มธ.เผยผลวิจัยการปฏิรูปกฎหมายสวัสดิการสังคม ชี้ไทยมีกฎหมายสวัสดิการสังคม ถึง 70 ฉบับ เสนอทบทวน กฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมฯ ชี้มีช่องว่างการปฏิบัติ ยกเลิกกฎหมายจัดหางานให้คนไร้อาชีพ
13 มิ.ย.56 – คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 12/2556 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยได้เชิญ รศ.ศักดิ์ชัย เลิศพานิชพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายสวัสดิการสังคมต่อคณะกรรมการฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า คปก.วางแผนดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ คปก.ชุดปัจจุบันยังมีวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออีก 2 ปี คือ 1.การสร้างแนวคิดสวัสดิการสังคมที่ชัดเจน 2.พัฒนากฎหมายกลางว่าด้วยสวัสดิการสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยเน้นการรณรงค์ทางสังคม
รศ.ศักดิ์ชัย กล่าวนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง การปฏิรูปกฎหมายสวัสดิการสังคมว่า กฎหมายสวัสดิการสังคมของประเทศไทยมีความกว้างขวางและหลากหลายจำนวนประมาณ 70 ฉบับ ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมกฎหมายเก่า มีข้อสังเกต 3 ประการคือ 1.กฎหมายมีผลบังคับใช้อยู่แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ใช้ และสมควรยกเลิก เช่น พ.ร.บ.จัดหางานให้คนไร้อาชีพ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.อบรมและฝึกอาชีพบุคคลบางประเภท พ.ศ.2518 2.กฎหมายบางฉบับควรนำมาพิจารณาศึกษาใหม่ โดยปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย ได้แก่ พ.ร.บ.สงเคราะห์บุคคลผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษ ผู้พ้นโทษ และเด็กผู้พ้นการฝึกอบรม พ.ศ.2497
และ3.กฎหมายที่ควรทบทวน แก้ไขปรับปรุงหรือบัญญัติใหม่ ที่สำคัญ อย่างกรณีกลุ่มกฎหมายหลัก เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมฯ เป็นกฎหมายแม่บทในการจัดสรรสวัสดิการสังคมทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน แต่ในทางปฏิบัติยังมีช่องว่าง ข้อจำกัด เนื่องจากเป็นกฎหมายกลางที่ครอบคลุมกว้างขวางในหลายเรื่อง โดยไม่มีมาตรการเฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลักษณะของกฎหมายเป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการในภาพกว้าง เน้นหนักไปที่การส่งเสริมการดำเนินการของภาคเอกชน องค์กรสาธารณะประโยชน์
รศ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ปัญหาคือ 1. ด้านตัวบทกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่ควรพิจารณายกเลิกหรือนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กฎหมายสวัสดิการสังคมฉบับเก่า 3 ฉบับที่ยังมีผลบังคับใช้ ทั้งพ.ร.บ.จัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พ.ศ.2479 พ.ร.บ.จัดหางานให้คนไร้อาชีพ พ.ศ.2484 และพ.ร.บ.อบรมและฝึกอาชีพบุคคลบางประเภท พ.ศ.2518 ประการที่ 2 การแก้ไข ปรับปรุงบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกฎหมายสวัสดิการสังคม ควรพิจารณาแยกเป็นประเด็นกลุ่มเป้าหมาย สิทธิประโยชน์ ความเป็นธรรม รวมถึงกลไกการบริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ และทรัพยากรสาธารณะหรือแหล่งงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในประเด็นกลุ่มเป้าหมาย ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายต่างๆให้ความชัดเจน โดยมีกฎหมายพิทักษ์และคุ้มครองเป็นการเฉพาะแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่ม บนแนวคิดจัดสวัสดิการพื้นฐานแก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง
“ด้านสิทธิประโยชน์และความเป็นธรรม ควรลดวงเงินค่าลดหย่อนสำหรับคนรวย กรณีลงทุนใน LTF, RMF อีกทั้งควรกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมโดยยึดหลักสังคมส่วนรวมเป็นตัวตั้ง และควรจัดระบบกองทุนสวัสดิการต่างๆไม่ให้มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อน” รศ.ศักดิ์ชัย กล่าว
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการบูรณาการความรู้ไปสู่สังคมสวัสดิการยังไม่มีความเป็นเอกภาพเท่าใดนัก เรามีความเห็นร่วมกันหรือไม่ว่า สวัสดิการสังคมควรมีอะไรบ้าง จัดเพื่อใครและใครเป็นคนจัดการ และจะใช้งบประมาณจากแหล่งใด หากพิจารณาประเด็นทางกฎหมายพบว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีชุดความคิดที่ลงตัวแล้ว เนื่องจากรัฐบาลได้มอบหมายให้ พม.ขับเคลื่อนสังคมสวัสดิการ ขณะเดียวกันในข้อเท็จจริงพบว่า ยังขาดมิติการมีส่วนร่วมทางสังคมในการจัดสวัสดิการ ประเด็นนี้ยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ จึงควรพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ยังเสนอแนะ คปก.ให้ทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาสวัสดิการสังคมทั้งระบบนอกเหนือจากการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ระบบฐานข้อมูลด้านสวัสดิการสังคมค่อนข้างล้มเหลว ยังไม่ได้มีการออกแบบเป็นพลวัตร และยังเป็นฐานข้อมูลที่ล่าสมัย ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการในเชิงนโยบาย ดังนั้น จึงควรเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวคู่ขนานกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ขณะเดียวกันบทบาทของ คปก.ในระดับท้องถิ่นนอกจากการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายแล้วควรจะจัดทำข้อมูลพื้นฐานในท้องถิ่นด้วยเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai