สภาองค์กรสิทธิแรงงานเผยผลวิจัยเปรียบเทียบค่าจ้างที่แท้จริงคนงานภาคสิ่งทอปี ค.ศ. 2001 เทียบกับปี ค.ศ.2011 พบหลายประเทศลดลง
23 ก.ค. 56 - เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาสภาองค์กรสิทธิแรงงาน (THE WORKER RIGHTS CONSORTIUM - WRC) ได้ออกรายงาน Global Wage Trends for Apparel Workers, 2001–2011โดยระบุว่ารายงานฉบับนี้ทำการศึกษาค่าจ้างที่แท้จริงในอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มสิ่งทอที่สำคัญมายังสหรัฐอเมริกา 15 จาก 21 ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ
ผลการศึกษาพบว่าค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) [1]ของประเทศผู้ส่งออกมายังสหรัฐอเมริกาหลายประเทศในปี ค.ศ. 2011 เปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2001 พบว่าประเทศที่ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงได้แก่ บังคลาเทศ, กัมพูชา, โดมินิกัน, เอล ซัลวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, เม็กซิโก, ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนประเทศที่มีค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นได้แก่ จีน, เฮติ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เปรู และเวียดนาม (ดูสัดส่วนตามตาราง)
ทั้งนี้รายงานของระบุว่าถึงแม้จะมีการขยายการจ้างงานภาคสิ่งทอเพิ่มมากขึ้น แต่สภาพความเป็นอยู่รวมถึงสภาพการจ้างงานในหลายประเทศก็ไม่ดีขึ้นนัก กอปรกับค่าครองชีพต่างๆ ที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพของคนงานอีกด้วย
อนึ่งสภาองค์กรสิทธิแรงงาน (THE WORKER RIGHTS CONSORTIUM - WRC) เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบด้านสิทธิแรงงาน โดยการประเมินจากสภาพการทำงานในโรงงานทั่วโลก วัตถุประสงค์ของเราคือต่อต้านโรงงานนรกและปกป้องสิทธิของคนงานตัดเย็บและผลิตสินค้าอื่นๆ ที่ขายในมหาวิทยาลัย WRC ปฏิบัติการตรวจสอบอย่างเจาะลึกโดยอิสระ และเสนอรายงานผลการตรวจสอบ โรงงานที่ผลิตสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาสู่สาธารณะและช่วยเหลือคนงานมิให้ถูกละเมิด และช่วยปกป้องสิทธิในสถานที่ทำงาน WRC มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 175 แห่งเป็นสมาชิก โดยตระหนักถึงในเรื่องการปฏิบัติต่อคนงานของโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย
หมายเหตุ
[1] ค่าจ้าง คือ ค่าที่จ่ายให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งค่าจ้างที่ได้รับจึงเป็นที่มาของรายได้ และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประชาชาติ ค่าจ้างแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน (Money Wage) คือ ค่าจ้างที่ได้รับจากนายจ้างที่จ่ายให้อาจเป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน 2. ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) คือ การนำค่าจ้างที่เป็นตัวจริงลบด้วยอัตราเงินเฟ้อต่อปีซึ่งอัตราเงินเฟ้อสามารถคำนวณได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคการกำหนดอัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน คือ ถ้าอุปสงค์ของแรงงานมีมาก ความต้องการจ้างแรงงานมาก อัตราค่าจ้างจะสูงขึ้น แต่ถ้าอุปทานของแรงงานมีมาก จะทำให้ค่าจ้างลดลง