ร้องพีทีที-หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กโดยทันที ทั้งให้นายกฯ ตั้งกรรมการสอบ 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง-ผู้ว่าฯ ระยอง เหตุปล่อยให้มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย จี้ตอบสาธารณชนภายใน 7 วัน
วันนี้ (2 ส.ค.56) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ขอให้ยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก หลังพบมีเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาช่วยทำหน้าที่ตักเก็บ ทำความสะอาดคราบน้ำมันในพื้นที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยองซึ่งได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล โดยคราบน้ำมันดังกล่าวเป็นสารอันตรายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่านัก อีกทั้งพบว่าเด็กดังกล่าวไม่มีระบบป้องกันร่างกายที่ถูกต้องแต่อย่างใด
กรณีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กดังกล่าวโดยทันที และให้นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการสอบสวน 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดระยองด้วยว่า เหตุใดจึงปล่อยให้มีการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้น
นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้ต้องมีคำตอบต่อสาธารณชนภายใน 7 วันนับแต่วันนี้
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ ฉบับที่ 3 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอให้ยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก ................................. ตามที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้นำพนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐมาดำเนินการขจัดคราบน้ำมันบริเวณพื้นที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง หลังจากที่ถูกคราบน้ำมันดิบรั่วไหลและแพร่กระจายลอยมาจากทุ่นรับน้ำมันดิบ (Single Point Mooring) มาปนเปื้อนบริเวณชายหาดดังกล่าว จนกลายเป็นทัศนอุจาด (Visual Pollution) อับอาย ขายหน้า แพร่กระจายไปทั่วโลกแล้วนั้น จากการติดตามการทำงานเก็บกวาดและขจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวของกลุ่มพนักงานของบริษัท PTT GC เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มจิตอาสาต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวพบว่า มีเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาช่วยทำหน้าที่ตักเก็บ ทำความสะอาดคราบน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งคราบน้ำมันเป็นสารอันตราย ประเภทสารประกอบไฮโดรคาร์บอน สารอินทรีย์ระเหยง่าย และสารปรอท เมื่อสัมผัสและสูดดมไอระเหยเข้าสู่ร่างกาย จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เพราะสารต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งด้วย ซึ่งเด็กและเยาวชนย่อมมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ ย่อมมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่านัก อีกทั้งพบว่าเด็กดังกล่าวไม่มีระบบป้องกันร่างกายที่ถูกต้องแต่อย่างใด การปล่อยให้เด็กและหรือเยาวชนเข้ามาช่วยขจัดคราบน้ำมันดังกล่าว ย่อมเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (6) โดยชัดแจ้ง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ในการใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อการพัฒนาการของเด็ก หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอำนาจของ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ รมว.กระทรวงมหาดไทย รมว.กระทรวงศึกษาธิการ รมว.กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จะต้องปฏิบัติการคุ้มครองเด็กให้เป็นไปตามกฎหมายนี้โดยเคร่งครัด นอกจากนี้ยังถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกโดยชัดแจ้งอีกด้วย กรณีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงใคร่ขอให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ยุติการนำเด็กมาร่วมขจัดคราบน้ำมันอันเป็นละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กดังกล่าวโดยทันที และให้นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการสอบสวน 4 รัฐมนตรีข้างต้น รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดระยองด้วยว่าเหตุใดจึงปล่อยให้มีการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องมีคำตอบต่อสาธารณชนภายใน 7 วันนับแต่วันนี้ ประกาศมา ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2556 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน |
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai