เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรี คัดค้านกรมทรัพยากรธรณี ‘ปลุกผี’ เหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสีในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ้างอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ ศึกษาและผลักดันโดยไม่ใส่ใจสภาพแวดล้อมและมติหน่วยงานท้องถิ่นที่ให้ปิดเหมืองแร่รอบทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งหมด
ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน พุธที่ 24 กรกฎาคม 2556 เวลา 10.00-12.00 น. เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับชาวบ้านคลิตี้ จัดแถลงข่าวคัดค้านแนวนโยบายการทำเหมืองแร่โดยรอบเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรหรือในเขตอำเภอทองผาภูมิทั้งหมด ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีเร่งโครงการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้นเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว สังกะสี) บริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี คาดหวังเปิดเหมืองแร่ตะกั่ว อย่างน้อย 3 เหมือง ได้แก่ เหมืองแร่เค็มโก้ เหมืองแร่บ่อใหญ่และเหมืองแร่เกริงกะเวีย โดยจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดยหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ศึกษาและผลักดัน
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงศึกษาและพัฒนา กล่าวถึงความเป็นมาของการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกว่า มีความเป็นมาอย่างยาวนาน พื้นที่ในอำเภอทองผาภูมิเป็นแหล่งที่มีแร่ตะกั่วมากเคยมีการทำแร่ตะกั่วหลายแห่งแต่ตะกั่วเป็นแร่ที่เป็นพิษต่อร่างกายคนซึ่งจะไปจับตามข้อกระดูกและทำให้ร่างกายอ่อนแรงแต่กรมทรัพยากรธรณีกลับเร่งเปิดเหมืองแร่ตะกั่วและสังกะสี ด้วยเหตุผลอะไร เขาทิ้งคำถาม ทั้งที่มติคณะกรรมการแห่งชาติ คุ้มครองมรดกโลกและอีกหลายหน่วยงานย้ำชัดเจนว่า บริเวณรอบเขตทุ่งใหญ่ฯ จะต้องไม่มีเหมืองแร่แต่จำเป็นต้องฟื้นฟูและดูแลสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่ได้รับการขนานนามว่า ปอดของโลก เรากำลังขุดเอาสารพิษซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน นอกจากนี้ ยังสร้างสารพิษใหม่ให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชน กระบวนการทำแร่ทำให้เกิดพิษ เช่น ผงฝุ่น น้ำเสีย ดิน ปนเปื้อนโลหะหนัก การทำเหมืองก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งพืชและสัตว์น้ำซึ่งส่งผลกระทบถึงชุมชนโดยไม่มีกระบวนการป้องกัน เยียวยาหรือรักษาชาวบ้าน แม้แต่เพียงสักครั้งเดียว ไม่มีกระบวนการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ขณะที่ภาครัฐอ้างเรื่องรายได้แต่ปรากฏว่ากรณีคลิตี้ไม่มีการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับหน่วยงานรัฐและหน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อเอาผิดกับบริษัทที่ก่อมลพิษ หากเกิดการทำเหมืองแร่โดยรอบพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรจะส่งผลต่อสถานะมรดกโลกของทุ่งใหญ่นเรศวร
นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจนบุรี กล่าวว่า การทำเหมืองแร่ก่อผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงและไม่มีกระบวนการใด แก้ไขปัญหามลภาวะอันเกิดจากการทำเหมืองได้ กรณีคลิตี้เป็นตัวอย่างอันดีที่รัฐควรจะเรียนรู้เพราะนอกจากก่อผลต่อสิ่งแวดล้อมยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนด้วย หากมีการเปิดเหมืองในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิจะเกิดการปนเปื้อนและไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลองส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าว
นาย สมพงษ์ ทองผาไฉไล ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เล่าว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านคลิตี้ไม่เคยรับรู้ถึงผลกระทบอันเกิดจากแร่ตะกั่วจนผู้คนเริ่มเจ็บป่วยวัวควายเริ่มล้มตายและหน่วยงานท้องถิ่นนำป้ายมาติดให้ชาวบ้านงดใช้น้ำและจับสัตว์น้ำ จนกระทั่งเมื่อได้ตรวจสุขภาพพบสารตะกั่วในร่างกาย เขากล่าวต่อไปว่า ชนกะเหรี่ยงซื่อใสและรักความสงบแต่เมื่อขาดความรู้ทำให้ไม่เท่าทันต่อผลอันเกิดมาจากนโยบายที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน สิ่งเดียวที่ชาวบ้านต้องการ คือ ใช้น้ำและกินปลาได้เหมือนเดิม ขอให้ลำห้วยกลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนจะมีเหมือง
นายหฤทัย คงควร ชาวทองผาภูมิ ซึ่งได้เข้าร่วมงานเสวนาได้กล่าวแสดงการคัดค้านการเร่งเปิดเหมืองของกรมทรัพยากรธรณี ในพื้นที่ โดยเขาให้เหตุผลว่ารายงานการศึกษาไม่มีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบอันเกิดจากการทำเหมืองซึ่งทำให้ประชาชนชาวทองผาภูมิต้องออกมาคัดค้านและจำเป็นต้องยุติการทำเหมืองตะกั่วอย่างแน่นอน