คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แถลงเรื่อง ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับ จากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz จี้เร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพคือ 300,000 เลขหมายต่อวัน
13 ก.ค. 56 - ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับ จากการหมดอายุ สัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz” และออกแถลงการณ์ระบุว่า
เนื่องจากวันที่ 15 กันยายน 2556 จะเป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งให้บริการโดยบริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งหมายความว่าหลังจากวันดังกล่าว ใครจะมาแตะต้องคลื่นนี้ไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายทันที ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ ซิมดับได้ อย่างไรก็ตามเราขอยืนยันว่า ในฐานะคณะทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เราไม่ต้องการให้เกิดเกตุการณ์ซิมดับ ซึ่งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้บริการ และเห็นว่าคลื่นต้องเข้าสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่คณะคณะกรมกาองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นสำคัญดังนี้คือ
การที่ กสทช. ออก มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... เป็นการยืดอายุการให้บริการซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการ และเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการดำเนินการล่าช้า จนถึงการไม่ดำเนินการเพื่อให้เกิดการประมูลคลื่นได้ทันก่อนการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ กสทช. โดยใช้ผู้บริโภคจำนวนกว่า 17 ล้านเลขหมายเป็นตัวประกัน จากปัญหาซิมดับ
เนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เป็นเหตุการณ์ที่ทราบล่วงหน้า และมีการเสนอความเห็นให้ข้อมูลเตือน กสทช. ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้จากหลายฝ่าย รวมถึงคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ที่ได้มีการเชิญผู้ให้บริการททั้ง 2 ราย เพื่อหารือปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2555 เพื่อให้เกิดการเตรียมการในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตัวแทนจากทั้งสองบริษัทระบุว่า ยังไม่ได้รับความชัดเจนจาก กสทช. ว่าจะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานหรือไม่ ต่อมา แม้ว่า กสทช. จะได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า 1800 และคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้กับ กสทช. ตั้งแต่เดือนมกราคมหรือเป็นเวลา 9 เดือนก่อนเหตุการณ์สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ที่เสนอให้มีการจัดประมูลคลื่นให้เร็วที่สุด รวมถึงการเสนอแผนในการเยียวยาผู้ใช้บริการ เช่น การโอนย้ายผู้ใช้บริการเพื่อป้องกันปัญหาซิมดับ ฯลฯ และที่สำคัญคือ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. เห็นว่า การพิจารณาขยายระยะเวลาในการใช้งานคลื่นความถี่ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกฎหมายของไทยระบุไว้ชัดเจนว่าการจะนำคลื่นไปใช้นั้นจะต้องด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรดำเนินการประมูลคลื่นความถี่อย่างเร่งด่วน แต่เสียงเหล่านั้นก็ไม่ถูกนำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งที่การประมูลคลื่นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ล่วงหน้าก่อนเกิดเหตุการณ์สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
ดังนั้น การที่ กสทช. ออก มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรทัศน์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... จึงเป็นการสะท้อนการทำงานที่ล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ของ กสทช. ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ควรจะเป็นเพื่อการแก้ไขปัญหากรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนี้ที่การประมูลคลื่นไม่สามารถดำเนินการได้ทันเหตุการณ์สิ้นสุดสัญญาแน่นอนแล้วนั้น คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน จึงมีข้อเสนอต่อสถานการณ์ปัจจุบันนี้คือ
1. คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพคือ 300,000 เลขหมายต่อวัน
2. กสทช. ต้องให้มีการเพิ่มประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญากาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ให้มากกว่าที่กำหนด
3. กสทช. ต้องเร่งตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นโดยเร่งด่วน
4. บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) จะต้องคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ให้บริการ และในกรณีที่บริษัทจะตัดสัญญาณผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพดบริษัทจะต้องแจ้งผ่านข้อความสั้นให้ทราบล่วงหน้าก่อน 3 วัน พร้อมทั้งระบุจำนวนเงินคงค้างในระบบให้ผู้บริโภครับทราบและเพื่อให้ขอคืนเงินได้ด้วยอย่างชัดเจน
5. ขอให้ซุปเปอร์บอร์ดดำเนินการตรวสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งที่เป็นภาระหน้าที่ที่ทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็น กสทช.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai