล 1 มีนักข่าวบาดเจ็บ และมีคนเสียชีวิต แต่มาตรา 3 วรรค 2 ระบุว่าไม่นิรโทษกรรมแก่คนที่ไม่มารายงานตัว หลังจากนั้นมี พ.ร.บ.เพื่อยกเลิกวรรค 2 ดังกล่าว รวมไปถึงการหยิบยกนโยบาย 66/23 โดยพล.อ.เปรม ซึ่งไม่ใช่การออกกฎหมายแต่เป็นเพียงการออกนโยบายเท่านั้น รูปแบบเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้วเพื่อทำให้สังคมที่แตกแยกหนักมีการเข่นฆ่ากันกลับมาปรองดองกัน

เวลา 19.40 น. นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติว่าจะเลื่อนการพิจารณาพ.ร.บ.นี้หรือไม่  ผลการลงคะแนนปรากฏว่ามีส.ส.เห็นควรเลื่อนพิจารณา 160 คน  ไม่เห็นควรให้เลื่อน 301 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน จึงมีการประชุมต่อ


 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา (ถ่ายทอดสด), เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์ข่าวรัฐสภา, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 19.50 น.
======================

 

รายละเอียด ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนาย วรชัย เหมะ

 

 หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุม ทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554

เหตุผล

เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบ ประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่ เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึก สับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมี การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความ ยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู้สังคมไทยในทุกระดับและ นำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของ ประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้าน ความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทาง การเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาส แก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบ ประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัคร สมานสามัคคีร่วงแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่าง ยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการ เมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการ เมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและ ความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัติ นี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญบัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียก ร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี

 

ดูฉบับเต็มได้ที่
http://ilaw.or.th/sites/default/files/%E0%B8%A3.%E0%B8%9A.%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%20%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2%20%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B0.pdf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles