คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบและส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีสภามีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชน 14,264 คนเข้าชื่อ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
สืบเนื่องจากกรณีสภาผู้แทนราษฏรมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับที่ วิไลวรรณ แซ่เตีย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เข้าชื่อเสนอ ล่าสุด (2 ส.ค.56) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วย วิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้แทนผู้เสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน เฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและมีความเห็นเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ...ที่น.ส.วิไลวรรณ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน เป็นผู้เสนอนั้น เข้าข่ายเป็นการจงใจละเมิดสิทธิของประชาชน และปิดกั้นขัดขวางการใช้สิทธิทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 163 หรือไม่
โดยหนังสือร้องเรียนระบุว่า "การลงมติไม่รับหลักการร่างระราชบัญญัติที่เข้าชื่อเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ที่มุ่งหมายรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ทั้งสาระของสิทธิ และขั้นตอนการใช้สิทธิของประชาชนโดยชัดแจ้งเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญและกำหนดการขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัตินั้นและคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องประกอบด้วยผู้แทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด"