จากเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของตุรกีตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. มาจนถึงตอนนี้มีนักข่าวในตุรกี 59 คนต้องออกจากงานจากการกดดันของรัฐบาลและสื่อทุนใหญ่ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอ้างว่ามีนักข่าว 64 รายถูกจับกุมและอีกร้อยกว่ารายถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย
24 ก.ค. 2013 เว็บไซต์ CommonDreams.org ระบุว่ามีผู้สื่อข่าวในตุรกีถูกจับกุมเนื่องจากพวกเขารายงานข่าวการประท้วงรัฐบาล ขณะที่เจ้าของสื่อบางแห่งในตุรกีไล่ลูกน้องนักข่าวออกจำนวนหนึ่งหลังจากถูกกดดันโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน
พรรครีพับรีกันพีเพิลปาร์ตี (CHP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของตุรกีกล่าวในรายงานว่ามีนักข่าว 64 รายถูกจับกุมตัว และอีก 123 รายถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย
"นายกรัฐมนตรีทำให้ประเทศกลายเป็นที่กึ่งๆ สถานดัดสันดานแบบเปิด และทำให้นักข่าวอยู่ไม่ได้"เคมัล คิลิซดาโรกลู หัวหน้าพรรค CHP กล่าวในการแถลงข่าว
เคมัลกล่าวอีกว่า ชาวตุรกีอยู่ในสภาพที่เจ้าของสื่ออยู่ภายใต้การบังคับของผู้มีอำนาจทางการเมือง และจำต้องนำเสนอข่าวสารที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองยอมรับได้เท่านั้น ราวกับว่าตุรกีถูกย้อนเวลากลับไปเมื่อ 105 ปีที่แล้ว
การประท้วงในตุรกีเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. จากการที่มีคนกลุ่มหนึ่งประท้วงต่อต้านการรื้อถอนสวนสาธารณะเกซี แต่ต่อมาก็มีประชาชนมาร่วมประท้วงในประเด็นอื่นๆเช่นเรื่องเสรีภาพและการที่รัฐบาลตุรกีพยายามทำให้ประเทศกลายเป็นรัฐศาสนามากขึ้น
โดยเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็ได้ออกแถลงการณ์กล่าวถึงการที่ตำรวจของตุรกีตั้งเป้ามาที่นักข่าวในช่วงการประท้วงเมื่อไม่นานมานี้ โดยในแถลงการณ์ระบุว่ามีนักข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายคนถูกไล่ออก มีสื่อบางแห่งถูกสั่งห้ามตีพิมพ์ สื่อไม่สามารถทำงานได้ รวมถึงมีนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากถูกจับกุมและถูกสั่งให้ออกจากประเทศ
สหภาพสื่อนานาชาติ (United Press International หรือ UPI) กล่าวในรายงานข่าวว่ามีผู้สื่อข่าว 59 คนออกจากงานนับตั้งแต่มีการรายงานข่าวการประท้วงรื้อถอนสวนสาธารณะ โดยมี 22 คนถูกไล่ออก ซึ่งในจำนวนนั้นถูกไล่ออกจากการที่พวกเขาแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งลาออกท่ามกลางบรรยากาศของการปิดกั้นสื่อ
โกคาน เดอมุส ประธานสหภาพนักข่าวตุรกีสาขาอิสตันบูลกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวเหล่านั้นทำงานหนักเพื่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และการออกจากงานของพวกเขามาจากนโยบายการปิดกั้นสื่อหลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงที่สวนสาธารณะเกซี
หนึ่งในนักข่าวที่ต้องออกจากงานคือ ยาวูซ เบย์ดาร์ เขาถูกไล่ออกจากงานหนังสือพิมพ์รายวัน Sabah หลังจากที่เขาได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ พูดถึงเรืองการที่เจ้าของสื่อมีความเกี่ยวพันธ์บางอย่างกับรัฐบาลตุรกี
ยาวูชกล่าวในบทความว่า ปัญหาอยู่ที่สื่อกระแสหลักมีเจ้าของเป็นคนรวยที่มีอำนาจอยู่ในภาคส่วนเศรษฐกิจใหญ่ๆ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม, การธนาคาร และการก่อสร้าง และเนื่องจากมีช่องโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์จำนวนไม่มากที่สามารถสร้างกำไรได้ ผู้ประกอบการจึงใช้สื่อเป็นเครื่องมือจูงใจของรัฐบาล และมีผู้บริหารที่ยอมจำนนต่อนักการเมือง
"มันเป็นไปไม่ได้ที่จะข่าวอย่างจริงจังในระบบที่น้ำเน่าแบบนี้ เรื่องผลประโยชน์เหล่านี้ทำให้ห้องข่าวส่วนใหญ่ของตุรกีกลายเป็นคุก การทำข่าวเรื่องการคอร์รัปชั่นทางเศรษฐกิจแทบจะเป็นศูนย์"ยาวูชกล่าว
เรียบเรียงจาก
Turkey Jails 64 Journalists For Coverage of People's Protest, CommonDreams, 24-07-2013