ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยดุลยภาค ปรีชารัชช และพงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ สัปดาห์นี้ ร่วมกันมองภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศพม่า หรือมีชื่อประเทศที่ระบุอยู่รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ร่างสมัยรัฐบาลทหารว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์"
โดยในประเทศพม่า ยังแบ่งออกเป็นรัฐของชนกลุ่มน้อย อันเป็นอนุรัฐหรือพหุรัฐที่หลากหลายถึง 7 รัฐ ได้แก่ รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี รัฐมอญ รัฐอาระกัน และรัฐชิน โดยมีตัวแสดงต่างๆ อยู่ในระบบการเมืองพม่ามากมายมหาศาล
โดยดุลยภาค กล่าวว่า การปรากฏตัวของพม่าซึ่งมีขนาดมหึมา เกิดจากการรวบรวมหน่วยการเมืองหรือรัฐเล็กรัฐน้อย ประกอบเข้ามาเป็นร่างกายของรัฐพม่า ทีนี้ในมุมมองของนักการทหาร หรือนักปกครองพม่า จะทำอย่างไรกับรัฐคะฉิ่นซึ่งมีขนาดทัดเทียมกับรัฐโปรตุเกสทั้งประเทศ แล้วมีเขตภูมิประเทศแบบหิมาลัย หรือสวิสเซอร์แลนด์ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเท่ากับว่าปฏิบัติการทหารจะสร้างต้นทุนระดับสูง สร้างความเหนื่อยยากให้กับกองทัพพม่า เพราะฉะนั้นการพิชิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ท่ามกลางแรงโน้มถ่วงที่จะให้มาเจรจา จึงเป็นความใฝ่ฝัน หรือชดเชยข้อสูญเสียที่ผ่านมาของรัฐพม่าด้วย นี่จึงอธิบายได้ว่าทำไมสถานการณ์ของรัฐคะฉิ่นจึงเกิดการสู้รบแล้วก็รุนแรง
ขณะเดียวกัน ลักษณะอีกอย่างคือ อาณาเขตที่เป็นประเทศพม่าปัจจุบัน มีการจินตนาการของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนที่อยากให้มีรัฐใหม่ ผุดขึ้นมาแล้วฉีกตัว อย่างเช่นในอดีตกลุ่มผู้นำชาวกะเหรี่ยงต้องการก่อตั้งรัฐกอทูเลที่กินอาณาเขตรวมรัฐกะเหรี่ยง เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี และรัฐมอญบางส่วนเข้ามาด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลพม่าไม่ยอม
ส่วนในรัฐฉาน ก็มีกลุ่มอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์พม่าแตกกระสานซ่านเซ็น ก็กลายเป็นกองกำลังกระจัดกระจาย 4-5 กลุ่มหลักๆ เช่น กลุ่มกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กลุ่มโกก้าง (MNDAA) กลุ่มเมืองลา (NDAA) พวกนี้อยู่ด้วยการค้าชายแดน มีหลังยังพิงจีน
ดังนั้นในมโนทัศน์ของรัฐบาลพม่า แรงแยกออกจากศูนย์กลางยังสั่นสะเทือนแรงรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นการเปิดปฏิบัติการทหารของพม่า จึงยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ทัศนะของกองทัพพม่ายังเห็นว่า อำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังต่างๆ ไม่ทัดเทียมกัน โดยพม่าถือว่ากองทัพของตนเป็น "อภิมหาอำนาจ"ทางการทหาร เพราะมีกำลังพล 3-4 แสนนาย และพอจัดลำดับรองๆ มาจะเห็นว่า กองทัพสหรัฐว้า กองทัพรัฐฉานภาคใต้ หรือกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น ก็มีอัตรากำลัง 10,000 - 30,000 นาย ก็เป็น "มหาอำนาจ"ที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาลพม่าอยู่ แต่ก็จะมีกองกำลังขนาด "มัธยะอำนาจ"เช่น กองทัพกะเหรี่ยง DKBA หรือกองทัพกะเหรี่ยง KNU ก็มีกองกำลังหลักพัน หรือ อนุอำนาจ"ที่มีกองกำลังหลักร้อย ที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ละหู่ ปะโอ ลีซอ
โดยแท็กติกของรัฐบาลพม่าก็คือ ดึงกลุ่มที่อ่อนกำลังวังชามาเจรจาหยุดยิง และยื่นข้อเสนอ เท่ากับว่าเพิ่มอำนาจการเจรจาของตน และหลังจากนั้นก็ไต่ระดับมาเจรจากับกลุ่มอำนาจระดับกลาง และใช้วิธียุแหย่ให้ตีกันเองในกลุ่ม ดังจะเห็นได้จากการแตกแยกของกองทัพกะเหรี่ยง DKBA และกะเหรี่ยง KNU ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กองทัพพม่าชิงค่ายมาเนอปลอได้ และเป็นการโดดเดี่ยวทางยุทธศาสตร์กับกลุ่ม KNU
หลังจากนั้นรัฐบาลพม่าก็ไต่ระดับขึ้นมาเจรจากับกลุ่มที่มีกำลังวังชา ดังจะเห็นในข่าวว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เพิ่งรับการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าเมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งนี้การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่า และกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังเลือกตั้งพม่าปี 2553 แต่การเจรจาเริ่มกระบวนการมายาวนานตั้งแต่ปี 2532 โดยเริ่มจากกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วอาศัยการชิงไหวชิงพริบ แล้วกองทัพพม่าเข้าไปควบคุุม
สิ่งสำคัญคือกองทัพพม่ามีการผลิตยุทธศาสตร์การทหาร ซึ่งใช้ได้ผลมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายพลเนวินแล้ว คือ"ยุทธวิธีตัดสี่"คือการตัดอาหาร กองกำลัง คลังวัสดุ และการข่าว ไม่ให้สี่องค์ประกอบรวมตัวกันได้ เพราะจะเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจรัฐ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพม่าเข้าทำก็คือใช้วิธีกันไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ติดต่อกับกองกำลัง เพื่อให้แนวร่วมระส่ำระสาย มีการย้ายราษฎรในชนบทให้ไปอยู่ใกล้ทหารพม่า ยื่นเงื่อนไขว่าถ้าไม่ย้ายก็เท่ากับชาวบ้านอยู่ข้างกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วกองทัพพม่าก็จะกระทำการรุนแรง พอย้ายมาปุ๊บก็เท่ากับว่ารัฐบาลพม่ามีอำนาจควบคุมมากขึ้น แล้วไปโดดเดี่ยวกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้กองทัพพม่าก็ใช้วิธีแบ่งพื้นที่ในประเทศออกเป็นสามสี คือพื้นที่สีดำ สีน้ำตาล สีขาว
สีดำ คือเป็นเขตของกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ สีน้ำตาล คือเขตที่ยังเผชิญกันระหว่างกองทัพรัฐบาล กับกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ และสีขาว คือเขตปลอดพื้นที่ผู้ก่อการ โดยกองทัพพม่าพยายามเปลี่ยนให้พื้นที่สีดำ และสีน้ำตาล กลายเป็นสีขาว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่าแม้มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลพม่า และกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก็ยังมีปฏิบัติการทางทหารอยู่
ทั้งนี้ กรณีของพม่า ยังอยู่ในการปะทะประชันกันระหว่างคีย์เวิร์ด "การสร้างรัฐ"กับ "การสร้างสันติภาพ"ซึ่งไปกันไม่ได้ หากจะสร้างสันติภาพเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ มักจะมีปัญหา เพราะเรื่องแรก พม่าถือว่าสร้างรัฐไม่จบ และการสร้างรัฐของพม่าก็คือการใช้โครงสร้างกองทัพบกอันมหึมาเข้าไปกวาดไล่ในพื้นที่ชนบท คือให้ทหารเข้าไปคุมพื้นที่ ใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งก็คือพม่ากลัวว่าหลังเจรจาแล้วกลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าไปเคลื่อนไหวในเมืองใหญ่ กรณีเช่นนี้พม่าเกรงว่าจะมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปในพื้นที่ๆ รัฐบาลคุมไม่ถึง กองทัพพม่าจึงเพิ่มกำลังทหารพม่าในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปิดล้อมฐานที่มั่นของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อสะกดให้แต่ละกลุ่มถอยกลับไปสู่ที่ตั้ง
ดังนั้นในทางปฏิบัติทั้งสองฝ่ายไม่ยอมเสียเหลี่ยมกัน เพราะการสร้างรัฐของพม่ายังไม่จบ โดยการสร้างรัฐของพม่ามาจากการทำสงคราม
และเรื่องที่สอง การจัดประชุมต่างๆ อย่างการประชุมสมัชชาแห่งชาติ รัฐบาลพม่าก็ควบคุม และส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาก็ถือว่ายังสร้างชาติไม่จบ ยังถือว่าอยู่ในช่วงรวมชาติ เพราะยังไม่มีประเทศตามที่พวกเขาต้องการ ประชาชนถูกพม่ากลืน และต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ของตนมีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอื่น
ข้อสุดท้ายที่สำคัญคือ รูปของรัฐที่ถูกออกแบบมาอย่างอิหลักอิเหลื่อ คือรัฐบาลพม่าอยากให้มีรัฐเดี่ยว รัฐบาลกลางกุมอำนาจการปกครอง Centralization หรือ รวมอำนาจผ่านกระทรวง ทบวง กรม แล้วแบ่งอำนาจให้ข้าราชการเข้าไปประจำในพื้นที่ต่างๆ แล้วกระจายอำนาจเพียงเล็กน้อย นี่คือระเบียบปฏิบัติของรัฐพม่า ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อยากให้มี Decentralization มีการกระจายอำนาจในท้องถิ่นมากขึ้น แต่ตรงนี้ยังคุยไม่ได้ในเรื่องรายละเอียด ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนก็จินตนาการถึงการปรับโครงสร้างรัฐพม่าใหม่ จาก "เอกรัฐ"เป็น "สหพันธรัฐ" ซึ่งเน้นกระจายอำนาจ เป็นสหภาพที่แท้จริง มีสิทธิเท่ากันตามรัฐธรรมนูญ หมุนเวียนกันเป็นประธานาธิบดี ซึ่งนักการทหารพม่าไม่ชอบ เพราะจะทำให้พม่ามีสภาพเหมือนสหภาพโซเวียต หรือยูโกสลาเวีย