การ์เมนต์เหนืออ่วมพิษต้นทุนพุ่งแห่ย้ายฐานซบกัมพูชา
นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนเฟ็ดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ"ว่า การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท รวมถึงต้นทุนการผลิตทั้งระบบที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ-ตัดเย็บเสื้อ ผ้าเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวและเตรียมแผนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อน บ้าน เพื่อพึ่งพาแรงงานที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า
นอกจากนี้ ล่าสุดกลุ่มบริษัทที.เค. การ์เม้นท์ ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เข้าไปลงทุนเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมในประเทศกัมพูชา เพื่อรองรับธุรกิจเอสเอ็มอีจากประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ราวปี 2557 โดยมีกลุ่มการ์เมนต์และรองเท้าที่สนใจจะย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชาประมาณ 20 ราย
"เรามีแผนจะย้ายไปเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนในฝั่งกัมพูชา หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะย้ายเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวปลายปี 2557 เรามีต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี เมื่อย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชาต้นทุนจะลดเหลือเพียง 5 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ค่าแรงงานมีต้นทุนอยู่ราว 26 ล้านบาทต่อปี หากย้ายฐานไปอาศัยแรงงานกัมพูชาต้นทุนจะอยู่ที่ 8 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น"
นาย วีระยุทธกล่าวว่า ตอนนี้บริษัทได้ลดพนักงานแผนกตัดเย็บลงไปจำนวนหนึ่ง จากเดิมมี 145 คน เหลือ 133 คน และเตรียมจะลดจำนวนพนักงานอีกในช่วงหลังเดือนกันยายน เพราะหลังจากที่บริษัทได้ปรับราคาสินค้าใหม่ตามต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำเข้าจากเยอรมนีที่ค้าขายกันมานานปฏิเสธที่ จะสั่งซื้อสินค้าในปีนี้ และหันไปสั่งซื้อสินค้าจากจีนที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าแทน
"เมื่อปี 2554 เรามีลูกค้าต่างประเทศ 5 ราย แต่หลังจากมีการปรับค่าแรงงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ลูกค้าได้หยุดการสั่งซื้อไปถึง 4 ราย เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น และปีนี้เหลือเพียง 1 รายเท่านั้น"
ขณะนี้นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.เค.การ์เม้นท์ จำกัด ผู้รับจ้างผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดังของต่างประเทศ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ"ว่า ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ บนเนื้อที่ 350 ไร่ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ศรีโสภณ อินดัสเทรี่ยล พาร์คจำกัด ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย ภาคตะวันตกของประเทศกัมพูชา ซึ่งจะสามารถรองรับโรงงานได้ 30 แห่ง
ขณะ นี้ก่อสร้างไปแล้ว 30-40% มียอดจอง 10% ระยะเวลาเช่า 40 ปี ราคา 1,050-1,350 บาท/ตารางวา กำหนดแล้วเสร็จกลางปี 2557 ขณะนี้มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยเข้าไปจองแล้ว 3 ราย ที่เหลือเป็นโรงงานจากญี่ปุ่นและยุโรป โดยกฎหมายการลงทุนกัมพูชาอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้น 49% คาดว่าใน ช่วงต้นปี 2558 จะมีโรงงานจากไทยย้ายหนีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าแรง ไปเช่าพื้นที่ตั้งโรงงานถึง 80% โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง หากการจองเต็ม 100% ก็ยังสามารถขยายพื้นที่ในนิคมได้อีก 500 ไร่ หรือสามารถรองรับโรงงานเพิ่มอีก 40 แห่ง
"ตอนนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ อำนวยความสะดวกให้นักลงทุน เช่น การสร้างถนนใหม่ ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า เข้าถึงนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งได้เตรียมแรงงานไว้รองรับถึง 2 แสนคน นอกจากนี้ จากการทยอยปรับราคาของผู้ประกอบการไทยจากผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะทำให้บริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ดังจากยุโรปและอเมริกาทยอยลดการจ้างบริษัทในไทย ผลิตสินค้าลง และหันไปจ้างผู้ผลิตในเวียดนามและอินเดียที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทยแทน
นาย ทวีกิจกล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงงานผลิตเสื้อผ้าของ ที.เค.การ์เม้นท์ในจังหวัดตาก จะยังคงดำเนินกิจการต่อไป แต่จะไม่มีการลงทุนเพิ่ม และจะเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนใหม่ที่กัมพูชามากกว่า เพราะค่าแรงเพียง 70-80 บาท/วัน และแรงงานหาง่าย
ด้านนายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐบาลประกาศนโยบายค่าแรง 300 บาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงขณะนี้มีโรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นในจังหวัดตากได้รับผลกระทบปิดกิจการ ไปแล้ว 14 แห่ง แบ่งเป็นแม่สอด 12 แห่ง อำเภอเมือง 2 แห่ง
ปัจจุบัน จังหวัดตากมีโรงงานอุตสาหกรรม 658 แห่ง เม็ดเงินลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ อ.แม่สอด 353 แห่ง อ.เมือง 144 แห่ง อ.บ้านตาก 30 แห่ง อ.วังเจ้า 39 แห่ง อ.พบพระ 26 แห่ง อ.แม่ระมาด 21 แห่ง อ.ท่าสองยาง 18 แห่ง อ.สามเงา 17 แห่ง และ อ.อุ้มผาง 10 แห่ง มีแรงงานกว่า 5.4 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานเข้มข้น และมีโอกาสปิดกิจการสูงจากการได้รับผลกระทบนโยบายค่าแรง 300 บาท
(ประชาชาติธุรกิจ, 16-7-2556)
จัดหางานลำปางเตือนเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน-ฟินแลนด์
นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางานจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูกาลจัดเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ และในแต่ละปีมักจะมีคนหางานถูกหลอกลวงจากสายนายหน้าจัดหางานให้เดินทางไป เก็บผลไม้ป่า กรมการจัดหางานจึงได้กำหนดมาตรการในการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน มี 2 วิธีคือ การเดินทางโดยนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ซึ่งการเดินทางไปทำงานในลักษณะนี้คนงานไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาล สวีเดน และนายจ้างจะต้องกำหนดรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 18,975 โครนาสวีเดน หรือประมาณ 85,388 บาท ไว้ในสัญญาจ้าง รวมทั้งต้องประกันรายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า จำนวนเดือนละ 85,000 บาท เมื่อลูกจ้างครบสัญญาจ้าง
อีกวิธีหนึ่งคือ การแจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานโดยตรง และสวีเดน ซึ่งคนหางานต้องรับภาระเสียภาษีให้กับรัฐบาลสวีเดนร้อยละ 25 ของรายได้ และนายจ้างต้องเสียภาษีประกันสังคม ร้อยละ 32 ส่วนการเดินทางไปเก็บผลไม้ในประเทศฟินแลนด์ จะใช้วิธีการแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเองวิธีเดียว โดยต้องมีหนังสือเชิญจากบริษัทที่รับซื้อผลไม้ในต่างประเทศ และใช้วีซ่าเชงเกนในการแจ้งการเดินทางโดยคนหางานไม่ต้องเสียภาษีใดๆ
จัดหางานจังหวัดลำปางยังกล่าวต่อไปอีกว่า การเก็บผลไม้ป่าต้องเสี่ยงกับปัญหาสภาพอากาศในแต่ละปีซึ่งไม่แน่นอนส่งผลต่อ ปริมาณผลไม้ป่าที่อาจมีน้อยจนไม่สามารถเก็บมาขายได้ตามจำนวนที่ต้องการ นอกจากนี้ การเก็บผลไม้ป่ายังเป็นงานที่หนัก เนื่องจากต้องเก็บผลไม้ป่าในสภาพอากาศที่หนาวเย็นท่ามกลางหิมะ สภาพพื้นที่ลาดชันเป็นภูเขา อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นสาเหตุให้ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประเทศสวีเดนและ ฟินแลนด์
สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางจึงขอแจ้งเตือนคนที่จะประสงค์เดินทางไป เก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ ได้ทราบถึงหลักเกณฑ์และควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงาน เพราะทุกปีที่ผ่านมามักจะมีคนหางานมาร้องทุกข์ว่าถูกกลุ่มบุคคลชักชวนให้ เดินทางไปทำงานและเรียกรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานเป็นจำนวน เงินค่อนข้างสูง จากนั้นก็ให้คนหางานแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง ซึ่งการเดินทางไปทำงานในลักษณะนี้คนหางานต้องรับผิดชอบตนเอง หากพบเห็นผู้มีพฤติกรรมหลอกหลวงคนหางาน สามารถแจ้งเบาะแสหรือสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศ ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปาง หมายเลขโทรศัพท์ 054-265-051-2 ในวันและเวลาราชการ
(บ้านเมือง, 16-7-2556)
“ร.ต.อ.เฉลิม” ย้ำคนไทยจะต้องมีงานทำ-รับปากแก้ปัญหาค้ามนุษย์
กระทรวงแรงงาน 16 ก.ค.-“ร.ต.อ.เฉลิม” ย้ำคนไทยจะต้องมีงานทำ รับปากแก้ปัญหาจัดหางาน และการค้ามนุษย์ พร้อมปัดกรณีถูกกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทยจับตาการทำงาน หากผลงานไม่เข้าตาเตรียมประท้วงขับไล่ เชื่อเป็นการสร้างสีสัน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางมอบนโยบายที่กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรับฟังภารกิจผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์การทำงาน โดยพอใจการวางแผน และการเตรียมงานของกรมการจัดหางาน พร้อมยืนยันว่า จะหางานให้คนไทยทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะไม่มีการปิดกั้นการทำงานของแรงงานจากต่างประเทศ แต่แรงงานที่มาจะต้องผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ จะหมดเขตการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ที่มาลงทะเบียน 600,000 คน แต่สามารถจัดการเอกสารได้เพียง 300,000 คน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งจะขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในแรงงานกลุ่มนี้อยู่ในประเทศได้อีก 1 ปี เพื่อรอการพิสูจน์เอกสาร ส่วนแรงงานผิดกฎหมายจากประเทศลาว และกัมพูชา จะเข้าพูดคุยกับสถานทูตเพื่อทำความเข้าใจ และขอให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของแรงงาน ส่วนคนไทยไปทำงานมาเลเซีย ที่ร้านอาหารต้มยำกุ้ง มากถึง 1,500 แห่ง มีแรงงานไทย 150,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และสงขลา ขณะนี้พบว่าทางการมาเลเซีย เข้มงวด หากไม่มีใบอนุญาตการทำงานจะให้กลับประเทศ เตรียมเดินทางไปมาเลเซีย เพื่อพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เนื่องจากมีราคาแพงถึง 20,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพแม่บ้านไทย จ่ายเพียง 7,000 บาท จึงอยากให้มีค่าธรรมเนียมที่ราคาใกล้เคียงกัน
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในการแก้ไขการค้ามนุษย์ การข่มเหงแรงงานต่างด้าว จะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีกระแสใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ระนอง สุราษฎร์ธานี เพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบแก้ไข พร้อมกล่าวว่าไม่กังวลกับกรณีที่กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกาศจับตาดูผลงานตน 3 เดือน หากผลงานไม่เข้าตา รวมกลุ่มประท้วงขับไล่ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการออกมาให้ข่าวเพื่อสร้างสีสัน ส่วนปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2557 ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถูกตัดลดลง ทำให้แรงงาน ได้รับการบริการไม่ทั่วถึง ส่วนปัญหาความก้าวหน้าศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ไม่ได้เป็นหน่วยงานถูกต้องตามกฎกระทรวง ทำให้ขาดขวัญกำลังใจ และกฎหมายคุ้มครองการประกอบการอาชีพที่เป็นอันตรายจากการทำงาน ซึ่งรับปากจะจะพัฒนาแก้ไขให้ดีที่สุด
(สำนักข่าวไทย, 16-7-2556)
นำร่องนัดพบแรงงานคนพิการ เตรียมขยายผลช่วยคนตกงานทั่วประเทศ
กรมการจัดหางาน จัดงานนัดพบแรงงานคนพิการครั้งยิ่งใหญ่ เดือนสิงหาคมนี้เผยเป็นตัวกลางประสานระหว่าง พม.ที่จะพาคนพิการมาสมัครงาน กับเซ็นทรัลเวิล์ด ที่ประกาศรับสมัครคนพิการมาทำงาน 140 อัตราเชิญชวนคนพิการมาสมัครงาน โดยจะประกาศผลทันทีหลังการสัมภาษณ์ ระบุชัดหากได้ผลดีจะขยายไปจัดร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ที่มีนิคมอุตสาหกรรม ทั่วประเทศ
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ กรมการจัดหางานจะจัดงานนัดพบแรงงานคนพิการร่วมกับบริษัทในเครือเซ็นทรัล ที่ห้างเซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพ ซึ่งผู้พิการสามารถเดินทางมาได้หลายวิธีทั้งรถประจำทาง รถแท๊กซี่ รถไฟฟ้าบีทีเอส
ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมกรมการจัดหางานได้ประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ (พม.) เพื่อให้จัดหาคนพิการเข้ามาสมัครงานในวันนัดพบแรงงานดังกล่าว โดยในส่วนของเครือเซ็นทรัล ได้จัดตำแหน่งงานว่างของบริษัทในเครือทั่วประเทศไว้จำนวน 142 อัตรา โดยจะรับสมัคร สัมภาษณ์ และประกาศผลการคัดเลือกในวันนั้น?โดยไม่ต้องกลับไปรอโดยไม่รู้ว่าจะได้งาน หรือไม่
นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ เพื่อจะได้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ที่สำคัญคือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเมื่อคนพิการได้โอกาสในการทำงาน เขาก็จะสามารถยืนได้ด้วยตนเอง เกิดความภาคภูมิใจที่สามารถเลี้ยงตนเอง และดูแลครอบครัวได้ โดยไม่ให้คนอื่นรู้สึกว่าพวกเขาเป็นภาระของสังคม แต่พวกเขาคือคนที่มีศักยภาพ เพียงแต่อาจจะขาดโอกาสในการหางานทำ
ทั้งนี้ในฝ่ายของนายจ้างหลายๆ แห่งเองก็เคยแจ้งมาว่าประสบปัญหาการหาคนพิการเข้ามาทำงาน คือประกาศแล้วแต่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งอาจจะเนื่องจากต่างฝ่ายต่างหากันไม่เจอ ดังนั้นกรมการจัดหางานจึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดนัดพบแรงงานคนพิการ เพื่อให้นายจ้าง และคนพิการได้มาเจอกัน
นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ และหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการจะต้องนำส่งเข้ากองทุน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2554 กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปต้องรับลูกจ้างที่เป็นคนพิการเข้าทำงาน 1 คน มิฉะนั้นจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามอัตราส่วนที่กำหนด คืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คูณจำนวน 365 วัน จะเท่ากับจำนวนเงินที่สถานประกอบกิจการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนในปีนั้น ต่อคนพิการ 1 คน
ทั้งนี้ตำแหน่งงานของเครือเซ็นทรัล จะมีหลากหลายมาก ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ เช่นเจ้าหน้าที่พัสดุ แคชเชียร์ รับโทรศัพท์ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ซ่อม ซึ่งบางทีคนทั่วไปอาจจะคิดว่าคนพิการทำไม่ได้ แต่จริงๆแล้วเขาสามารถทำได้ และบางคนอาจจะมีศักยภาพสูงกว่าคนที่มีร่างกายปกติ
โดยงานบางประเภทคนพิการสามารถทำได้ เช่นพนักงานรับโทรศัพท์นั้น ผู้พิการทางสายตา สามารถทำได้ ซึ่งพม.จะมีทะเบียน และรายชื่อคนพิการบางส่วนแล้วว่า รายไหนต้องการทำงาน และสามารถทำงานตำแหน่งไหนได้ ตลอดจนโซนที่พักกับโซนที่ทำงานที่ใกล้เคียงกันแต่ก็ขอเชิญชวนคนพิการเตรียม ตัวเข้าร่วมงานนัดพบแรงงานในครั้งนี้โดยจะมีการประชุม และกำหนดวันจัดงานที่แน่นอนอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
“กรมการจัดหางานขอเชิญชวนนายจ้าง และเจ้าของสถานประกอบกิจการทุกแห่งด้วยว่า การเปิดโอกาสรับคนพิการเข้าทำงานตามกฎกระทรวงนั้น จะช่วยให้คนพิการได้มีงานทำ มีรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้พวกเขามีความภูมิใจในตนเอง ที่เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เป็นการช่วยส่งเสริมคนพิการให้มีงานทำได้ตรงกว่าการจ่ายเงินสมทบเข้ากอง ทุน??ขณะที่นายจ้างเองก็ได้ลูกจ้างเข้ามาทำงาน” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
ทั้งนี้หากโครงการนำร่อง จัดนัดพบแรงงานคนพิการร่วมกับเครือเซ็นทรัลประสบความสำเร็จ ก็จะขยายไปยังภาคเอกชนอื่น ๆ ในภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีความสนใจให้กรมการจัดหางานเข้ามาช่วยจัดนัดพบแรงงาน คนพิการในลักษณะนี้ ต่อไป
(แนวหน้า, 17-7-2556)
"ร.ต.อ.เฉลิม"ให้นโยบาย กสร.จังหวัดถกกันเดือนละครั้ง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) โดยมี นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดี กสร. พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการบรรยายสรุปภารกิจและการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งมีภารกิจหลักใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการคุ้มครองแรงงาน ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมการทำงาน ด้านแรงงานสัมพันธ์ ด้านสวัสดิการแรงงาน และด้านมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งการทำงานจะสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของ ร.ต.อ.เฉลิม ทั้งการป้องกันแก้ไขการค้ามนุษย์และยาเสพติดในสถานประกอบกิจการ โดยเน้นกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จำนวน 91,017 แห่ง ลูกจ้างกว่า 6,615,809 คน
ทั้งนี้ เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม รับฟังและสอบถามการดำเนินงานต่าง ๆ ได้แนะให้ กสร.ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ประชุมกันเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับทราบปัญหาในแต่ละภาคส่วน
(สำนักข่าวไทย, 17-7-2556)
“เฉลิม” คุยปลัดแรงงาน ปัดไม่นั่ง ปธ.บอร์ด สปส.
ที่กระทรวงแรงงาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวถึงการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ในวาระที่ 2 ชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ได้มีการแปรญัตติร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขที่ให้รมว.แรงงาน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม จากที่กฎหมายเดิมกำหนดให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม และคาดว่าจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 ในเร็วๆนี้ ทำให้ผู้ใช้แรงงานเกรงว่าฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแทรกแซงการบริหารกองทุนประกัน สังคม และเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ว่า ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆก่อน เรื่องนี้อย่าเพิ่งเอาเป็นเอาตาย ไม่มีใครกล้าทำผิด ตนมาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่กล้าทำผิด
“ผมขอหารือเรื่องนี้กับนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ก่อนเพื่อสอบถามรายละเอียด และจะพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม นิสัยของผมไม่อยากเข้าไปมีอำนาจในทางลึก เพราะผมเห็นว่าคนที่มานั่งเป็นปลัดกระทรวงได้ ไม่ใช่ธรรมดา รับราชการมากว่าจะเติบโตมาได้ขนาดนี้ ผมเคยเป็นข้าราชการมาก่อนเข้าใจดี ส่วนนักการเมืองเหมือนละครเรื่องอีสา บินมาก็บินไป เราก็ต้องให้เกียรติข้าราชการ”รมว.แรงงาน กล่าว
(เดลินิวส์, 17-7-2556)
แรงงานไทยนำเงินเข้าประเทศ 3.5 หมื่นล้าน
ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้ให้กับประเทศแล้วกว่า 3.57 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เดือน ม.ค. 7,379 ล้านบาท ก.พ. 7,847 ล้านบาท มี.ค. 7,691 ล้านบาท เม.ย. 6,247 ล้านบาท และ พ.ค. 6,625 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า จำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศ ณ เดือน พ.ค. มีทั้งสิ้น 4.39 แสนคน ประกอบด้วย ซาอุดิอาระเบีย(ริยาด) 1.52 หมื่นคน สหรัฐอาหรับฯ (อาบูดาบี) 3 หมื่นคน ญี่ปุ่น 1.98 หมื่นคน ฮ่องกง 3,972 คน ไต้หวัน (ไทเป) 4.36 หมื่นคน ไต้หวัน (เกาสง) 1.89 หมื่นคน สิงคโปร์ 4.15 หมื่นคน บรูไน 3,237 คน มาเลเซีย 2.04 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานผิดกฎหมายถึง 1.95 แสนคน อิสราเอล 2.35 หมื่นคน เกาหลี 1.92 หมื่นคน เยอรมันนี 1.35 หมื่นคน และลิเบีย 2,427 คน
นอกจากนี้ ข้อมูลการร้องทุกข์ของแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ เดือน พ.ค. พบว่ามีการร้องเรียนกว่า 1 หมื่นราย แบ่งเป็นกรณีร้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์ 5,355 ราย และเกี่ยวกับเงินสิทธิประโยชน์ 4,820 ราย รวมเป็นยอดเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยมีแรงงานในประเทศอิสราเอลร้องเรียนสูงสุด 25 ล้านบาท รองลงมาคือสิคโปร์ 22 ล้านบาท เกาหลีและไต้หวัน (เกาสง) อีกแห่งละ 16 ล้านบาท
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน มอบนโยบายสำนักงานประกันสังคม (สปส.) วันที่ 18 ก.ค. โดยกำชับ สปส.ปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ ใช้แรงงาน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล รวมทั้งต้องมีการรวบรวมข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างชัดเจน ส่งเสริมความเข้าใจแรงงานนอกระบบให้เห็นประโยชน์ในการประกันตนแล้วเข้าสู่ ประกันสังคมมาตรา 40 ให้มากขึ้น
ขณะที่ การร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่ในการพิจารณาในวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร และมีการแก้กฎหมายให้รัฐมนตรีแรงงาน นั่งเป็นประธานคณะกรรมการสปส. จากเดิมที่เป็นปลัดกระทรวงนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ระบุ ปลัดกระทรวงแรงงานเหมาะสมแล้วที่จะทำหน้าที่นี้ เพราะหากนักการเมืองมานั่งเป็นประธาน ประชาชนบางส่วนอาจมองว่าเข้ามาหาผลประโยชน์
(โพสต์ทูเดย์, 18-7-2556)
'เฉลิม'กำชับ 'สปส.'เพิ่มสิทธิประโยชน์แรงงาน
18 ก.ค.56 - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวในการรับฟังภารกิจและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานประกัน สังคม (สปส.) ที่สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรีว่า กรณีที่มีการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 ชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้มีการแปรญัตติร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขให้รมว.แรงงานดำรงตำแหน่งเป็น ประธานคณะกรรมการประกันสังคมจากที่กฎหมายเดิมกำหนดให้ปลัดกระทรวงแรงงานนั่ง เป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคมและคาดว่าจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 ในเดือนส.ค.นี้นั้นว่า เจตนาของตนไม่มีความคิดที่จะไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ สปส. เพราะไม่อยากให้มีข้อครหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการทำงานก็ซ้ำซ้อน เนื่องจากรัฐมนตรีทั้งพิจารณาเรื่องและเซ็นอนุมัติเป็นการทำงานถึง 2 ครั้ง รัฐมนตรีควรดูนโยบายภาพรวมของ สปส. งานที่ลงลึกในทางปฏิบัติควรให้ปลัดกระทรวงแรงงานทำหน้าที่จะดีที่สุดเพราะมี ความรู้ความเข้าใจงานประกันสังคมเป็นอย่างดี จึงเห็นว่าปลัดกระทรวงแรงงานนั่งเป็นประธานบอร์ดสปส.นั้นเหมาะสมที่สุดแล้ว
“ได้ให้นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานประสานไปยังกมธ.วิสามัญและสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมที่มีการแปรญัตติให้รมว.แรงงานนั่งเป็น ประธานบอร์ด สปส. เพื่อให้ปรับเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ให้ปลัดกระทรวงแรงงานนั่งเป็นประธานบอร์ดเช่น เดิม แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้จริงๆ ผมจำเป็นต้องไปนั่งเป็นประธานบอร์ดก็ไม่ขัดข้อง แต่คงดูแค่เฉพาะนโยบายภาพรวม ส่วนงานปฏิบัติให้ปลัดกระทรวงแรงงานดูแลไป” รมว.แรงงาน กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ขอให้สปส.ปฎิบัติภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลโดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้แก่ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่แรงงานนอกระบบ เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 มากขึ้น รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับระบบการบริการต้องดำเนินการให้สะดวก รวดเร็วเพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของประกันสังคม หากทำได้ดีจะช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้บริหาร รัฐมนตรีและกระทรวงแรงงานให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
นอกจากนี้ ขอให้สปส.ไปรวบรวมข้อมูลผลงานของสปส.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นรมว.แรงงานเพื่อที่รัฐบาลจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลแถลงผลงานในรอบ 1 ปี รวมทั้งเตรียมความพร้อมแรงงานไทยเพื่อรองรับการประชาคมอาเซียน(เอซี)โดยการ บูรณาการงานร่วมกับอีก 4 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และทำงานตามนโยบายหลัก 3 ข้อของตนเองคือ การไม่ให้มีปัญหากดขี่ผู้ใช้แรงาน การค้ามนุษย์ และยาเสพติดในสถานประกอบการ
(คมชัดลึก, 18-7-2556)
อาชีวะ 3 ชาติไทย-ลาว-เวียดนาม ร่วมสร้างทักษะแรงงานอาเซียน
เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ร่วมคณะไปกับผู้บริหารวิทยาลัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่อยู่บริเวณชายแดนลุ่มน้ำโขง นำโดย ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เดินสายหารือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศึกษาแห่งเมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาและกีฬา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน(สปป.)ลาว เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือจัดการอาชีวศึกษา
ทริปนี้ชาวอาชีวศึกษาไทย ได้เดินทางโดยรถบัสยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง จากไทยผ่านสะพานมิตรภาพ 3 ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย ทางจังหวัดนครพนม กับ แขวงคำม่วน ประเทศลาว และใช้เส้นทางอาร์ 13 ผ่านป่า ลัดเลาะภูเขาที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ มุ่งหน้าสู่เมืองวินห์ บ้านเกิดของลุงโฮจิมินห์ รัฐบุรุษของประเทศเวียดนาม ซึ่งการเดินทางโดยรถบัสนี้ทำให้เราได้เห็นงานก่อสร้างทางที่กำลังขยายตัว บนเส้นทางโครงข่ายคมนาคมที่จะมีบทบาทสำคัญ ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ในอนาคต และยิ่งคุ้มค่า เมื่อผลการหารือเป็นไปอย่างราบรื่น ได้รับการตอบรับที่ดี โดยทั้ง ดร.กาว เวียด ยู๋ง รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศึกษาแห่งเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม และนายหนูพัน อุตสา หัวหน้ากรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาและกีฬาแห่ง สปป.ลาว เห็นพ้องต้องกันว่า ไทย-ลาว-เวียดนาม จะร่วมพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษารองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ตามข้อเสนอของไทย
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ บอกว่า ผลการหารือทั้งที่เวียดนาม และ สปป.ลาว มีความลงตัวใน 3 เรื่อง คือ 1. การแลกเปลี่ยนครู แลกเปลี่ยนนักศึกษา 2 . การร่วมวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และ 3.การทำโครงการผลิตผู้จบอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานใน 3 ประเทศ ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า เราทั้ง 3 ประเทศจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญมาก และส่งผลกระทบกับทุกประเทศ คือ การเคลื่อนย้ายของแรงงานระดับต่าง ๆ ซึ่งทุกประเทศต้องเตรียมรับ โดยเฉพาะทางด้านอาชีวศึกษา และขณะนี้แต่ละประเทศก็เตรียมความพร้อมในกำลังคนของประเทศตนเองอยู่แล้ว แต่การเตรียมความพร้อมในลักษณะ “ทวิภาคี” และ “ไตรภาคี” ด้านอาชีวศึกษายังไม่เกิด ดังนั้นจึงเป็นการริเริ่มใหม่ที่เราจะทำ
“การจัดหลักสูตรอาชีวศึกษา 3 ชาติ หรือ การเรียนการสอนอาชีวศึกษา ร่วม 3 ชาติ มีเป้าหมาย คือ ต้องการผลิตเด็กอาชีวศึกษา ที่มีความสามารถในการทำงานได้ ทั้ง 3 ประเทศ โดยทั้ง 3 ประเทศให้การรับรองวุฒิร่วมกัน เพื่อเป็นที่ยอมรับทั้งด้านวุฒิการศึกษา และมาตรฐานทักษะฝีมือ ซึ่งความจริงแล้วควรเป็นความร่วมมือกันของ 10 ประเทศในอาเซียน แต่นี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและบอกด้วยว่า ในต้นเดือนสิงหาคมนี้เวียดนาม และ ลาวจะมาหารือที่ไทย เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมของทั้ง 3 ประเทศ ในการพิจารณาเลือกสาขาวิชาที่เป็นความต้องการร่วมกันในการผลิตกำลังคน จากนั้นจะมากำหนดสมรรถนะร่วมกันว่าต้องมีสมรรถนะอะไรบ้าง ทำหลักสูตร กำหนดแผนการเรียนการสอนว่าช่วงไหนที่จะเรียนในประเทศตนเอง ช่วงไหนไปเรียนประเทศอื่น ๆ โดยหมุนเวียนเรียนทั้ง 3 ประเทศและไปกันทั้งกลุ่ม ซึ่งเด็ก ๆจะได้เป็นเพื่อนกันในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าจะรับเด็กเข้าโครงการฯในรุ่นแรกได้ประมาณ 20-30 คน โดยเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
ดร.กาว เวียด ยู๋ง บอกว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศึกษาแห่งเมืองวินห์ เดิมเป็นโรงเรียนฝึกคนทำงานด้านเครื่องจักรกล ก่อนเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา ที่ทำหน้าที่ฝึกหัดครูอาชีวศึกษา และมาเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีศึกษาฯ โดยปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งหมด 11,000 คน ในจำนวนนี้เรียนอาชีวศึกษา ประมาณ 3,000 คน ซึ่งในเวียดนามคนเรียนสายอาชีพยังมีน้อย ส่วนใหญ่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยมากกว่า อย่างไรก็ตามไทยมีความพร้อมในเรื่องของสถานประกอบการที่จะรับเด็กเข้าฝึก ปฏิบัติงาน โดยมีรายได้ด้วย ดังนั้นความร่วมมือกับไทย จะเปิดโอกาสให้เด็กเวียดนามได้ไปฝึกงานในสถานประกอบการของไทยมากขึ้น
ขณะที่ นายหนูพัน อุตสา บอกว่า ยินดีที่ได้ร่วมมือกับไทยและเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ สปป.ลาวกำลังอยู่ในระยะปฏิรูปงานอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ โดยจะมีการปฏิรูปหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน รวมถึงขยายสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษา และเพิ่มจำนวนผู้เรียนให้มากขึ้น เพราะขณะนี้เด็กของ สปป.ลาว ก็มีสัดส่วนในการเลือกเรียนสายอาชีพน้อยเช่นกัน
นายคำพูวา สีจันทะวง นักศึกษาชั้น ปวช.2 สาขาไฟฟ้าอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคนิควิชาชีพแขวงคำม่วน สปป.ลาว มองว่า ถ้ามีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอาชีวศึกษาร่วม 3 ชาติขึ้นจริงจะดีมาก ๆ ซึ่งถ้าตนมีโอกาสก็อยากจะเข้าไปทำงานในประเทศไทย เนื่องจากอยู่ใกล้กันเดินทางสะดวก พูดคุยกันก็รู้เรื่อง
การเยือน สปป.ลาว ครั้งนี้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ของไทย กับ ผู้บริหารโรงเรียนเทคนิคและวิชาชีพของ สปป.ลาว ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจับคู่พัฒนา รวม 12 คู่ อาทิ วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วอศ.)เชียงราย คู่กับ วิทยาลัยเทคนิคและวิชาชีพบ่อแก้ว, วิทยาลัยเทคนิค (วท.) เลย และ วท.น่าน คู่กับ โรงเรียนเทคนิควิชาชีพหลวงพระบาง, วอศ.อุดรธานีและวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการนครพนม คู่กับ วิทยาลัยเทคนิคและวิชาชีพคำม่วน เป็นต้น
ทันทีที่หลักสูตรอาชีวะ 3 สัญชาติสำเร็จ จะเป็นจุดกำเนิดของแรงงานฝีมือ ที่มีมาตรฐาน ทักษะ ในแบบฉบับไทย-ลาว-เวียดนาม.
(เดลินิวส์, 18-7-2556)
ผลสำรวจชี้นายจ้างกว่าครึ่งเชื่อลูกจ้าง ประเมินสวัสดิการบริษัทต่ำกว่าจริง
ผลสำรวจจากทาวเวอร์ส วัทสัน (NYSE, NASDAQ : TW) ที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก ทำการสำรวจ Asia-Pacific Employee Benefit Trends ประจำปี 2556 ที่จัดทำ ขึ้นโดยการเก็บข้อมูลจากนายจ้างรวมทั้งสิ้น 1,066 รายทั่วภูมิภาค ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ความเห็นของพนักงานที่มีต่อสวัสดิการไม่ได้ดีขึ้นไปตามระดับค่าใช้จ่ายด้าน สวัสดิการที่เพิ่มขึ้นของทางบริษัท
หมายความว่าเจ้าของกิจการอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในจุดนี้ได้ด้วยการลงทุนเพิ่มเติม
โดยเรื่องนี้ "แมทธิว แจ็คสัน"ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาประสิทธิภาพสวัสดิการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่า เราพบนายจ้างหันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านสวัสดิการมากขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถดึงดูดพนักงานใหม่ และรักษาพนักงานเดิมได้ดีขึ้น ปัจจุบันนายจ้างกว่า 81% ทำการวางกลยุทธ์ด้านสวัสดิการ เพื่อช่วยชี้นำการตัดสินใจในด้านดังกล่าว ขณะที่ในปี 2552 นั้นมีเพียง 66% เท่านั้น
"อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของเราทำให้เกิดข้อสงสัยในด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูง และยังมีองค์กรต่าง ๆ เข้าแย่งชิงคนมีความสามารถกันทั่วทั้งภูมิภาค"
นอกจากนั้น "แจ็คสัน"ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เราพบนายจ้างบางรายเลือกที่จะแก้ปัญหาเรื่องมุมมองด้านคุณค่าของระบบ สวัสดิการในหมู่พนักงานโดยการเพิ่มสวัสดิการให้มากขึ้น แต่วิธีนี้อาจทำให้ปัญหาแย่ลงแทนที่จะดีขึ้น เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันมักจะมีความหลากหลายด้านกำลังคนสูงขึ้นอย่างต่อ เนื่อง และการสร้างระบบสวัสดิการเพียงระบบเดียวสำหรับพนักงานทุกคนมักจะไม่ใช่ นโยบายที่ดีที่สุด
"นายจ้างที่แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ อาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจากการทบทวนและปรับปรุงระบบสวัสดิการของเดิม พร้อมกับเปิดโอกาสให้พนักงานมีทางเลือกในด้านสวัสดิการ แทนที่จะไปเพิ่มสวัสดิการให้กับทุกคน"
ผลสำรวจจากทาวเวอร์ส วัทสันยังพบข้อมูลอีกว่า จำนวนนายจ้างที่มีแผนจะปรับให้ระบบสวัสดิการของตนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั้น จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีหน้า โดยนายจ้างจำนวน 32% จะเพิ่มความยืดหยุ่นในแผนสวัสดิการ (เทียบกับ 15% ในปีนี้) และอีก 23% จะเริ่มนำเอาแผนสวัสดิการแบบยืดหยุ่นมาใช้งาน (เทียบกับ 12% ในปีนี้)
ส่วนในด้านการสื่อสารเกี่ยวกับสวัสดิการพบว่า นายจ้างเกือบ 1 ใน 3 (31%) ยังไม่มีการสื่อสารกับพนักงานในเรื่องของสวัสดิการ ซึ่งแม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่สูง แต่ยังน้อยกว่าสถิติ 55% จากการสำรวจในปี 2552
นอกจากนั้นผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการสื่อ สารที่มีประสิทธิภาพ และมุมมองด้านคุณค่าของสวัสดิการที่ได้รับ โดยบริษัทที่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีพนักงานที่เห็นคุณค่า ของสวัสดิการมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
โดยเรื่องนี้ "คริส เมย์ส"ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิการประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ข้อมูลตรงนี้มีความหมายมากทีเดียวสำหรับประเทศไทย เมื่อมองจากในบางด้าน นายจ้างในประเทศไทย
ถือว่ามีศักยภาพด้านสวัสดิการระดับเดียวกันกับชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ อย่างเช่นการที่นายจ้างเกือบ 40% มีการลงทุนด้านสวัสดิการสูงกว่า 20% ของค่าจ้างทั้งหมด
"ขณะเดียวกันเรากลับพบว่า นายจ้างกว่า 28% ไม่แน่ใจว่าพวกเขาใช้จ่ายในด้านนี้ไปทั้งหมดเท่าไร ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อย และเราอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าบริษัทไม่รู้ว่าพวกเขามีค่าใช้จ่ายเท่าไร แล้วเราจะไปคาดหวังให้พนักงานมีความเข้าใจในด้านนี้ได้อย่างไร"
"ผลสำรวจของทาวเวอร์ส วัทสัน ในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่มีวิสัยทัศน์ในประเทศไทยกำลังพัฒนาศักยภาพด้านสวัสดิการของตนด้วย นวัตกรรม
ใหม่ ๆ การปรับแต่งให้เข้ากับพนักงานแต่ละกลุ่ม และการสื่อสารที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยราว 1 ใน 4 (26%) ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่า องค์กรของตนจะเพิ่ม
ความยืดหยุ่นในระบบสวัสดิการให้แก่พนักงาน เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการในแบบที่เข้ากับวิถีชีวิตของ ตน และมีมูลค่าสูงในสายตาของพวกเขา"
ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจยังแสดงข้อมูลของบริษัทหลายแห่งออกมาส่งเสริมประเด็นด้านสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของพนักงาน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามหลายรายที่มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการช่วยเหลือพนักงาน เว็บไซต์ข้อมูลด้านสุขภาพ และนโยบายรับรองพนักงานทุพพลภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการดูแลสุขภาพพนักงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มผลผลิต และความมีส่วนร่วมในการทำงานของพนักงาน
เฉพาะประเด็นนี้ "แอนดรูว์ เฮิร์ด"กรรมการผู้จัดการฝ่ายสวัสดิการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อธิบายบอกว่า เพราะนายจ้างทุกคนจะต้องตระหนักถึงความหลากหลายด้านกำลังคนในองค์กร และมองเห็นว่าพนักงานแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกันไป ระบบสวัสดิการแบบยืดหยุ่นถือเป็นคำตอบที่ดีสำหรับปัญหานี้ เพราะพนักงานจะสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ที่ดูน่าสนใจสำหรับพวกเขาได้เอง
"แต่ความยืดหยุ่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภาพรวมเท่านั้น โดยหากขาดความชำนาญด้านการสื่อสารและกลยุทธ์การบริหารงานที่เหมาะสม ความพยายามการวางระบบที่ดีอาจจะเสียเปล่าไปโดยไม่ได้อะไร นายจ้างควรจะพิจารณาระบบสวัสดิการของตนอย่างทั่วถึงด้วยมุมมอง
แบบองค์รวม เพื่อให้การลงทุนด้านสวัสดิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการรับรู้คุณค่าของสวัสดิการในหมู่พนักงานต่อไป"
(ประชาชาติธุรกิจ, 19-7-2556)
ไฟเขียวงบกลาง 169 ล้านสมทบช่วยแรงงานนอกระบบ
ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 56 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 169 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสมทบช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของแรงงานนอกระบบ ที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นเวลา 5 เดือน (พ.ค.-ก.ย.56) ตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอครม.ด้านเศรษฐกิจ ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เสนอ หลังจากงบเดิมที่ได้รับการอนุมัติจากครม.มีจำนวนไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตามหากงบประมาณที่รับจัดสรรครั้งนี้มีไม่เพียงพออีกก็ขอให้ เบิกจ่ายจากงบปี 57 ที่ได้เสนอตั้งงบประมาณให้สำนักงานประกันสังคมไว้รองรับค่าใช้จ่ายในการ บรรเทาภาระของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไว้แล้ว
สำหรับผลการดำเนินงานล่าสุด เมื่อเดือนมี.ค.56 มีผู้ประกันตนแล้ว กว่า 1.37 ล้านคน จากเป้าหมาย 1.4 ล้านคน ในเดือนก.ย.56 หรือคิดเป็น 98.42% ส่วนการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐบาลทั้งทางเลือกที่ 1 คือมีอัตราเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน รัฐบาลช่วยเหลือ 30 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท และทางเลือกที่ 2 มีอัตราเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน รัฐบาลช่วยเหลือ 50 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท ตั้งแต่เดือนก.ย.55-ก.พ.56 รวมระยะเวลา 6 เดือน คิดเป็นเงินทั้งหมด 215 ล้านบาท
(เดลินิวส์, 19-7-2556)