Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

โต๊ะสันติภาพไทย-BRN เห็นร่วมลดเหตุรุนแรงเดือนรอมฏอน

$
0
0

เลขา สมช.เผยผลการพูดคุยสันติภาพไทย-BRN ราบรื่น ทั้ง 2ฝ่ายเห็นร่วมลดเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฏอน ให้แต่ละฝ่ายเสนอมาตรการที่ชัดเจน ยัน ‘ปกครองพิเศษ’ เป็นเรื่องปลายทาง ยังไม่ถึงเวลาคุย

 
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.56 เวลา 21.30 น. (ตามเวลาในประเทศมาเลเซีย) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (INTERCONTINENTAL) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นว่า บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปอย่างดีมาก ราบรื่น ได้รับความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหา
 
พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ประเด็นหลักๆ ที่มีการพูดคุยคือ เรื่องที่ทางบีอาร์เอ็นมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ จึงได้ชี้แจงไปถึงการดำเนินการสืบสภาพข้อเท็จจริง แสวงหาคำตอบของ 5 ข้อนั้น และปัญหาที่ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะความชัดเจนของข้อเรียกร้องที่เป็นภาษาต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ซึ่งทางขบวนการรับข้อนี้ไป เพื่อที่จะส่งรายละเอียดชี้แจงแถลงไขของเนื้อหา 5 ข้อ ให้มีความชัดเจนก่อนเดือนรอมฎอน มาให้คณะฝ่ายไทยเพื่อที่จะทำความเข้าใจ และแสวงหาคำตอบร่วมกันต่อไป
 
พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ประเด็นที่สอง คือเรื่องลดเหตุความรุนแรง ได้เห็นพ้องต้องกันว่า ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดนของชาวมุสลิมจะลดเหตุความรุนแรง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะกลับไปเตรียมมาตรการเพื่อมาเสนอร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรในช่วงเดือนรอมฎอน
 
“ขั้นตอนคือ จะให้ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ดำเนินการไปให้ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เพื่อให้ได้คำตอบมาในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง แต่จะรีบดำเนินการ เพราะอย่างน้อยควรจะมีคำตอบในชั้นต้นซึ่งกันและกัน” พล.ท.ภราดร กล่าว
 
พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า สำหรับเดือนรอมฎอนเป็นเดือนสำคัญ เป็นเดือนแห่งความประเสริฐ จึงเป็นคำตอบร่วมกันว่าในเดือนนี้ จะเป็นรูปธรรมในการลดเหตุความรุนแรง และได้มีการนัดพูดคุยอีกครั้งหลังเดือนรอมฎอน แต่ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน โดยฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน
 
“การพูดคุยในครั้งนี้เมื่อเทียบกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา ถือว่ามีความคืบหน้าสูง มีตัวชี้วัดว่าจะลดความรุนแรงก็คือเดือนรอมฎอน โดยให้ทั้งสองฝ่ายเสนอมาตรการมาว่า ฝ่ายเราจะลดการปฏิบัติการอย่างไร ฝ่ายขบวนการจะลดการปฏิบัติการอย่างไร แต่แน่นอนว่ามาตรการในการรักษาความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนก็คงต้องมีอยู่ ซึ่งมาตรการฝ่ายเราท่านแม่ทัพภาค 4 มีแผนเตรียมเอาไว้แล้ว” พล.ท.ภราดร กล่าว
 
พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของเดือนรอมฎอนก็คือจะต้องไม่มีเหตุ แต่ถ้ามีเหตุเกิดขึ้น ก็จะต้องไปลงลึกว่า มูลเหตุจากเรื่องใด เพราะมีการสื่อสารร่วมกันแล้วว่าจะลดเหตุรุนแรง ส่วนมาตรการฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้น ในช่วงเดือนรอมฎอนก็คงจะต้องเพลาลงหรือหยุดลงไป แต่มาตรการในการรักษาความปลอดภัยพี่น้องประชาชน สถานที่ต่างๆก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้หยุดไปทุกอย่าง
 
หลังจากการแถลงข่าว พล.ท.ภราดร ได้นำแถลงการณ์ร่วมหลังการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น มาเปิดให้บรรดาสื่อมวลชนดู โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
การประชุมหารือเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คณะผู้เข้าร่วมฝ่ายไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประเทศไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น นำโดยอุสตาซฮาซัน ตอยิบ หัวหน้าสำนักงานประสานงานต่างประเทศของกลุ่มบีอาร์เอ็นในมาเลเซีย โดยมีดาโต๊ะ ซรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการหารือ ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย
 
ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในหลักการเพื่อลดเหตุการณ์ความรุนแรงตลอดเดือนรอมฏอนอันประเสริฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ทั้งนี้ สอดคล้องกับคุณค่าอันประเสริฐของเดือนรอมฏอน และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ ความตั้งใจ และความเชื่อถือของทั้งสองฝ่าย ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ให้ปลอดจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตลอดเดือนรอมฏอน ทั้งสองฝ่ายจะได้นำเสนอรูปแบบและวิธีการในเวลาอันใกล้นี้
 
ฝ่ายบีอาร์เอ็นจะส่งคำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอ 5 ข้อ ตามที่ได้มอบให้ฝ่ายไทยแล้ว หลังจากที่ได้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากฝ่ายบีอาร์เอ็นแล้ว ฝ่ายไทยรับที่จะตัดเตรียมข้อมูลป้อนกลับเสนอไปยังฝ่ายบีอาร์เอ็น ผ่านผู้อำนวยความสะดวกในโอกาสแรกต่อไป
 
การประชุมหารือเพื่อสันติภาพครั้งที่ 4 นี้ ได้ดำเนินการท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นมิตร และได้ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ทั้งสองฝ่ายได้แสดงถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ที่มีต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพื่อความก้าวหน้าในอนาคต
 
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้มีการพูดคุยครั้งต่อไปหลังจากเดือนรอมฎอน
 
 

ยันยังไม่ถึงเวลาคุย ‘ปกครองพิเศษ’

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้าวันเดียวกัน (13 มิ.ย.56) ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียว่า คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายไทยนำโดย พล.ท.ภราดร ได้ร่วมประชุมคณะฝ่ายไทยที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเน็นต้อล เพื่อเตรียมความพร้อมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับคณะผู้แทนฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 15 คน
 
โดยประชุมเสร็จในเวลาประมาณ 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 09.30 น.ตามเวลาไทย จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียนำคณะผู้แทนฝ่ายไทยออกเดินทางไปร่วมพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นทันที ซึ่งเป็นสถานที่ลับห้ามผู้สื่อข่าวติดตามไปด้วย
 
พล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการประมวลข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีสัญญาณบวกหลายอย่างระหว่างการเตรียมตัว คาดว่าจะได้ผลคืบหน้าบางอย่างที่เป็นรูปธรรมจากทั้งสองฝ่ายหลังการพูดคุยเพื่อสันติภาพในวันนี้
 
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ในการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น ฝ่ายไทยต้องการที่จะให้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในเรื่องของการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ โดยจะนำผลการสำรวจความเห็นและการจัดเวทีต่างๆในพื้นที่มายืนยัน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่
 
ส่วนข้อเสนอที่ให้ลดการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เป็นข้อเสนอแนะจากพื้นที่ ซึ่งจะนำเสนอในการพูดคุยครั้งนี้ด้วย
 
ส่วนข้อเสนอ 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็นนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า คาดว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาคุยด้วย ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องถามให้ชัดเจนว่า แต่ละข้อมีความหมายว่าอย่างไร
 
ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า การปกครองพิเศษเป็นเรื่องปลายทาง ยังไม่น่าจะถึงเวลาที่จะคุยเรื่องนี้ ประเด็นหลักๆ วันนี้ จะเป็นเรื่องของการลดเหตุรุนแรง
 
พล.ท.ภราดร ยังได้ตอบคำถามในประเด็นที่จะพูดคุยเรื่องการตั้งกลไกการตรวจสอบเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยหรือไม่ ว่า ประเด็นหลักๆ ของการพูดคุยในวันนี้ คือต้องให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรื่องของการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่
 
ส่วนผลสำรวจของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ออกมาว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้แก้ปัญหายาเสพติดสูงมากด้วยนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ก็จะต้องนำไปพูดคุยด้วย เนื่องจากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่
 
ส่วนผู้ที่จะร่วมคณะพูดคุยในครั้งนี้ พล.ท.ภารดร กล่าวว่า ยังอยู่ในกระอบเดิมคือ ไม่เกินฝ่ายละ 15 คน
 
ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ มีทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
 
พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (รอง ผอ.ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
 
ดร.มะรอนิง สาลามิง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles