ในสถานการณ์ของความเป็นกับความตายบนรถพยาบาลฉุกเฉิน เวลาทุกวินาทีเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นเครื่องชี้ชะตาว่าผู้ป่วยฉุกเฉินจะมีโอการรอดชีวิตต่อไปหรือไม่ ดังนั้นการนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลโดยเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนตระหนักถึง แต่ด้วยบางครั้งสภาพการจราจรติดขัดส่งผลให้หลายชีวิตพลาดโอกาสรอดชีวิต หรือบางครั้งบางคราวความเร่งรีบของรถพยาบาลได้ไปสร้างความไม่พอใจให้กับใครหลายๆ คน ดังเช่นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จนเป็นเหตุทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินที่กำลังช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินถูกตามไล่ยิง ดังนั้นถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการ “หลีกทางให้รถพยาบาล”
นายต่อพงษ์ ส่งศรีโรจน์ ผู้จัดการหน่วยกู้ชีพหงส์แดง กรุงเทพมหานคร หนึ่งในทีมกู้ชีพ ที่มีประสบการณ์การทำงานมากว่าสิบปี เล่าว่า ทุกครั้งที่นำรถพยาบาลออกเหตุเพื่อไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทุกราย โดยเฉพาะการออกเหตุในกรุงเทพมหานครที่มีสภาวะการจราจรติดขัดยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าไปช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้เร็วที่สุด ซึ่งเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเคยได้ไปช่วยคุณยายที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว แต่ขณะขับรถเข้าไปรับผู้ป่วยในช่วงที่ขับรถเข้าซอยมีรถจำนวนมากที่ไม่หลีกทางให้ จนเกือบทำให้ไปรับผู้ป่วยไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีในลักษณะเดียวกัน ที่ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจในเรื่องการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉิน
“หลายคนตั้งคำถามว่าการออกเหตุแต่ละครั้งมีผู้ป่วยฉุกเฉินจริงหรือไม่ที่อยู่บนรถพยาบาลนั้นๆ ผมขอยืนยันว่ามีผู้ป่วยจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยร้ายแรง อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน อุบัติเหตุที่รุนแรง หรือไม่ก็เป็นรถฉุกเฉินที่กำลังเร่งไปรับผู้ป่วย ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนขอทางจากรถพยาบาลฉุกเฉินควรหลีกทางให้ เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบนรถคันนั้นจะเป็นญาติพี่น้องคุณหรือไม่ และควรจะเป็นเรื่องที่เราปฏิบัติทันทีโดยไม่ต้องคิดว่ามีกฎหมายบังคับหรือไม่ แต่ควรปฏิบัติให้กลายเป็นจิตสำนึก”
นายต่อพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเด็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร คือรถพยาบาลฉุกเฉินติดสัญญาณไฟแดง ดังนั้นหากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยการประสานให้มีการเปิดไฟเขียวเพื่อให้รถพยาบาลสามารถนำผู้ป่วยฉุกเฉินส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ขณะที่ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สพฉ. ที่มีบทบาทหลักในการกำหนดมาตรฐานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นว่าเรื่องนี้ควรมีการรณรงค์อย่างจริงจังให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการหลีกทางให้รถพยาบาล เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินยิ่งใช้เวลาน้อยเท่าไหร่ก็จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้เปิดขึ้นทะเบียนและตรวจสภาพรถพยาบาลและรถกู้ชีพเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยรถกู้ชีพที่จะผ่านมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถยนต์ตู้ หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่กระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ด้านข้าง และช่วงหลังทั้งสองข้างต้องแสดงตราสัญลักษณ์ของ สพฉ. ติดแถบสะท้อนแสงด้านข้างรถตลอดแนว ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปสังเกตุเห็นรถพยาบาลในลักษณะดังกล่าวและกำลังเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินควรหลีกทางให้ เนื่องจากบนรถคันดังกล่าวมีผู้ป่วยฉุกเฉินหรือกำลังเร่งไปรับผู้ป่วยฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตามสำหรับการทำงานของรถพยาบาลฉุกเฉินเป็นไปตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการจราจรทางบกมาตรา 75 ซึ่งในขณะที่ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้ ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หยุดรถหรือจอดรถ ในที่ห้ามจอดรถ ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุดแต่ต้อง ลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะขับรถไปปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 75 ก็ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณีแล้ว ผู้ขับขี่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทได้ด้วยเช่นกัน