Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ธงชัย วินิจจะกูล: คนเดือนตุลา ปฏิบัติการแห่งความทรงจำ

$
0
0

ธงชัย วินิจจะกูล อภิปรายที่ Book Re:public เรื่องความทรงจำเกี่ยวกับ "เหตุการณ์เดือนตุลา"มีบทบาทในการก่อรูปอัตลักษณ์ของความเป็นคนเดือนตุลาขึ้นมาอย่างไร และอัตลักษณ์ที่ก่อรูปจากความทรงจำเหล่านั้น มีผลต่อปฏิบัติการทางการเมืองอย่างไร

13 ก.ค. 56 ร้าน Book Re: public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “เสวนาว่าด้วยเรื่องคนเดือนตุลา”โดยมีวิทยากรคือ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ดำเนินรายการโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการอภิปรายของประจักษ์ ก้องกีรติ มีการนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในส่วนนี้นำเสนอคำบรรยายของธงชัย วินิจจะกูล ที่ได้กล่าวในหัวข้อ “คนเดือนตุลา ปฏิบัติการแห่งความทรงจำ”โดยธงชัยกล่าวว่าตนเห็นด้วยกับ ประจักษ์ ที่ว่าตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาและจนกระทั่ง 14 ตุลาสำเร็จ มีนัยยะและองค์ประกอบที่เป็นกษัตริย์นิยม (Royalist) อยู่เยอะกว่าที่เราคิด ที่เคยเชื่อกันว่า 14 ตุลาเป็นขบวนการประชาชน เป็นจุดกำเนิดของประชาธิปไตยประชาชน แต่ระยะก่อนการรัฐประหาร 2549 มาจนถึงปัจจุบัน มีนักวิชาการหลายคน รวมทั้งตนด้วย พยายามเสนอว่ามันไม่ใช่อย่างเดียว แต่มันกลับเป็นจุดเปลี่ยนของ Royalist Democracy ด้วย หรืออย่างน้อยเป็นจุดเริ่มของการมีอำนาจนำ

14 ตุลา จึงไม่ใช่จุดกำเนิดของประชาธิปไตยประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นจุดเริ่มของประชาธิปไตยฝ่ายเจ้าด้วย อาจมองว่าสองอย่างนี้ขัดกัน แต่ประวัติศาสตร์ก็ขัดแย้งกันแบบนี้แหละ มันเป็น paradox แต่มันเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งคู่

สิ่งที่มักสอนกันว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเส้นตรงทางเดียว ก็คือแบบนี้ คือในเวลาหนึ่งอาจมีปรากฏการณ์ที่อยู่ควบคู่กันสามสี่ชุด ต่างคลี่คลายกันไป หันโคจรเจอกันบ้าง แยกทางกันบ้าง มีทางของมันไป หลายเหตุการณ์มีสิ่งที่เกิดขึ้นเกินหนึ่งกระแส เป็นไปได้ที่เราไม่เห็น จนกระทั่งเรามองย้อนกลับไป แต่อันตรายของความคิดแบบนี้ก็คือเราอาจเอาความคิดปัจจุบันไปใส่ยัดเหยียดให้กับอดีต ก็จำเป็นต้องระวัง ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้มากว่าหลายอย่างที่เริ่มคลี่คลายมา ณ จุดนั้น เราอาจจะไม่ทันเห็น กระทั่งเวลามันผ่านไป จนด้านนั้นมันพัฒนาก่อตัวขึ้นมาให้เราเห็นอีกครั้งหนึ่ง

ธงชัยกล่าวต่อว่าหัวข้อที่กล่าววันนี้ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับ ‘40 ปี 14 ตุลา’ เลย แต่มาจากการได้อ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่พูดถึง “คนเดือนตุลา” (Octobrists) ทำให้ตนเกิดความคิดเกี่ยวกับงานของตนเองที่กำลังเขียนเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลา

ธงชัยอธิบายว่า “คนเดือนตุลา” มีความหมายสองอย่าง ความหมายแรกหมายถึงบรรดากลุ่มคนที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง มากหรือน้อย ตรงและอ้อมในเหตุการณ์เดือนตุลาสองครั้ง (14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519) ความหมายที่สองหมายถึงชุมชนจินตกรรม ที่ถูกสร้างขึ้นโดยวาทกรรมหรือความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาสองครั้ง ชุมชนนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีหลังเหตุการณ์ผ่านไป คือเมื่อรำลึก 20 ปี 6 ตุลา คำว่า “คนเดือนตุลา” อ.เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) กล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกๆ ในที่นั้น

อ.กนกรัตน์ ได้ศึกษาโดยเน้นด้านแรก แต่ตนศึกษาอย่างที่สอง ทำให้มีข้อเห็นต่างกันหลายจุด คนเดือนตุลาในความหมายแรกนั้นมีอยู่จริง แต่เขามาสร้างความทรงจำร่วมเกี่ยวกับ 6 ตุลา มาเกิดความสำนึกว่าเรามีความร่วมกัน ณ 20 ปี หลังจากนั้น และมีส่วนสร้างสิ่งที่เรียกว่า “คนเดือนตุลา” ขึ้นมา ณ เวลาซึ่งต่างจากเวลาของเหตุการณ์ทั้งสองครั้งนั้น โดยสร้างขึ้นจากวาทกรรมและความทรงจำ ขึ้นกับว่าเขาจำเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาอย่างไร

ความหมายสองอันนี้เหลื่อมกันอยู่ แยกกันไม่ออก แต่ก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน โดยเวลาเราพูดถึง “คนเดือนตุลา” เรามักพูดในความหมายที่หนึ่ง ไม่ได้คิดถึงความหมายที่สอง

ธงชัยกล่าวว่าแนวการศึกษาแบบหลังนี้มาจาก E.P. Thompson ในการอธิบายชนชั้นกรรมาชีพในอังกฤษ คำถามว่าชนชั้นกรรมาชีพเกิดขึ้นเมื่อไร Thompson บอกว่าชนชั้นกรรมมาชีพเกิดขึ้นเมื่อมีความรู้ตัว (aware) ว่าพวกเรานี่แหละชนชั้นกรรมาชีพ ในทำนองเดียวกันคนเดือนตุลา เกิดขึ้นเมื่อพวกเขา construct วาทกรรมที่มาจากความทรงจำจากเหตุการณ์เดือนตุลา ว่าพวกเขาเป็นคนเดือนตุลา

ธงชัยกล่าวว่าตนสนใจความทรงจำเกี่ยวกับเดือนตุลาทั้งสองครั้งนั้นมีบทบาทในการก่อรูปอัตลักษณ์ของความเป็นคนเดือนตุลาขึ้นมาอย่างไร และสนใจว่าอัตลักษณ์ที่ก่อรูปจากความทรงจำเหล่านั้น ไปมีผลต่อปฏิบัติการทางการเมืองอย่างไร ซึ่งตนเรียกว่า Praxis of Memory คือการมีปฏิบัติการบนฐานที่เขาเชื่อว่าเหตุการณ์เดือนตุลาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเชื่อว่าเขามีบทบาทต่อเหตุการณ์เดือนตุลาอย่างนั้นอย่างนี้ หรือเชื่อว่าคนเดือนตุลาเป็นอย่างนั้น ซึ่งเอาเข้าจริงความเชื่อเหล่านั้นไม่ตรงกันเลย เพราะมันวางอยู่บนฐานความทรงจำที่แตกต่างกัน แต่ต่างคนต่างปฏิบัติการ ต่าง act out ออกไปต่างๆ นานา

ความทรงจำไม่ได้เป็นความจริง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าความทรงจำโกหก โดยเมื่อเวลาผ่านไป เรามีอคติ มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แถมอยู่ในบริบทที่จะพูดอะไรได้แค่ไหน พูดอะไรไม่ได้บ้าง บริบทของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวหรือไม่มี มีธุรกิจหรือไม่มี ที่สำคัญคือทัศนคติหรืออุดมการณ์ ณ ปีที่ก่อให้เกิดวาทกรรมความเป็นคนเดือนตุลา ที่มีผลต่อการกลับไปมองเหตุการณ์เดือนตุลา จึงไม่ได้บอกว่าเขาจำถูกหรือจำผิด แต่ประเด็นคือเขาจำอย่างไร แล้วมันมีผลต่อปฏิบัติการทางการเมืองของเขา

ธงชัยยกตัวอย่างเรื่องความทรงจำร่วม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับความจริง ในเรื่องที่เคยสอบถามคนจีนอพยพรุ่นเก่า 3-4 ราย ซึ่งล้วนเล่าเรื่องเสื้อผืนหมอนใบเหมือนกัน แทบทุกรายเล่าถึงการถูกโกงเหมือนกัน และสามารถฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ เรื่องคล้ายกับเค้าโครงของเจ้าสัวทั้งหลายที่อยู่บนแผงหนังสือ ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ แต่ประเด็นคือถ้าหากความทรงจำส่วนบุคคลกลายเป็นว่าเขามาอย่างกับราชา มีคฤหาสน์ในเมืองไทย เขาจะเล่าไหม หรือถ้าหากการถูกโกงนั้นเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่สำคัญ แต่เขาก็จะไฮไลต์ที่การถูกโกงอยู่ดี

“มนุษย์เราถ้าหากความทรงจำส่วนบุคคล มันแตกต่างจากความทรงจำร่วมที่รู้กันดีมากเกินไป มันอยู่อย่างอึดอัดนะ เพราะชีวิตเราจะไม่ค่อยมีความหมาย ความทรงจำของเราจะพอมีความหมายเมื่อมันสามารถเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะร่วมๆ กันได้” ธงชัยกล่าว

ธงชัยเห็นว่าความทรงจำร่วมมีลักษณะเป็น collective generalization ในการทำให้มันคล้ายๆ กัน ประมวลความทรงจำหลายๆ คนขึ้นมา แต่สุดท้ายอาจไม่สอดคล้องกับความทรงจำของปัจเจกบุคคลสักคนเดียวเลยก็ได้ เราไม่สามารถทึกทักได้ว่าความทรงจำปัจเจกบุคคลจะดำรงอยู่ในสมองของคนๆ หนึ่งเสมอไป คนเราต้องการมีชีวิตรอด ต้องมีชีวิตเดินไปข้างหน้า ปรับตัวเองให้เข้ากับความทรงจำที่พอจะเข้าใจกันได้อยู่

ถ้าหากเขาจำเรื่อง 14 ตุลา-6 ตุลา ไม่เหมือนเป๊ะ มีโอกาสเป็นไปได้มากที่เขาจะ adjust ปรับให้เข้ากับเรื่องที่คนพอจะรับรู้ได้ นานวันเข้าจึงไม่ใช่เป็นแค่การปรับความทรงจำเพื่ออธิบายแก่รุ่นลูกหลาน แต่เป็นการปรับความทรงจำเพื่อจะอธิบายถึงการดำรงอยู่ของตัวเองในปัจจุบัน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจตนาปิดบังความเลวร้ายของตนเอง แต่เพื่อให้ชีวิตการดำรงอยู่มันมีความหมายในสังคมที่เขาสังกัดอยู่ต่างหาก

20 ปีกว่าหลังเหตุการณ์เดือนตุลาเป็นยุคหลัง รสช. ยุคหลังพฤษภา 35 ยุคปฏิรูปการเมือง เรื่อยไปจนถึงยุคทักษิณ บรรยากาศความคิดทางการเมืองของคนเหล่านี้ เป็นบริบทใหญ่ของชีวิต แม้มีได้หลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ คือมันไม่เหมือนกับเมื่อปี 16-19 แล้ว

ธงชัยกล่าวต่อตนไม่ได้เห็นว่ากิจกรรมทางการเมืองที่เขาทำทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับความทรงจำ แต่ในความหมายว่าถ้ามันจะมีอิทธิพล ก็เป็นอิทธิพลของความทรงจำ ไม่ใช่อิทธิพลของสิ่งที่เขามีบทบาทจริงเมื่อ 20-30 ปีก่อน เช่น ตัวอย่างของ อ.ประจักษ์ กลุ่มที่มอง 14 ตุลาว่าเป็นการต่อสู้กับเผด็จการทหาร โดยประชาชนกับกษัตริย์ร่วมมือกัน เป็นราชประชาสมาศัย เรื่องอื่นก็หายหมดแล้ว

ธงชัยย้อนเล่าถึงตอนรำลึก 20 ปี 6 ตุลา มีการทะเลาะเบาะแว้งกันเยอะ เพราะต่างคนต่างเคลมว่า 6 ตุลาคืออะไร ควรจะเสนอภาพ 6 ตุลาเท่านั้นเท่านี้ โดยตนเห็นว่างานของ อ.กนกรัตน์ มีลักษณะเป็นการ stereotype 6 ตุลา คือไม่ให้มีมิติของพวก radical อยู่ ราวกับพวกนี้ไม่เคยมีอยู่เลย

ขณะเดียวกันข้อเสนอว่าขบวนการ 14 ตุลา-6 ตุลา เป็นขบวนการ radical แล้วปัญญาชนจากขบวนการนี้หันกลับไปคืนดีกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตีความได้ว่าโดยปกติไม่ได้คืนดีกับสถาบันกษัตริย์ และสิ่งที่เพี้ยนไปคือหันกลับไปคืนดีกับสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นไปได้ไหมว่าขบวนการ 14 ตุลาไม่เคยแตกหักกับสถาบันกษัตริย์ หรือไม่ก็มีกระแสเหล่านั้นเป็นกระแสสำคัญอยู่ตลอดเวลา มิใช่มีแต่กระแสสังคมนิยม แต่มีหลายกระแสที่มีน้ำหนักมากมาย รวมถึงกระแสความคิดที่ถูกกดทับไว้ด้วยกระแสของพวก radical

ความคิดเขาไม่ได้เปลี่ยนขนาดนั้น แต่เมื่อเขาอยู่ในกลุ่มที่เป็น radical เขาก็ไม่ได้โกหก ก็เจรจาอีกภาษาหนึ่ง ทั้งที่มีความขัดแย้งอะไรอยู่มากมาย มันจึงมีเชื้อมูลของกษัตริย์นิยมอยู่ รอเพียงเวลาให้โผล่ขึ้นมา แล้วเอาเข้าจริงเวลาที่เขาเป็น radical มันสั้นนิดเดียว เมื่อป่าแตก ทะเลาะกับ พคท.มา เขาก็กลับไปหาเชื้อมูลที่เขามีอยู่เดิม

ถ้าหากเหตุการณ์ตุลาเป็นกระแสคู่ขนานระหว่าง popular democracy กับ royalist democracy แล้ว จะเป็นได้ขนาดไหนกัน ที่ปัญญาชนจะหลุดพ้น ปลอดจากเชื้อมูลเหล่านี้ กลายเป็น radical กันสุดๆ แต่ละคนมันมีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ในตัวมากน้อยก็แล้วแต่ รอวันที่จะผุด วันที่จะกลับมาใหม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละคน ขึ้นกับความทรงจำแต่ละคนต่อเหตุการณ์นั้น แล้วมีความเป็นไปได้มาก เมื่อ act out แล้ว คุณถอนตัวไม่ค่อยได้

ตัวอย่างง่ายๆ คือมีสักกี่คนจะเป็นได้อย่างอ.สุธาชัย (ยิ้มประเสริฐ) ที่ขึ้นเวทีสีเหลืองแล้วกลับมาตรงข้ามได้ ไม่ใช่แกโกหกหรือกลับตาลปัตร แต่นั่นคือการต้องสะสางตัวเอง คนส่วนใหญ่ไม่ยอมสะสางตัวเองเมื่อ act out แล้วต้องไปต่อไป เพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเอง ไม่งั้นชีวิตมันอยู่ลำบาก เนื่องมาจากฐานความคิดความเชื่อของเขาไม่ใช่ radical แต่ไม่ได้บอกว่า พคท.ไม่มีอิทธิพล แต่อย่าประเมินอิทธิพล พคท.ในสมอง ในความทรงจำคนมากจนเกินไป

ธงชัยยกตัวอย่างว่าคนที่เกลียดฝรั่ง เห็นว่าฝรั่งมาทำลายความเป็นไทย ต้องการยืนยันว่าสังคมไทยมันเคยดีงาม แต่มาเสื่อมถอยเพราะฝรั่ง ก็อยู่ในขบวนการเดือนตุลา และแสดงออกพูดจาอย่างเป็นฝ่ายซ้าย ไม่ใช่เขาโกหกคนอื่น แต่นั่นคือวิธีที่เขาจะประมวลเป็นคำพูดออกมา ตามชุดคำพูดหรือชุดคำอธิบายที่มีให้ในเวลานั้น ซึ่งอาจไม่ตรงกับความคิดเขาเป๊ะ แต่มันสามารถใช้ได้ในการอธิบายความไม่พอใจของเขาที่มีต่อสังคมขณะนั้น จนกระทั่ง พคท.ล่มไป เหตุการณ์ผ่านไป เขาก็พบว่าความไม่พอใจนี้สามารถมีชุดอื่นในการอธิบาย เช่น ความเป็นไทย ทุนนิยมสามานย์ แต่เนื้อหาสาระหรือใจความความคิดเขา ไม่ได้เปลี่ยน

ธงชัยสรุปว่าความคิดของคนรุ่นนั้น แม้จะใส่เสื้อคลุม radical แต่มีองค์ประกอบมากมายหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วรอวันที่จะผุดโผล่แตกหน่อต่อยอดขึ้นมา เป็นความคิดอนุรักษ์นิยมหรือกษัตริย์นิยม ซึ่งโผล่ขึ้นมาในอีกชุดภาษาหนึ่ง มันซึมซับอยู่ในตัว ขัดแย้งกันบ้าง ในเงื่อนไขชีวิตของเขาในเวลา 30-40 ปีต่อมา เขาก็ act out ตามสิ่งที่เขาคิดในเงื่อนไขนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles